วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ล้าหลังยั่งยืน?

On September 7, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

อาจจะช้าไปหน่อยที่จะพูดถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะกำหนดชะตาชีวิตคนไทยไปอีก 20 ปี แต่ไม่ถือว่าสายเกินไป

เว็บไซต์ไอลอว์ https://ilaw.or.th/node/4621 นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไว้อย่างน่าสนใจว่า คณะกรรมการฯที่ถูกตั้งขึ้นมาชุดแรก 28 คน จากที่กฎหมายกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 34 คน ทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งล้วนเคยร่วมทำงานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในตำแหน่งอื่นๆมาแล้วทั้งสิ้น

ในจำนวนนี้มีรัฐมนตรีในรัฐบาล 6 คน ทหาร 6 คน ตำรวจ 1 คน ซึ่ง 6 ใน 7 คนนี้จะได้นั่งควบเก้าอี้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะได้โควตานั่งเก้าอี้อัตโนมัติ แม้หลายคนจะพ้นหน้าที่หลังเกษียณ แต่คนที่มาดำรงตำแหน่งแทนก็จะได้โควตานั่งเก้าอี้อัตโนมัติเช่นเดียวกัน

ข้อมูลของไอลอว์ระบุด้วยว่าในจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน มีถึง 10 คน ควบตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ไม่รวมประธานสนช. ในบรรดากลุ่มภาคธุรกิจชั้นนำที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 6 คน มี 2 คน ที่เป็นสมาชิกสนช. อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ อีก 2 คนเคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอีก 1 คนเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของ ป.ย.ป. มีเพียงคนเดียวที่ไม่เคยร่วมงานกับ คสช.มาก่อน

ไอลอว์ยังมีข้อมูลรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าการแต่งตั้งเป็นการเลือกคนเก่าๆ หน้าซ้ำๆ เข้ามาทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งอ่านรายละเอียดได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4621

หลังการแต่งตั้งมีหลายความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจมาจาก นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุเอาไว้ว่า การกำหนดยุทธศาสตร์และสร้างเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องการควบคุมทิศทางประเทศให้เป็นไปตามแนวทางที่ต้องการ พูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การสืบทอดอำนาจ คสช.อย่างเป็นระบบและทรงประสิทธิภาพนั่นเอง

หากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมีคนนอกซึ่งเป็นคนของ คสช.ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะไม่มีความขัดแย้ง แต่จะมีปัญหาตรงที่ยุทธศาสตร์ชาติ ล้าหลังไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกและของประเทศไทยเอง ประเทศไทยก็จะล้าหลังต่อไปอย่างยั่งยืน ตรงกันข้ามหากนายกฯมาจากพรรคการเมืองก็คงไม่เป็นอันทำอะไร เพราะต้องคอยระวังตัวว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ขัดยุทธศาสตร์ซึ่งจะถูกลงโทษ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยุทธศาสตร์ก็เป็นเรื่องยาก บ้านเมืองก็จะล้าหลังต่อไปแบบไม่มีอนาคต

ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการปฏิรูปอะไรให้เห็นเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดแม้แต่เรื่องเดียว ตรงกันข้ามหลายเรื่องเป็นการสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือกระทั่งถอยหลังด้วยซ้ำไป การมียุทธศาสตร์ชาติที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางไปเกือบทุกด้านเป็นเวลายาวนานและยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะทำให้ประเทศไทยที่ไม่ทันโลกอยู่แล้ว จะล้าหลังและไม่สามารถปรับตัวได้ในอนาคต

ไอลอว์ชี้ให้เห็นว่าการแต่งตั้งเป็นการแต่งตั้งคนเดิมๆที่เคยทำงานกับคสช.มาแล้วในช่วงที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้บอกชัดเจนว่าเป็นคนเก่าๆ ที่ไร้ผลงาน หรือมีผลงานที่ไม่เข้าตาประชาชนตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนที่ได้รับแต่งตั้งล้วนเป็นพวกพ้อง เป็นคนที่คิดอ่านไปทางเดียวกัน แต่ประชาชนที่สนใจและติดตามก็รู้สึกได้ถึงสิ่งที่ไอลอว์ต้องการสื่อ

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ที่กลุ่มคนเหล่านี้จะกำหนดขึ้นมาจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตเพราะจะทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายในการทำงาน จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวฉุดรั้งประเทศจนก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

ยุทธศาสตร์ชาติแทนที่จะสร้างประเทศให้เจริญอย่างยั่งยืน กลับกลายเป็นทำให้ประเทศล้าหลังอย่างยั่งยืน

คำถามคือใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เพราะถึงวันนั้นเข้าใจว่าคณะกรรมการฯชุดนี้อาจไม่มีใครมีชีวิตทันได้อยู่เห็นความล้าหลังของประเทศแล้ว


You must be logged in to post a comment Login