- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
‘ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง’ สัมภาษณ์- บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข
คอลัมน์ : ฟังจากปาก
สัมภาษณ์โดย : ประชาธิปไตย เจริญสุข
“บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์” เลขาธิการ ครป. ชี้มีการพยายามใช้อำนาจรัฐ อำนาจกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐและกลุ่มทุนแสวงหาผลประโยชน์ เท่ากับลดทอนสิทธิของชุมชน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แม้แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ถูกลดทอนภายใต้การรัฐประหารและการออกคำสั่ง คสช.
ถาม : สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้เป็นอย่างไร
ตอบ : ความจริงสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้เชื่อมโยงต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลในอดีต โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่ารัฐบาลแบบไหนเข้ามาก็ไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตลาดและการลงทุน รวมทั้งมิติของสังคม ตั้งแต่คุณทักษิณ ชินวัตร เข้ามาปี 2544 ก็มีขึ้นมีลงตามกระแส ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐเรื่องการลงทุน ความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ ตลอดจนปัจจัยภายในหลายเรื่อง รวมถึงด้านสังคมและการเมืองที่โยงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน
โดยเฉพาะปี 2547 ที่เกิดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เจาะไอร้อง นราธิวาส จนปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตถึง 8,000 กว่าคนแล้ว และไม่มีแนวโน้มจะลดลง แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญอะไร เพราะไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็จับต้นชนปลายไม่ถูก ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ก็มีข้อเสนอแนะ แต่ไม่มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ รวมถึงการเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายครั้งก็ไม่มีความคืบหน้า รัฐเองก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ความจริงมันกระทบคนเป็นหมื่น เพราะผู้เสียชีวิตคนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 3-4 คน
ในมิติด้านการเมืองเรื่องความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 จนเกิดการรัฐประหารปี 2549 สลับกับการเลือกตั้งปลายปี 2550 มีรัฐบาลใหม่ปี 2551 ความขัดแย้งก็ไม่ได้ลดลง จนรัฐประหารปี 2557 ความขัดแย้งลดลง แต่ยังมีความรุนแรงอย่างเรื่องระเบิด คนจำนวนมากมองเรื่องความสงบเรียบร้อยมากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกลดทอนภายใต้การรัฐประหารและการออกคำสั่ง คสช. ซึ่งสิทธิเสรีภาพทางการเมืองถูกลดทอนและถูกล่วงละเมิด ขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญเองก็ขัดแย้ง
การออกคำสั่งต่างๆของ คสช. ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับของประชาชนต่อรัฐไทย โดยเฉพาะช่วงต้นการรัฐประหาร อาจเพราะต้องการความสงบทางการเมือง แต่ภายใต้ความเงียบสงบก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความขัดแย้ง การใช้คำสั่งหรือกฎหมายพิเศษล้วนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตามก็ใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงออกเรื่องสิทธิเสรีภาพช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา
สรุปสถานการณ์บ้านเมืองยุค คสช. มีทั้งบวกและลบ บวกคือประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกสบายใจ ความรุนแรงลดลง ความขัดแย้งบนท้องถนนลดลง แต่ความรุนแรงในมิติที่แฝงเร้นก็ค่อยๆปะทุขึ้นมา ขณะที่มิติทางเศรษฐกิจยังเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลปัจจุบัน เพราะเรื่องนี้ผูกพันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าประชาชนไม่ต่ำกว่า 60-70% รู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่ลง ข้าวยากหมากแพง ประชาชนตั้งคำถามว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมากพอสมควร แต่ทำไมราคาน้ำมันในประเทศยังสูงอยู่ สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการลงทุน อย่างเรื่องพลังงานเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจต่างๆ บริษัท ปตท. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สังคมตั้งข้อสังเกตเอาไว้มากถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันเป็นโจทย์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาว่าใครได้ประโยชน์ ถ้าประชาชนได้ประโยชน์จริง ราคาน้ำมันควรลดลง ด้านเหมืองแร่ก็มีปัญหามากมายในหลายพื้นที่ เลย สกลนคร หนองบัวลำภู พิจิตร หรือเหมืองทองที่อุดรธานี เกิดผลกระทบกับชุมชนและมีความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับชุมชน
ข้าราชการซึ่งควรเป็นกลางก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เนื่องจากหลายพื้นที่ใช้กฎเกณฑ์ภาครัฐเข้ามาจัดการ ทำให้เกิดข้อพิพาทกับชุมชน ชุมชนตกเป็นเหยื่อการฟ้องร้องในคดีละเมิดต่างๆ ทั้งที่ผู้ละเมิดคือเจ้าของโครงการ เจ้าของบริษัทรับสัมปทาน แต่นโยบายรัฐไม่เอื้อให้การคุ้มครองและพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ถาม :สิทธิของชุมชนถูกลดทอนหรือไม่
ตอบ:นี่คือวิถีด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งชุมชนน่าจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของเขา รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาก็ให้สิทธิให้อำนาจชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชน แต่มีการพยายามใช้อำนาจรัฐ ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ. เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐและบริษัทที่รับสัมปทานเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น ขณะที่สิทธิของชุมชนถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ
นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี เป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่ารัฐเข้าข้างกลุ่มทุนมากกว่า แม้แต่โครงการประชารัฐก็เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับธุรกิจเอกชนหรือเปล่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดหรือมีบทบาทในการพิจารณาหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่สาธารณชนตั้งข้อสงสัย ซึ่งรัฐต้องชี้แจงให้ประชาชนรับทราบและหายสงสัย ไม่ใช่รอดูว่าโครงการประชารัฐตอบโจทย์สังคมจริงหรือไม่ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีจริงหรือไม่
ถาม : ควรแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯอย่างไร
ตอบ : ถ้ามองโจทย์แต่ละเรื่องที่กล่าวข้างต้น ยังมีเรื่องสุขภาพที่ขณะนี้ดูเหมือนว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังถูกคุกคาม ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกหวาดหวั่นกับความพยายามของหน่วยงานภาครัฐกับกลุ่มแพทย์ส่วนหนึ่งที่พยายามให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงคือ หลักประกันสุขภาพจะถูกทำลายไปหรือไม่ ทำให้ประชาชนเป็นผู้ป่วยอนาถาหรือเปล่า ทั้งที่เราข้ามพ้นจุดนั้นมาแล้ว เรามาถึงจุดที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิโดยถ้วนหน้าที่จะได้รับการบริการสุขภาพเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ถ้าถอยหลังกลับไปสู่ระบบอนาถา แยกปฏิบัติต่อคนยากจนก็จะเป็นปัญหา จะกลายเป็นมาตรฐานที่มีหลายมาตรฐาน และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพโดยเท่าเทียมกัน
อันนี้คือหลักการที่สำคัญ ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯแล้วไม่ดีขึ้นก็อย่าแก้เลย ข้อพิพาทที่ถกกันเมื่อเร็วๆนี้คือเรื่องการจัดซื้อยาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยท้วงติงว่า สปสช. ไม่มีอำนาจในการซื้อยาล็อตใหญ่ จริงๆมันมีที่มาที่ไป การซื้อยาล็อตใหญ่ซื้อในนามของผู้บริโภคหรือผู้ป่วย ผู้รับบริการ เพื่อที่จะได้มีอำนาจต่อรองที่มากกว่าในการเจรจาต่อรองราคายา ราคาเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้มีราคาที่ถูกลงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตอนนี้ก็มีความพยายามในการปรับแก้ให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปมีอำนาจในการจัดซื้อยา ล่าสุดมีข่าวว่าจะมอบให้โรงพยาบาลราชวิถีไปดำเนินการ
ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ โรงพยาบาลราชวิถีมีอำนาจตามกฎหมายหรือเปล่า ตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่ค้างคาและทำให้เกิดอำนาจต่อรองกับบริษัทยาได้จริงหรือไม่ ถ้าเราจำได้เมื่อ 15 ปีก่อนสมัยที่มีการทุจริตการซื้อยา 2,000 ล้านบาท เกี่ยวข้องกับอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขคนหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่าหน่วยงานราชการไม่โปร่งใสหลายเรื่องในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการรั่วไหลได้อย่างไร ปล่อยให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อเอง จริงๆหลายโรงพยาบาลมีอำนาจในการจัดซื้อเองอยู่แล้ว เพียงแต่ยาที่ซื้อจะต้องไม่ราคาสูง ยิ่งซื้อยาล็อตใหญ่ๆยิ่งต้องมีอำนาจต่อรอง
เหตุการณ์นี้ผ่านมา 10 ปีแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏชัดคือ สปสช. มีอำนาจในการต่อรอง สามารถทำได้ดีพอสมควร สามารถตอบโจทย์ให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากพอสมควร ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นๆตรงนี้โดยไม่มีกฎหมายรองรับจะเป็นปัญหาที่เข้ามาผูกบ่วงผูกคอประชาชน คนป่วยที่ต้องพึ่งยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง เบาหวาน จะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่าแสนคน ภาครัฐต้องให้ความใส่ใจและต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้เรื่องสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน
ถาม : ปฏิรูปการศึกษาไร้ความชัดเจนหรือไม่
ตอบ : ย้อนไป 10 ปีจะพบว่ามีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 10 คน การปฏิรูปการศึกษาจึงไปไม่ถึงไหน รัฐบาล คสช. เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงนี้ไปแล้ว 3-4 คน นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษาก็ยังขาดความชัดเจน เวียนไปเวียนมากลายเป็นนโยบายของรัฐมนตรีแต่ละคน ทำให้การศึกษาของเราไม่คืบหน้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่องค์กรระดับโลกอย่าง World Economic Forum ซึ่งเป็นที่ประชุมเศรษฐกิจระดับโลกที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ รายงานวิจัยชิ้นหนึ่งว่า การศึกษาของประเทศไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน ถือว่าน่าตกใจมาก เพราะพออันดับ 9 อันดับ 10 ก็ไม่มีแล้ว เพราะพม่าไม่สามารถประเมินได้ เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยอยู่อันดับ 8 จึงต้องกลับมาตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาของเรา ไม่ว่าระบบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาประเทศชาติมากน้อยแค่ไหน อย่างไร มีการวางแผนเรื่องกำลังคน การพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ของระบบธุรกิจอย่างไร มิฉะนั้นแล้วผลิตคนออกมาก็ว่างงาน ตกงาน เกิดปัญหาคาราคาซังต่อไป
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐยังมองไม่ทะลุ ล่าสุดได้ข่าวว่ามีการโยนกันไปโยนกันมาเรื่องการแบ่งแยกผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งไม่มีอะไรชัดเจนทั้งระบบการสนับสนุน การวางแผน การพัฒนาบุคลากรในระยะยาว กระบวนการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นปัญหา เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะตราบใดที่การศึกษาล้มเหลว หมายถึงอนาคตของประเทศเราจะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ไม่ว่าจะ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ถาม : ตอนนี้ห่วงเรื่องอะไรบ้าง
ตอบ : เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง ต้องไม่ใช่การวางแผนโดยคนเพียงกลุ่มเดียว สิ่งที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ให้ความสนใจคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพราะองค์กรใดหรือสถาบันใดก็แล้วแต่ ก่อนจะกำหนดวิสัยทัศน์ ถามว่าเรามีวิสัยทัศน์ร่วมกันของคนในชาติหรือยัง นอกจากนี้ยังต้องกำหนดพันธกิจของภาคส่วนต่างๆเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้นๆ กำหนดเป้าหมายอนาคตของสังคมร่วมกัน
ที่สำคัญคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอย่างเต็มที่ทุกขั้นตอน การมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่รับฟังความคิดเห็นแล้วจบ นั่นคือโจทย์ ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ
หากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าก็อยู่ไม่ได้ อาจจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจของการพัฒนาทั้งมวล กรอบใหญ่ของการพัฒนาต้องมาจากประสบการณ์การทำงานของ 3 องค์ประกอบใหญ่ๆคือ ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน หรือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และเรื่องทรัพยากรของสังคมโดยรวม ทั้ง 3 ส่วนต้องเคลื่อนไปด้วยกัน จะสนใจเพียงเรื่องหนึ่งเรื่องใดไม่ได้ ต้องขับเคลื่อนทั้งหมดไปด้วยกันจึงจะทำให้สังคมเคลื่อนไปได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
You must be logged in to post a comment Login