วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไม่ต้องปรองดอง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On September 11, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

หลังจากเงียบไปพักใหญ่เรื่องการสร้างความปรองดองถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องสัญญาประชาคม เนื่องจากเห็นว่าอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ทบทวนกันอีกครั้งกับร่างสัญญาประชาคมเพื่อความปรองดอง 10 ข้อ ที่ดูอย่างไรก็เหมือนนโยบายมากกว่าร่างสัญญา ประกอบด้วย

1.ร่วมกันสร้างสามัคคีปรองดอง ใช้สิทธิเสรีภาพตามกรอบของกฎหมาย ยอมรับความคิดต่าง เข้าใจประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาด้วยระบบรัฐสภา

2.ยึดมั่นศาสตร์พระราชา ต้องพัฒนาตนเอง นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ประกอบอาชีพสุจริต และมีไมตรีจิตต่อกัน

3.ขจัดการทุจริต ดำเนินชีวิตด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ ร่วมกันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ

4.อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมแบ่งปันใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

5.ดูแลคุณภาพชีวิตทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างเท่าเทียม

6.เคารพกฎหมาย เชื่อมั่นและปฏิบัติตามกฎหมาย โดยกระบวนการยุติธรรมต้องทำงานอย่างอิสระ เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ

7.รับรู้ข่าวสารอย่างรอบคอบ ไม่เสนอข้อมูลที่บิดเบือนยั่วยุ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

8.ยึดมั่นกติกาสากล ปฏิบัติตามกฎกติกาสากลระหว่างประเทศ โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

9.ร่วมพัฒนาและปฏิรูปประเทศ รับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ด้วยพลังประชารัฐ สู่การเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นระบบและครบวงจร

10.เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ เรียนรู้ ร่วมมือ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่ร่วมกันกำหนดให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ยอมรับว่าทั้ง 10 ข้อไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติภายใต้กฎหมายที่เคยมีอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยที่อาจถูกปิดบังหรือเลือนรางไปบ้างจากบริบทความขัดแย้งทางสังคมที่ผ่านมา

หมายความว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาทำให้คนไทยถอยห่างจากจิตสำนึกที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แล้วใครทำให้คนไทยถอยห่างจากจิตสำนึกที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จำเลยของเรื่องนี้คือนักการเมือง

จึงไม่แปลกที่มีบางคนพูดว่าหากนักการเมืองไม่ขยับบ้านเมืองจะสงบสุข จะเกิดความสามัคคีปรองดอง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองในสังคมไทยปัจจุบันจะเห็นว่ามาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปยืนในจุดเดิม จุดที่ประชาชนไม่มีปากมีเสียง ไม่รู้จักสิทธิของตัวเอง ไม่เรียกร้องเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตัวเอง

เมื่อประชาชนรู้จักสิทธิของตัวเอง รู้จักเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ ภาพการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอำนาจมากกว่าจึงไม่ปรากฏเหมือนในอดีต

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด เช่น เวลาประชาชนขับรถไปแล้วเจอด่านตำรวจเรียกตัว หากประชาชนคิดว่าตัวเองไม่ผิดก็จะมีการโต้แย้ง หรือหากเห็นว่าตั้งข้อหามั่ว เขียนข้อหาเกินกว่าเหตุก็จะโต้แย้ง บางครั้งมีการบันทึกการโต้แย้งไว้ทั้งที่เป็นภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ

ภาพที่พอประชาชนถูกตำรวจเรียกแล้วยกมือไหว้ ยืนเอามือกุมไว้ข้างหน้าอย่างนอบน้อม ยอมรับใบสั่งจ่ายค่าปรับแต่โดยดี หรือให้เงินเพื่อแลกกับการไม่ถูกออกใบสั่งค่อยๆหายไปจากสังคมไทย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเพื่อเป็นข้อโต้แย้งว่าที่สังคมไทยวุ่นวายไม่ใช่เพราะจิตสำนึกของคนไทยเปลี่ยนไปจากอดีต แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีทำให้ประชาชนมีความรู้มากขึ้น รู้จักสิทธิของตัวเองมากขึ้น รู้จักปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น แต่การปกป้องสิทธิกลับถูกมองว่าเป็นการกระด้างกระเดื่อง ไม่รักความสงบเหมือนอดีต

เรื่องการสร้างความปรองดองพูดกันมาหลายครั้งแล้ว และในความเป็นจริงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหมดงบประมาณมากมายเพื่อหาวิธีสร้างความปรองดอง

สังคมไทยไม่ต้องปรองดองก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ และไม่ใช่ความสงบแบบใช้ปืนจี้ให้สงบแบบในปัจจุบัน

ความหมายของปรองดองคือ ออมชอม ประนีประนอม ยอมกัน ไม่แก่งแย่งกัน กลมกลืน สมัครสมานลงรอย ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย ตกลงกันด้วยไมตรีจิต

นี่คือความปรองดอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความเท่าเทียม ทำให้เกิดการรักษาสิทธิอันพึงมีพึงได้

ความปรองดองอาจเกิดขึ้นเพราะต้องสยบสมยอมให้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ถึงจะยินยอมแต่ใจเป็นทุกข์เพราะรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม กลายเป็นความเก็บกด

ถ้าสังคมไทยอยากอยู่กันอย่างสงบสุขไม่จำเป็นต้องสร้างความปรองดอง

สิ่งที่จะทำให้สังคมไทยอยู่ได้อย่างสงบสุขคือความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ความเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม เพราะในความหมายของกระบวนการยุติธรรมคือ วิธีดําเนินการให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและให้ความเป็นธรรมในทางกฎหมายแก่บุคคลโดยบุคลากรและองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานยุติธรรม อันได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ทนายความ ศาล กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์

หากอยากให้ประชาชนกลับคืนสู่ความสงบสุขไม่ต้องเสียเวลาหาวิธีสร้างความปรองดอง แต่สร้างความยุติธรรมให้เกิดความเท่าเทียมกันในหมู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ความสงบสุขจะกลับคืนมาเองโดยไม่ต้องรอใครมาคืนความสุขให้

เวลาดำเนินการทางกฎหมายกับใครหรือฝ่ายใดต้องไม่เกิดคำถามว่า ทำไมกรณีเดียวกันฝ่ายนั้นตัดสินอย่างนั้น ฝ่ายนี้ตัดสินอย่างนี้ ทำไมฝ่ายนั้นทำแล้วไม่ผิด ฝ่ายนี้ทำแล้วผิด หรือถ้ามีคำถามก็ต้องสามารถหักล้างได้ด้วยเหตุผลที่ทำให้คนตั้งคำถามยอมรับได้

ไม่ต้องปรองดอง ขอแค่ความยุติธรรม สังคมไทยจะกลับมาสงบสุขได้เองแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login