- ปีดับคนดังPosted 43 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
รัฐบาล(เกือบจะ)แห่งชาติ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
เรื่องรัฐบาลแห่งชาติถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้ง
การเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะปรากฏทุกครั้งเมื่อประเทศเข้าสู่สถานการณ์ที่เป็นจุดอับทางอำนาจ
การที่มีคนเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาตอนนี้แสดงว่ามีคนมองเห็นหนทางข้างหน้าว่าจะไม่มีความราบรื่น จึงคิดดึงฝ่ายต่างๆมาอยู่รวมกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อตัดปัญหาการถูกโจมตีขยายผลจากการทำงานที่ผิดพลาด
แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเลี่ยงแสดงความเห็นพร้อมบอกว่ายังไม่ถึงเวลา
แต่การที่นายกฯจะพูดเรื่องตั้งรัฐบาลแห่งชาติก็ดูจะเป็นการเสียเหลี่ยมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกฯที่มาจากการทำรัฐประหารซึ่งมีอำนาจเต็มมือ เพราะเท่ากับยอมรับว่าที่ผ่านมาล้มเหลว และมองเห็นทางตันอยู่ข้างหน้าจึงต้องหาตัวช่วย
นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นคนจุดพลุเรื่องนี้ คงมองว่าขณะนี้ประเทศมีปัญหารุมเร้ารอบด้าน ประชาชนส่วนมากรู้สึกสิ้นหวังเพราะหาทางออกไม่เจอ ยิ่งมีปัญหามากยิ่งแก้ไขไม่ได้ยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม หากมองตามข้อเท็จจริงแล้วการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติแทบไม่มีความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งในตอนนี้หรือภายหลังการเลือกตั้ง
ความน่าจะเป็นของการตั้งรัฐบาลที่รวมทุกฝ่ายมาทำงานด้วยกันมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดก็ต้องรอหลังเลือกตั้ง
แต่ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ
ความเป็นไปได้มากที่สุดคือการรวมตัวกันของพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคใหม่ที่คาดว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะจัดตั้งขึ้นมาด้วย โดยร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ คสช. จะแต่งตั้งไว้ก่อนลงจากอำนาจเลือกคนที่ตัวเองวางใจขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
พรรคที่จะถูกโดดเดี่ยวให้เป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวคือพรรคเพื่อไทย
นี่อาจไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติที่สมบูรณ์ แต่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และใกล้เคียงกับคำว่ารัฐบาลแห่งชาติมากที่สุด เพราะทุกพรรคทุกฝ่ายรวมตัวกันเป็นรัฐบาล มีเพียงพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน
ที่สำคัญจะทำให้รัฐบาลที่เกิดจากการรวมตัวกันของทุกพรรคทุกฝ่ายมีความชอบธรรมมากขึ้นในการทำงาน เพราะมีฝ่ายตรวจสอบการทำงานในสภา ไม่ใช่ทุกคนเป็นรัฐบาลหมด ไร้คนตรวจสอบ
ทั้งนี้ แม้จะมีพรรคเพื่อไทยทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่คงไม่ระคายเคืองรัฐบาลที่เกิดจากการรวมตัวกันของทุกฝ่าย เพราะเสียงข้างน้อยไม่มีวันชนะเสียงข้างมากในสภา แถมการใช้ช่องทางอื่นตรวจสอบตามกฎหมายก็จะไม่ค่อยได้รับการตอบสนองเหมือนกับหลายเรื่องที่ผ่านมาอีกด้วย
ปัญหาเดียวของการตั้งรัฐบาล (เกือบจะ) แห่งชาติคือ การเลือกคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่แม้จะไม่ยากแต่ไม่ถึงกับง่ายเสียทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง คนที่หลายฝ่ายคิดว่าถูกวางตัวไว้แล้วอาจไม่ได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดตีกันแล้วว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งควรยึดหลักการ 2 อย่างคือ
หนึ่ง พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียงได้เป็นรัฐบาล กรณีนี้แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะเลือกตั้ง แต่หากรวมเสียงได้ 250 เสียงก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
สอง ส.ว. ที่ คสช. จะแต่งตั้งไว้ 250 คน ไม่ควรแทรกแซงการรวมตัวของ ส.ส. เกิน 250 คน
ที่นายอภิสิทธิ์ต้องพูดแบบนี้เพราะเชื่อว่าโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงแม้จะไม่ชนะเลือกตั้ง พรรคอื่นๆน่าจะอยากร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย เพราะหลายพรรคเชื่อแล้วว่า “เลือกข้างผิดชีวิตพัง” การร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์น่าจะอยู่ในอำนาจได้อย่างสบายใจมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคประชาธิปัตย์จะรวม ส.ส. ให้ได้ 250 เสียงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ว่าพรรคอื่นอยากร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย เพราะมีตัวแปรสำคัญอย่างพรรคใหม่ของนายสุเทพที่อาจจะตั้งขึ้น
แม้คนทั่วไปเชื่อว่านายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพเป็นพวกเดียวกัน แต่นายสุเทพก็ประกาศชัดเจนมาตลอดว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ได้เป็นนายกฯต่อไป
เมื่อรวมเสียงของพรรคนายสุเทพเข้ากับเสียงของ ส.ว. อำนาจการต่อรองในการตั้งรัฐบาลย่อมมีมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางที่จะร่วมทำงานในฐานะฝ่ายค้านกับพรรคเพื่อไทย บางทีพรรคประชาธิปัตย์อาจต้องยอมลดระดับตัวเองจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาเป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ
นี่คือความเป็นไปได้มากที่สุดของโอกาสที่จะเกิดรัฐบาล (เกือบจะ) แห่งชาติหลังการเลือกตั้ง
ส่วนรัฐบาลแห่งชาติก่อนการเลือกตั้งไม่มีวันได้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนักการเมืองกับคณะรัฐประหารจูนกันไม่ติดไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายไหน
ต่อให้พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เข้าร่วมหากจะมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาตอนนี้ เพราะจะไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้
หากจะทำได้อย่างมากก็แค่ดึงคนที่สังกัดพรรคไปร่วมงานแล้วอ้างว่าไปในนามส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค เหมือนกรณีออกไปเป่านกหวีดในนามส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค เสร็จภารกิจแล้วค่อยกลับมารวมตัวกันใหม่
หากจะให้ฟันธงตอนนี้ไม่มีรัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นแน่นอน จะมีก็แต่รัฐบาล (เกือบจะ) แห่งชาติที่รอแจ้งเกิดหลังเลือกตั้ง
You must be logged in to post a comment Login