วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ภาพสะท้อน‘วีระ’

On September 19, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้จะดูว่าเป็นคนละขั้วทางการเมือง แต่การเคลื่อนไหวของของ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ถือว่าน่าสนใจ

น่าสนใจเพราะเป็นการเคลื่อนไหวให้ใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติต่อกรณีให้ดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน กรณีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด กระทำการทุจริตในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานคร โดยขอให้เอาผิดทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้โอน ผู้รับโอน รวมถึงการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับเงินจำนวนดังกล่าว ไม่เฉพาะเจาะจงที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตามที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้

“ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ที่ผ่านมาดีเอสไอ ยังไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน โดยการมายื่นเรื่องครั้งนี้ เพื่อขอให้ ดีเอสไอ ดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่มีละเว้น รวมทั้งมูลนิธิรัฐบุรุษ นายทหารยศพลเรือโท ที่มีชื่อเกี่ยวข้อง และกรรมการธนาคารกรุงไทย 2 ใน 5 คน ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี”

เป็นคำกล่าวของ นายวีระ หลังยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ทั้งนี้ นายวีระ ยังระบุว่า หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่รับดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ความเห็นของ นายวีระ สอดคล้องกับ นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ ที่เตรียมจะเข้ายื่นหนังสือต่อดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีฟอกเงินของธนาคารกรุงไทยเช่นกัน โดยระบุถึงความผิดปรกติ เนื่องจากมติกรรมการคดีพิเศษ รับคดีที่ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ส่งมาให้ดำเนินคดีฟอกเงิน กว่าสามพันล้านบาท กับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ แต่ดีเอสไอไม่ได้เรียกทั้งหมดมาสอบสวน โดยทั้ง 5 คนที่ร่วมลงนามอนุมัติสินเชื่อจากการติดตามตรวจสอบ ประกอบด้วย ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ, นายวิโรจน์ นวลแข, นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา, นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน

โดย 3 คนแรก ศาลสั่งจำคุกในคดีปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร จะได้ตัวหรือไม่ได้ตัวมาสอบสวน แต่ก็ต้องเรียกมาสอบตามขั้นตอน ตาม ป.วิอาญา มาตรา 131 และ มาตรา 141 ไม่อย่างนั้นดีเอสไออาจเข้าข่ายทำผิดมาตรา 157 และนอกจากไม่สอบสวนให้ครบถ้วนตามขั้นตอน ยังไปดำเนินคดีกับคนไม่กี่คนในกลุ่มของนายพานทองแท้ ที่ไม่ได้รับเงินโดยตรงจากเครือกฤษดา โดยพาดพิงว่าเป็นการรับเงินปากถุงทั้งที่ช่วงเวลาไม่ตรงกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะยังไม่นับหนึ่งในการสอบเอาผิดกับ นายพานทองแท้ อย่างเป็นทางการ เมื่อ นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีสอบสวน ระบุว่า ยังไม่มีการประชุม สรุปสำนวน เพราะเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ขอเลื่อนเข้าให้การกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเริ่มกระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษอย่างเป็นทางการ และยังไม่มีการประสานงานจากดีเอสไอว่า จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาคดีเรื่องนี้เมื่อใด

ส่วนเรื่องนี้จะมีเรื่องรอไฟเขียวไฟแดงอย่างที่มีสื่อบางสำนักนำเสนอรายงานเอาไว้หรือไม่ คงต้องรอดูว่าที่สุดแล้วจะมีการดำเนินคดีอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นหรือไม่ และหากมีการดำเนินคดีจะมีใครบ้างที่ตกเป็นจำเลยนอกเหนือจาก นายพานทองแท้ อย่างที่มีข่าวออกมาตลอดก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีเรื่องรอไฟเขียวไฟแดงจากผู้มีอำนาจจริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นพัฒนาทางการเมืองไปในทิศทางดีขึ้น คือเมื่อมีผู้ที่ถูกมองว่าอยู่คนละขั้วทางการเมืองเรียกร้องให้ดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ละเว้น ไม่เลือกปฏิบัติ

ชัดเจนว่าเริ่มมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าหากความยุติธรรมไม่มีความสามัคคี ความสงบเรียบร้อยก็จะไม่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั่นเอง เมื่อฝ่ายการเมืองเริ่มตระหนักเรื่องนี้แล้ว ผู้มีอำนาจก็ควรจะเริ่มตระหนักได้แล้วเช่นเดียวกัน


You must be logged in to post a comment Login