วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โรคลมพิษ / โดย ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์

On September 4, 2017

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน :  ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์

โรคลมพิษเป็นโรคที่มีผื่นผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5-10 ซม. เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน ขา มีอาการคัน ผื่นแต่ละที่มักอยู่ไม่นาน โดยมากไม่เกิน 24 ชม. ผื่นนั้นก็ราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่อาจจะมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นๆได้อีก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการริมฝีปากบวม ตาบวม

โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆดังนี้

โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) คืออาการผื่นลมพิษที่เป็นไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนมากมักเป็นปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด บางรายเกิดจากยา อาหาร แมลงกัดต่อย เมื่อแก้ปัญหาที่สาเหตุแล้วอาการก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายก็หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้

ผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการแสดงที่อวัยวะอื่น เช่น ปวดท้อง แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการหอบหืดจนอันตรายถึงชีวิตได้ โดยปรกติแล้วลมพิษชนิดเฉียบพลันมักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันผื่นจะขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็นลมพิษเรื้อรัง

โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยมีอาการผื่นลมพิษเป็นๆหายๆอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งมีทั้งชนิดที่ทราบสาเหตุกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ ยา ระบบฮอร์โมน หรือเกิดจากปัจจัยทางกายภาพ และชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เกิดจากความแปรปรวนภายในร่างกาย

โรคลมพิษเรื้อรังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มประชากรวัยทำงาน อายุประมาณ 20-40 ปี อาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มวัยทำงานมักมีความเครียดสะสมและละเลยต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของตัวเอง จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคลมพิษเรื้อรังนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งด้านบุคลิกภาพการทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตประจำวัน การนอนหลับ และยังก่อให้เกิดความเครียดอีกด้วย โดยเฉพาะรายที่ไม่ทราบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่ชัดเจนอาจมีภาวะความเครียดที่สูงขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่สามารถทราบว่าจะมีอาการเกิดขึ้นเมื่อไร และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นได้

ผู้ป่วยผื่นลมพิษสามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการได้ดังนี้

1.งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

2.พกยาต้านฮิสตามีนติดตัวไว้เสมอ เพื่อนำมาใช้ได้ทันทีหากมีอาการ

3.พยายามทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด

4.ไม่แกะเกาผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังอักเสบ

5.รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากทำให้เกิดอาการง่วงซึม ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการขับขี่ยานพาหนะ ควรแจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาต่อไปตามความเหมาะสม

6.อาจใช้ยาทา เช่น คาลาไมน์ ทาบริเวณผื่นลมพิษ เพื่อช่วยลดความรู้สึกคัน แต่ยานี้ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย


You must be logged in to post a comment Login