วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ละครรีเมค

On September 11, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แจ้งเพื่อทราบข้อมูลล่าสุดจาก รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI แสดงความเป็นห่วงสภาพการว่างงานของคนไทยที่มีกว่า 470,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ถือว่าน่าวิตก สายงานที่ต้องการคนน้อยลง คือ การค้าขาย ภาคบริการ การส่งออก เป็นกระจกสะท้อนว่า คนไม่มีเงินจะทำมาค้าขายกันแล้ว

อีกกลุ่มที่มีการจ้างงานลดลงคือกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง รัฐบาลเองมีแต่โครงการในกระดาษ ไม่มีการตอกเสาเข็ม การจ้างงาน จึงไม่เกิด

“ปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ทำให้ความน่าลงทุนลดลงไป แต่ปัญหาหนักหน่วงขึ้นหลังจากเกิดการรัฐประหารหลังขึ้นค่าแรง 300 บาท แม้การลงทุนจะชะลอตัว แต่เรามีเงินสะพัดในตลาดภายในประเทศสูง ขณะเดียวกันเราพยายามพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากทั่วโลก มันมีโอกาสสำเร็จ ทำให้มีเงินลงทุนทางตรงหรือ FDI ไหลเข้ามา แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ทำให้หลายชาติปฏิเสธการลงทุนโดยตรงกับไทย  จากนั้นเป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยก็ไม่ดีขึ้น แม้ภาครัฐจะบอกว่าโตขึ้น 2-3% แต่มันยังน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เขาเติบโตกัน 4-5% ขึ้นไป สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้คือ หากปล่อยให้อัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ต่อไป อนาคตเราจะมีคนว่างงาน2% 3% 4% 5% ขณะที่ระบบการดูแลคนว่างงานมีเฉพาะแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบขาดการเหลียวแล สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสังคม เช่น การจี้ปล้น ฉกชิง วิ่งราว ซึ่งทุกวันนี้ ก็เริ่มมีปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้น”

นักวิชาการ นักการเมือง ประชาชนต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่รัฐบาลมองตรงกันข้าม อาจจะด้วยมีเหตุผลจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่น แต่ไม่ควรปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริง เพราะหากไม่ยอมรับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงการแก้ปัญหาจะเกาไม่ถูกที่คัน

ขณะที่มีความชัดเจนว่าเศรษฐกิจถดถอยลงเรื่อยๆนับแต่รัฐประหารเป็นต้นมา และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่ความชัดเจนในการคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งเพื่อนำประเทศกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สังคมโลกยอมรับกลับไม่ทำให้เกิดความชัดเจน

เมื่อไม่ชัดเจนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนก็ไม่มี ไม่มีการลงทุนใหม่ก็ไม่มีการจ้างงาน ขณะที่ทุนเก่าก็ทยอยย้ายหนี ปิดกิจการ รัดเข็มขัด อัตราการเลิกจ้างเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งมีคำถามว่าหากรัฐบาลต้องการลงจากหลังเสือตามโรดแม็พทำไมการประกาศกำหนดเลือกตั้งให้ชัดเจนเป็นเรื่องยาก

การอ้างว่ากฎหมายลูกยังทำไม่เสร็จทั้งที่มีกรอบเวลากำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ และบอกว่าไม่มั่นใจว่าปีหน้าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นหดหาย

ขณะที่คนมีหน้าที่ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ประกอบรัฐธรรมนูญก็ออกมาพูดทำนองว่า พ.ร.ป.สำคัญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.มีเวลายกร่างเหลือน้อยมาก แค่ประมาณ 30 วัน แม้จะยกร่างส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสร็จทันกำหนด แต่ยังเหลืออีกหลายขั้นตอนกว่ากฎหมายจะออกมาบังคับใช้ได้ เรื่องระหว่างทางก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้จึงเป็นเรื่องเกินความคาดเดา

แปลความง่ายๆคือ ไม่มั่นใจว่าร่างพ.ร.ป.สำคัญทั้ง 2 ฉบับนี้จะแท้งก่อนคลอดออกมามีผลบังคับใช้หรือไม่

เมื่อทั้งคนมีอำนาจและคนมีหน้าที่ยกร่างพ.ร.ป.พูดไปในทำนองเดียวกันเช่นนี้ ทำให้บรรยากาศความหวาดกลัวว่าจะมีการล้มกฎหมายลูกเพื่อยื้อเวลาให้รัฐบาลได้อยู่ต่อจึงกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่คลายความกังวลไปพอสมควรก่อนหน้านี้ เมื่อมีการส่งร่างพ.ร.ป.เกี่ยวกับองค์กรอิสระเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.และผ่านความเห็นชอบออกมาแล้ว

แต่เมื่อถึงพ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้งกลับเกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาอีก

“ความแน่นอน” คือ “ความไม่แน่นอน” เมื่อการเมืองไม่ชัดเจนย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม ดังที่เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา

คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยังเคยเกิดขึ้นมาแล้ว คว่ำกฎหมายลูกทำไมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือหนังม้วนเก่ากำลังจะกลับมาฉายให้ดูอีกครั้ง


You must be logged in to post a comment Login