วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อำนาจอมตะ?

On September 8, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่วนเวียนอยู่กับคนเดิมๆ ที่เคยทำงานในตำแหน่งต่างๆมาแล้วหลังการรัฐประหาร และหลายคนก็ยังนั่งถ่างขาควบหลายเก้าอี้จนทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ตั้งความหวังเอาไว้มากนักกับคณะกรรมการชุดนี้ที่จะมากำหนดชะตาประเทศไปอีก 20 ปี

ช่วงที่ผ่านมามีหลายเสียงพยายามเตือนผู้มีอำนาจว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะบังคับใช้ไปอีก 20 ปี ควรเปิดกว้างให้ประชาชนทุกระดับได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิด และที่สำคัญการเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดการยอมรับอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเสียงเหล่านี้จะยังดังไม่พอที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะหันมารับฟัง และยิ่งเมื่อได้ยินสิ่งที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาลไปพูดในการกล่าวปาฐกถา เรื่อง “ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย” ในงานประชุมวิชาการราชบัณฑิตสัญจร ประจำปี 2560 ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าการจัดทำยุทธศาสตร์คงเป็นการปิดประตูทำกันเองภายในกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่เปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งที่ นายวิษณุ พูดเอาไว้คือ

“วันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าการปฏิรูป โดยมี 3 ส่วน คือ 1.การปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ที่มี 11 ด้าน ขณะนี้รัฐบาลเห็นว่าอาจจะมีการเพิ่มการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์ ด้านกีฬา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมเข้าไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าทุกหน่วยงานต้องทำตาม หากไม่ทำตามจะมีความผิด ถ้าจะเสนออะไรเข้ามาคณะรัฐมนตรี ต้องชี้แจงว่าสอดคล้องกับแผนปฏิรูปหรือไม่ หากจะเสนออะไรที่ไม่เหมือนการปฏิรูป จะต้องเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปปรับแผน 2.การปฏิรูปของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ (ปยป.) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาคู่ขนานกับการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ และ 3.การคิดปฏิรูปของหน่วยงานนั้นๆเอง

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นฝ่ายตรวจสอบว่าทำไมหน่วยงานนั้นๆจึงไม่ปฏิบัติตามแผนปฏิรูป ถ้าสาเหตุมาจากคน การลงโทษ คือ โยกย้าย ทำไม่ได้ต้องเอาคนมาใหม่ ถ้าเป็นเหตุอื่นอาจต้องนำมาสู่การปรับถอน หรือเพิ่มงบประมาณ หรือที่สุดอาจนำมาสู่การรับผิดทางกฎหมาย ต้องฟ้องศาล โดยส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลั่นกรองอีกที เพื่อให้เห็นว่าเราไม่ได้กลั่นแกล้งกัน”

สรุปคือแม้จะมีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้งแต่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ที่จะวางเอาไว้ห้ามบิดพลิ้ว

ถ้ามีการบิดพลิ้วไม่ทำตาม หรือตอบสนองไม่เต็มที่ โทษของการบิดพลิ้วไม่ทำตาม ตอบสนองไม่เต็มที่คือการปรับเปลี่ยนคนทำงานใหม่ โยกย้ายคนไม่ตอบสนองไปที่อื่น เอาคนที่พร้อมจะตอบสนองอย่างไม่มีเงื่อนไขเข้ามาทำงานแทน

ร้ายไปกว่านั้นอาจมีการเอาผิดตามกฎหมายตามมาอีกด้วย

แม้จะบอกว่าจะให้ ป.ป.ช.เป็นผู้สอบเอาผิดตามกระบวนการเพื่อไม่ให้ดูว่าเป็นการกลั่นแกล้งกัน แต่แค่หลับตาก็พอเห็นภาพแล้วว่าหากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯชงเรื่องใส่มือป.ป.ช.ผลจะออกมาทิศทางไหน อย่างไร

สำหรับกรณีที่จะชงเรื่องให้ป.ป.ช.เอาผิดนั้น น่าจะเป็นในส่วนของฝ่ายการเมืองมากกว่าข้าราชการประจำ เพราะในหมู่ข้าราชการประจำส่วนมากจะอยู่เป็น พร้อมสนองนโยบายอยู่แล้ว อาจจะมีเกียร์ว่างบ้างแต่คงไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จะตามมาคือข้าราชการประจำจะอยู่ในสถานะน้ำท่วมปาก กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจะเป็นบ่าวสองนาย นายหนึ่งคือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นายหนึ่งคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ยกเว้นกรณีได้รัฐบาลที่เห็นดีเห็นงามกับยุทธศาสตร์ 20 ปี การทำงานก็อาจจะราบรื่นไม่เกิดปัญหา

ที่ นายวิษณุ ต้องออกมาย้ำเตือน หรือเรียกได้ว่าขู่ ก็เพื่อกระชับกระบองอำนาจในมือรัฐบาลปัจจุบันบอกให้รู้ว่าแม้จะมีเลือกตั้งแต่อำนาจยังคงอยู่

พวกที่ยังใส่เกียร์ว่างอยู่หรือเดินหน้าไม่เต็มตัวคิดว่ารัฐบาลนี้ใกล้พ้นวาระให้เริ่มใส่เกียร์เดินหน้าตอบสนองอำนาจได้แล้ว เพราะถึงมีเลือกตั้งอำนาจก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน พร้อมให้คุณให้โทษได้ตลอดเวลา


You must be logged in to post a comment Login