วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘ซูจี’กับวิกฤตโรฮีนจา

On September 11, 2017

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชาวมุสลิม โรฮีนจา ในรัฐยะไข่ ที่กลายเป็นสงครามขนาดย่อม มีผู้เสียชีวิตและหนีภัยความรุนแรงจำนวนมาก

เป็นมหากาพย์แห่งความเกลียดชัง ที่เพิ่มความซับซ้อนควบคู่กับความรุนแรง และบานปลายจากปัญหาภายในประเทศของพม่า กลายเป็นความขัดแย้งที่นานาชาติต้องเข้าช่วยหาแนวทางคลี่คลาย

ชาวโรฮีนจาที่เข้าไปตั้งรกรากในยะไข่ รัฐในภาคตะวันตกของพม่าติดอ่าวเบงกอล และภาคเหนือติดบังกลาเทศ มีปัญหากับ “เจ้าถิ่น” มานาน

สาเหตุสำคัญเนื่องจากชาวพม่าเห็นว่า โรฮีนจาเป็นคนต่างถิ่นที่เข้าไปยึดพื้นที่ของประเทศตน อีกทั้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างด้านศาสนา เพราะโรฮีนจานับถืออิสลามไม่ใช่พุทธ  

จากปัญหาที่เป็นจุดเล็กๆดังกล่าว พัฒนาขยายขนาดเพิ่มขึ้นตามลำดับ เป็นผลมาจากการกระทบกระทั่ง ยั่วยุ และปั่นข่าวป้ายสีอีกฝ่าย จนกระทั่งกลายเป็นสงครามกลางเมืองขนาดย่อม และทางการพม่าระบุว่า สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นเกิดกลุ่มก่อการร้ายขึ้นมา

กลุ่มจับอาวุธต่อสู้กับทหารพม่าดังกล่าว รวมตัวในชื่อ “กองทัพปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งอาระกัน” (Arakan Rohingya Salvation Army : ARSA)

เป็นกลุ่มที่ทางการพม่าระบุว่า เป็นฝ่ายจุดชนวนทำให้ความรุนแรงปะทุขึ้นล่าสุด โดย ARSA ลอบโจมตีด่านและสถานีตำรวจกว่า 20 จุด เมื่อวันที่ 25 ส.ค. จากนั้นมีการปะทะกันต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 370 ราย ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ ARSA

ตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าว นับเฉพาะที่เกิดขึ้นจากวันที่ 25 ส.ค. เป็นต้นมา ขณะสถิติตั้งแต่เกิดความขัดแย้งมีจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีผู้หนีภัยไปบังกลาเทศแล้วประมาณ 164,000 คน  

หลายประเทศ รวมทั้งอินโดนีเซีย สหรัฐ และอังกฤษ เรียกร้องนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำตัวจริงของรัฐบาลพม่า เร่งคลี่คลายปัญหา โดยอินโดนีเซียมองว่าสถานการณ์มีความรุนแรงในระดับการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮีนจา

องค์การสหประชาชาติเอง พยายามเข้ามาช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาเช่นกัน แต่ข้อเสนอยังล่องลอยอยู่ในอากาศ ท่ามกลางกระแสกดดันจากนานาชาติ ที่ถาโถมเข้าใส่นางซูจีต่อเนื่อง

นางซูจีเปิดใจครั้งล่าสุดว่า เข้าใจถึง “รสชาติ” การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการไม่ได้รับความคุ้มครองตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น พม่าจึงระมัดระวังเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

นางซูจีระบุว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันซับซ้อนเกินกว่าผู้อยู่ห่างไกลเหตุการณ์จะเข้าใจความจริงได้

จากมุมมองของนางซูจี ทำให้มีแนวโน้มที่ความขัดแย้งจะยืดเยื้อต่อไป โดยไม่สามารถฟันธงเรื่องระยะเวลาได้


You must be logged in to post a comment Login