วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พุทธะมองประวัติศาสตร์ไทย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On September 11, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ข้อเขียนชิ้นนี้รต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้กล่าวถึงหนังสือ “สยามปะทะโลกาภิวัตน์” ที่ผมเขียนถึงรากลึกของปัญหามูลฐานที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองยุคสมัยที่มีการขับไล่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการของการรับรู้ในแบบมาตรฐานหรือ Normative Perception คือการรับรู้ของคนเราต่อความรู้มาตรฐาน

เรื่องนี้ถ้ามองทางพุทธแล้วก็เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องอายตนะทั้ง 6 ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุแห่งคำตอบทั้งหมดของประวัติศาสตร์ไทย มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงข้อมูลและบิดเบือนความจริงซึ่งอาจถูกใช้ในการเขียนประวัติศาสตร์ไทย หรือในบางประเทศที่มีเจตนาไม่ต้องการนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการทำงานในลักษณะบิดเบือนและปลอมแปลงข้อมูลและข้อเท็จจริงในการทำงานประวัติศาสตร์

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือผลพลอยได้ประการแรกจากการเขียนหนังสือ “สยามปะทะโลกาภิวัตน์” คือเริ่มมองประวัติศาสตร์โดยทรรศนะ โดยทฤษฎีของความเป็นพุทธะมากขึ้น และอีกสิ่งสำคัญที่เป็นผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันคือ ผลักดันให้ผมหันมาสนใจประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ยุคโบราณ” หมายถึงก่อนกำเนิดสุโขทัย ทำให้เกิดความเข้าใจในรากฐานของประเพณีและวัฒนธรรมในการปกครองของรัฐไทยโบราณมากขึ้น

ทำให้ทราบว่ารัฐไทยแห่งแรกแท้จริงแล้วคือรัฐที่เรียกในภาษาจีนว่า “แถนก๊ก” ซึ่งมีหลักฐานค้นพบว่ามีศูนย์กลางอำนาจรัฐตั้งอยู่ที่ถ้ำคูหาภิมุข ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา รัฐแรกของไทยโบราณ “แถนก๊ก” นั้นรับเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในสุวรรณภูมิ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์อโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะจากประเทศอินเดียกับมหาจักรพรรดิท้าวกุเวร

ในด้านการปกครองนั้น กษัตริย์อโศกมหาราชได้ส่งเจ้าชายสุมิตรซึ่งเป็นพระราชนัดดาเข้ามาช่วยจัดวางระบอบการปกครองให้แก่รัฐไทยโบราณ ซึ่งระบอบการปกครองนี้งานเขียนของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ได้ค้นคว้าพบว่า “ในระบอบการปกครองของรัฐไทยโบราณมีแนวคิดขัดแย้งอยู่ 2 สายคือ สายที่เรียกว่าสายอินทร์และสายราม”

แนวคิดในสายอินทร์มาจากอุดมการณ์ที่ว่า ในสวรรค์ชั้นตรัยตรึงศ์มีด้วยกัน 33 ชั้น คำว่าตรัยตรึงศ์แปลว่า 33 หมายความว่าพระอินทร์ในสวรรค์ได้แบ่งแยกเขตการปกครองกระจายอำนาจเป็น 33 เขต โดยยึดหลักการของความสามัคคี อยู่กันแบบพี่แบบน้อง

ส่วนอีกอุดมการณ์นั้นเรียกว่าอุดมการณ์แบบราม ซึ่งถือว่าพระนารายณ์ได้อวตารลงมาเป็นพระรามเพื่อปราบพวกอธรรม อุดมการณ์ปกครองแบบรามจึงถือคนเบื้องล่างเป็นทาสและไพร่ที่จะต้องปกครอง ส่วนอุดมการณ์แบบอินทร์ถือว่าพระอินทร์หรือพระอิศวรเป็นใหญ่ในสวรรค์ มีฐานะเป็นเพียงศูนย์กลางหรือผู้ประสานงานเพื่อให้ทุกคนอยู่กันแบบสามัคคีธรรม อยู่แบบพี่แบบน้อง

จากการตีความของจิตร ภูมิศักดิ์ อุดมการณ์แบบอินทร์จึงเท่ากับเป็นระบอบการปกครองในแบบสมาพันธรัฐหรือเรียกว่าสหมณฑลรัฐก็ได้ ระบอบการปกครองแบบนี้สืบทอดถึงยุคศรีวิชัย ส่วนระบอบแบบรามที่เห็นชัดเจนก็เป็นในสมัยอยุธยา

เราจึงกล่าวได้ว่ารากฐานความคิดการปกครองของรัฐไทยโบราณที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันมีความขัดแย้งโดยระบบความคิดแบบรามและแบบอินทร์ กล่าวง่ายๆคือ แบบอินทร์ต้องเน้นกระจายอำนาจการปกครอง ส่วนแบบรามเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเด็ดขาด

ถ้าตีความเช่นนี้ ผมก็เห็นว่ารากฐานการปกครองของรัฐไทยโบราณนั้นเกิดขึ้นมาจากระบบแบบอินทร์ ก็คือการเป็นสหมณฑลรัฐและเป็นการกระจายอำนาจ

นี่เป็นความน่าสนใจของประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องมาจนถึงยุคศรีวิชัย

อีกความน่าสนใจที่อยากกล่าวถึงการปกครองของรัฐไทยโบราณรวมทั้งยุคศรีวิชัยคือ ระบอบที่เรียกว่า “พระบรมโพธิสมภาร” หมายความว่าพระมหากษัตริย์เป็นดังพระโพธิสัตว์และเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนทั้งหลาย เป็นผู้ที่มีศีลธรรมสูง มีความเมตตาและปรารถนาดีที่จะให้ประชาชนผู้อยู่ภายใต้การปกครองนั้นมีความสุขและได้พ้นทุกข์ เปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ซึ่งมีความปรารถนาดีกับมนุษย์ทั่วไป

นี่คือหลักคิดของพุทธมหายานซึ่งนับถือพระโพธิสัตว์ โดยเชื่อว่าพระโพธิสัตว์คือผู้ที่มีจิตเมตตา ต้องการช่วยเหลือมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์และในชาติต่อไป พระโพธิสัตว์สามารถบรรลุถึงความเป็นนิพพานได้

ข้อเขียนชิ้นนี้คงจะไม่เขียนอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่านี้ เพียงแต่พยายามบอกถึงรากฐานเดิมของการมองประวัติศาสตร์ในยุคศรีวิชัยและก่อนหน้านั้น ทั้งชี้ให้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไทยที่เราเข้าใจกันไขว้เขวเกิดขึ้นจากสภาวะที่เรียกว่า Normative Perception ซึ่งเป็นการเล่นกับอารมณ์พื้นฐานของคน ทำให้เราเข้าใจถึงความรักชาติไปอีกอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงสรุปว่า ถ้าเราใช้ทฤษฎีของพุทธะมามองประวัติศาสตร์ไทย เราก็จะได้ความจริงและได้คำตอบที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์อย่างที่เราเคยเข้าใจมา


You must be logged in to post a comment Login