วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘นาย’ที่ไม่ได้เลือก

On September 20, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

“ไม่ต้องห่วงเรื่องปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย”

เป็นคำกล่าวของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 (ที่มา : มติชนสุดฯ ฉบับประจำวันที่ 2-3 ธันวาคม 2548)

สุดท้ายพล.อ.สนธิ นำกองทัพยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549

“ถ้าทหารปฏิวัติอีก แก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆก็จะเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างไร ทุกคนรักชาติแต่ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ”

เป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา อดีต ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556 (ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์  http://www.ryt9.com/s/iq02/1793691)

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ นำกองทัพยึดอำนาจวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เป็นข้อมูลที่เพจ วิวาทะ V2 บันทึกไว้ และนำมาเผยแพร่ในโอกาสครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใครพูดอะไรไว้ และทำอย่างที่พูดหรือไม่

แต่ประเด็นอยู่ที่การรัฐประหารทั้งสองครั้ง ทั้งกลุ่มคนที่ทำรัฐประหารและมือไม้ที่เคลื่อนไหวให้เกิดรัฐประหาร มือไม้ที่ได้ดิบได้ดีเข้ามานั่งทำงานในรูปของคณะกรรมการชุดต่างๆ สภาชิกสภาต่างๆ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นหลังการยึดอำนาจ ล้วนเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่ทำงานไม่สำเร็จ แต่ได้แก้มือกันอีกครั้ง ซึ่งห้วงระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีเป้าหมายชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าโอกาสที่จะเกิดความสำเร็จตามเป้าประสงค์นั้นมีโอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

โดยเฉพาะเป้าประสงค์ในทางเปิด อย่างการปราบทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความเสมอภาคเท่าเทียม สร้างความสามัคคีปรองดอง ฯลฯ

ส่วนจะเดินเข้าใกล้เป้าประสงค์ปิด ที่เป็นเป้าประสงค์แท้จริงมากน้อยแค่ไหนนั้น สังคมน่าจะพอมองกันออก

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และเป็นอดีตผู้พิพากษาให้ความเห็นน่าสนใจว่า การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทำให้ประเทศไม่สามารถใช้กลไกในระบบปรกติเดินหน้าแก้ไขปัญหาตามที่ควรจะเป็น หากไม่มีการยึดอำนาจ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลในเวลานั้น ว่าแท้จริงแล้วประชาชนคิดเห็นต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างไร

“การยึดอำนาจปี 2549 มีรูปแบบคล้ายกันกับปี 2557 ซึ่งเริ่มต้นจากรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมาก ต่อมามีการชุมนุมประท้วงเดินขบวน นำไปสู่การยุบสภา เมื่อยุบสภาจึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งมักถูกขัดขวางและยื้อไม่ให้เกิดขึ้นตามเวลาอันสมควร ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีส่วนอย่างสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าว จนเป็นที่มาของการยึดอำนาจ”

อดีตรัฐมนตรีผู้นี้ยังเห็นว่าการคอร์รัปชันที่เป็นหนึ่งในข้ออ้างของการยึดอำนาจนั้นจะเห็นว่ากลไลตรวจสอบที่สร้างขึ้นหลังยึดอำนาจจะมุ่งตรวจสอบเฉพาะฝ่ายการเมือง ไม่สนใจข้อครหาของคณะรัฐประหาร ขณะเดียวกันกลไกตรวจสอบในระบบรัฐสภาก็ไม่มี

“การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง สังคมต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะประชาชนจะต้องไม่เชื่อว่าคนกลุ่มเล็กๆซึ่งไม่ได้มีที่มาจากประชาชน จะมาสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชน”

ประโยคนี้ของ นายพงษ์เทพ ไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริง

ถ้านับจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เวลาผ่านมา 11 ปี ประเทศเข้าใกล้สิ่งที่คณะรัฐประหารประกาศว่าจะทำหรือไม่

ถ้านับจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เวลาผ่านมากว่า 3 ปี ทุกอย่างก็ยังมีแนวโน้มเป็นไปในรูปแบบเดิม ภายใต้การทำงานของคนกลุ่มเก่าหน้าเดิมที่ทำให้ประเทศตกหลุมดำความขัดแย้งมากว่าทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม รัฐประหารทั้งสองครั้งทำให้ประชาชน “ตาสว่าง” เข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นว่า ใครเป็นใครในประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

การที่ผู้มีอำนาจสั่งสอนประชาชนอย่าเป็นกบเลือกนายนั้น แม้จะเลือกผิดก็ยังดีที่มีโอกาสได้เลือกและสามารถท้วงติง ขับไล่เพื่อเลือกใหม่ได้ ซึ่งย่อมดีกว่า “นาย” ที่ยึดอำนาจแต่งตั้งตัวเองเข้ามา โดยประชาชนไม่มีสิทธิเลือก


You must be logged in to post a comment Login