วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภัยเสรีนิยม ภาพจางของทหารอาชีพกับสังคมไทยที่เปลี่ยนไม่ผ่าน

On September 21, 2017

มรดกกองทัพและสังคมจากการไม่เสียเอกราช เสรีนิยมในฐานะภัยคุกคามใหม่ของกองทัพ-ฝ่ายอนุรักษ์นิยม การเมืองเปลี่ยนผ่าน โจทย์ใหญ่ที่ไทยมีแต่ฝัน สังคมไทยไม่เคยถก ‘ทหารอาชีพ’ กับกองทัพที่ไม่ได้ถูกทดสอบด้วยสงคราม คาดการเมืองอนาคตมีเผด็จการทหาร ข้าราชการเอี่ยว หวัง ปชต. เสรีนิยมผ่านช่วงลำเค็ญให้ได้

ซ้ายไปขวา: พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สุรชาติ บำรุงสุข

19 ก.ย. 2560 มีการจัดงานรัฐศาสตร์เสวนา ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทยในหัวข้อ “อย่าให้เสียของ ประชาธิปไตย 99% และประชารัฐ ในระบอบรัฐประหาร 2557” มี ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข ร่วมสนทนา ที่ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ถอดความ ดังนี้

มรดกกองทัพ – สังคม จากโชคร้ายในโชคดีของการ ‘ไม่เคยเสียเอกราช’

สุรชาติกล่าวว่า สิ่งที่น่าคิดคือรัฐประหารครั้งนี้ถือว่าอยู่นานมาก คำถามใหญ่ที่หลายคนเริ่มถามคือ ทำไมรัฐประหารรอบนี้อยุ่นานกว่าที่คิด ถ้าย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ที่มีการทำรัฐประหาร ผมคิดว่าหลายคนประเมินว่าอย่างน้อยก็อยู่ 2 ปี แต่วันนี้เราพูดกันอยู่ในปีที่ 4 คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ถ้าเรามองภาพจากที่ฝรั่งทำการ์ตูนให้เรา เราคงต้องเรียกสังคมไทยว่าเป็นสังคมรัฐประหาร (Coup-prone society) ที่มีสูตรการเมืองไม่ซับซ้อน มีปัญหาเมื่อไหร่ก็ยึดอำนาจ

ถ้ามองประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบยาวๆ ปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นมรดกที่ใหญ่มากคือการที่ไทยไม่เป็นอาณานิคม ทำให้กองทัพไม่เคยมีฐานะเป็นขบวนติดอาวุธที่นำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกองทัพเมียนมาร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ธงพวกเขาชัดคือธงในสงครามเรียกร้องเอกราช รัฐที่ผ่านการเรียกร้องเอกราชมีรูปธรรม แต่ในบริบทสยามที่เราไม่ก่อรูปอุดมการณ์ให้เกิด ในบริบทอย่างนี้ ถ้าผมตีความ ผมว่าอุดมการณ์ทหารไทยคือโซตัส ผมว่าชัด แต่ในความเป็นระบบโซตัสทางความคิดมันไปเสริมมากกว่าโซตัสแถวจุฬาฯ หรือท่าพระจันทร์ ที่อย่างมากก็ทำได้แค่ด่ารุ่นน้อง แต่โซตัสระดับชาติคือคนถือปืน เวลาโซตัสถือปืนในอดีต ปืนกลายเป็นพลังในสังคมประเทศโลกที่สาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมประเทศโลกที่สามผ่านเงื่อนไขกระบวนการสร้างชาติหลังได้รับเอกราชคล้ายๆ กัน รวมถึงสยามที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมด้วย คือเงื่อนไขการสร้างชาติผ่านการรัฐประหาร ทั้งในเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา โซตัสที่ถือปืนคือความเชื่อชุดหนึ่ง แต่ถ้าถอดฐานรากอุดมการณ์ออกมาก็ไม่ต่างกัน มันคือชีวิตในสถาบันทหาร ความท้าทายคือการเมืองอีกชุดหนึ่งที่มาเป็นคู่แข่งหลังได้รับเอกราชคือลัทธิสังคมนิยม ผมว่าปัญหากองทัพในรัฐโลกที่สามหลังได้รับเอกราชคือการสู้กับการขยายตัวของลัทธิสังคมนิยมเป็นเรื่องใหญ่ บางประเทศแพ้ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา แต่บางประเทศก็สู้ชนะ สมัยล่าอาณานิคมก็ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคม สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ก็คือสยามประเทศ ในภาวะที่เราชนะ โครงสร้างทางสังคมไม่ได้ถูกเปลี่ยนเหมือนที่ประเทศผ่านเงื่อนไขการต่อสู้ชุดใหญ่ๆ ในความโชคดีของเราก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรในตัวเรา

เปลี่ยนผ่านวิทยา: โจทย์ประเทศโลกที่ 3 หลัง รบ. ทหารลาโรง ไทยมีฝันแต่ไร้แผนทำเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน

เอาเข้าจริงกระแสประชาธิปไตยที่ขึ้นมาท้าทายกองทัพเพิ่งเริ่มเมื่อคริสตวรรษที่ 1980 เมื่อมีการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลสมัยจิมมี คาร์เตอร์ ขึ้นเป็นผู้นำที่ทำเนียบขาว แล้วตัดสินใจว่าสิทธิมนุษยชนจะเป็นแกนหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเป็นแกนกลางในการตัดสินปัญหาความมั่นคง จากนั้นไทยเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เป็นความอิหลักอิเหลื่อที่สุดระหว่างรัฐบาลกรุงเทพฯ กับรัฐบาลวอชิงตัน แต่ผลของการที่สหรัฐฯ ปรับทิศทางนโยบายจะเห็นผลกระทบใหญ่อยู่ที่ภูมิภาคลาตินอเมริกา

บวกกับวิธีคิดว่าทหารสามารถเข้ามาบริหารจัดการรัฐสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่พวกผมที่เรียนวิชาทหารมาที่ถูกสอนว่าจุดอ่อนที่สุดของกองทัพคือ แต่ยิ่งสังคมทันสมัยเท่าไหร่กองทัพก็ยิ่งล้าสมัย สังคมที่พัฒนาเรื่อยๆ มีปัญหาคือ รัฐสมัยใหม่อย่างที่เราเป็นมีความซับซ้อนขึ้น บวกกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ บวกกับสิ่งที่ผมเรียกว่าเสนาประชารัฐ คือทหารลงไปเล่นเศรษฐกิจ สุดท้ายทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในคริสศตวรรษ 1980 ในบริบทลาตินอเมริกาทำให้สิ่งที่กำลังเกิดในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นละครลาตินอเมริกาที่มีฉากในกรุงเทพฯ เปลี่ยนตัวแสดง เปลี่ยนบริบทบางอย่าง แต่โดยโครงสร้าง โดยวิถี มีความคล้ายกันมาก ในบริบทลาตินอเมริกาที่ได้รับผลพวงจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ สุดท้ายนำไปสู่วิชาใหญ่ที่สุดในยุคนั้นเมื่อทหารเริ่มถอนตัวจากการเมือง มีปีกนักวิชาการตั้งคำถามว่าเราจะเรียกสภาวะนี้ว่าอย่างไร นำไปสู่การเกิดวิชาการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หรือการเปลี่ยนผ่านวิทยา เราเห็นรัฐบาลทหารถอยจากการเมือง กลับสู่การเลือกตั้งแล้วตามมาด้วยการกลับสู่อำนาจของรัฐบาลพลเรือน ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐประหารไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นต่อเมื่อการเลือกตั้งเกิด แล้วเปลี่ยนนัยของการส่งมอบอำนาจสู่รัฐบาลในอีกรูปแบบหนึ่ง การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนผ่านวิทยาสามารถตอบด้วยรูปธรรม ได้จากการเปลี่ยนผ่านระทหารสู่ประชาธิปไตยในยุโรปใต้ เช่นสเปนหรือโปรตุเกส หรือในลาตินอเมริกา รวมถึงการเปลี่ยนผ่านระบอบทหารในเอเชียในระนาบเวลาเดียวกัน ในไทยก็เห็นการเปลี่ยนผ่านการออกจากเงื่อนไขระบอบอำนาจนิยมในยุครัฐบาลเกรียงศักดิ์ที่พาสังคมไทยออกจากเงื่อนไขระบอบอำนาจนิยม ถ้าคิดอย่างนี้ คำถามที่ใหญ่มากคือจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่านได้อย่างไม่สะดุดล้ม คำถามใกล้ตัวที่สุดในกรณีเมียนมาร์ ผมพูดเสมอว่าสนับสนุน และเห็นใจซูจี ในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องที่พันกับปัญหาชาตินิยม ชนกลุ่มน้อย และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความเสี่ยงต่อการไปสู่อำนาจนิยมอีกครั้งหากรัฐบาลพลเรือนทำหน้าที่ได้ไม่ดี ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงที่ต้องจัดการให้ได้ ในบริบทอย่างนี้สิ่งนี่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนผ่านในไทยมันเปลี่ยนแล้วไม่เคยผ่าน แต่พอมันเปลี่ยนไม่ผ่านมันคือระบอบการเลือกตั้งถูกโค่นล้มจนประชาธิปไตยเดินต่อไม่ได้ ถึงปีรัฐประหารเดือน ก.พ. 2534 ที่ รสช. ทำรัฐประหารประมาณปีเดียว แล้วพอถึงเดือน พ.ค. 2535 ทุกอย่างก็จบ พร้อมเกิดจินตนาการว่ารัฐประหารปี 2534 จะเป็นครั้งสุดท้ายของการเมืองไทย

จากนั้นเวทีระหว่างสื่อกับนักวิชาการมีครั้งเดียวและที่เดียวแล้วก็จบไปเลย คือที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ แต่ปัญหาคือคุยครั้งเดียวซึ่งคุยครั้งเดียวมันไม่จบ หลังจากคุยกันครั้งนั้นทุกคนมีความฝันว่ารัฐประหารจะไม่เกิดอีกแล้ว แต่ผมไม่เคยเชื่อเลย ถ้าเราไม่มีขีดความสามารถการจัดการระยะเปลี่ยนผ่าน สุดท้ายรัฐบาลพลเรือนจะไม่สามารถประคับประคองการเปลี่ยนผ่านได้ สิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือจะทำอย่างไรให้มีขีดความสามารถ มียุทธศาสตร์ให้การเปลี่ยนผ่านเดินได้ เอาเข้าจริงเรามีสองอย่าง คือมีฝันและหวัง และเชื่อว่าทหารจะไม่ออกมาทำรัฐประหารอีก แต่ไม่มีอะไรเกินไปกว่านั้น สุดท้ายทหารก็หวนกลับมา ตกลงว่ามันเกิดอะไรกับสังคมไทย

‘เสรีนิยม’ ในฐานะภัยคุกคามอนุรักษ์นิยม ทหาร กับชนชั้นกลางหัวก้าวหน้า (ยกเว้นเรื่องการเมือง)

ผมคิดว่ารัฐประหารปี 2549 และปี 2557เป็นชุดเดียวกันตามบริบททางการเมืองไทย รัฐประหาร สองอันนี้เป็นชุดเดียวกัน แค่ต่างผู้นำและเวลา ในอดีต รัฐประหาร เกิดจากภัยคุกคามสังคมนิยม ถ้าคิดอย่างนี้ รัฐประหาร ปี 2534 เป็นครั้งสุดท้ายในสงครามเย็น เท่ากับตอบเราว่าโจทย์ใหม่จากปี 2549 และ 2557 เป็นรัฐประหารหลังสงครามเย็น เกิดบนบริบทที่ไม่มีภัยคุกคามของลัทธิสังคมนิยม ลองคิดต่อว่าถ้าทุกวันนี้ท่านเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร วันนี้ปีกอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะผู้นำทหารหัวเก่ากับอนุรักษ์สุดโต่งกำลังเผชิญภัยคุกคามชุดใหม่ สิ่งที่เรากำลังเห็นทั้งหมดหลังสงครามเย็น สิ่งที่เกิดในไทยคือการสู้กันของอุดมการณ์สองชุด คือการปะทะระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม แต่บังเอิญในฝ่ายหลังมีโซตัสที่ถือปืน ทำให้การต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมนั้นลำบาก การติดอาวุธให้ฝ่ายเสรีนิยมเป็นแค่ราคาคุย แทบเป็นไปไม่ได้หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การจัดตั้งมวลชนติดอาวุธขนาดใหญ่แทบเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่มีป่าและฐานที่มั่นในชนบทด้วย ซึ่งก็ตอบโจทย์แล้วว่าไม่มีภัยคุกคามแบบเก่า

แต่สิ่งทีน่าสนใจคือ ภัยคุกคามแบบใหม่สำหรับผู้นำแบบอนุรักษ์นิยมหรือผู้นำที่เป็นทหารคือแนวคิดเสรีนิยม ถ้าเป็นแบบนี้ เรากำลังอยู่ในยุคที่เสรีนิยมปะทะเสนานิยม และผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่น่าคิดที่สังคมไทยเวลามองเสรีนิยม ผมคิดว่าเราชัดเจนระดับหนึ่งว่าเราเอาและไม่เอาอะไร แต่พอพูดถึงเสนานิยมผมว่ามันมากไปกว่าเรื่องรัฐประหาร เพราะมันโยงกับชุดอุดมการณ์ของอนุรักษ์นิยม ครั้งสุดท้ายที่ชนชั้นกลางสู้เพื่อประชาธิปไตยมีสองครั้งใหญ่ คือเหตุการณ์เมื่อ พ.ค. 2535 และการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จากนั้นทำไมชนชั้นกลางกลางไทยย้ายไปเป็นปีกอนุรักษ์นิยม ทฤษฎีที่ผมสอนสมัยเรียน ปริญญาตรีที่ชนชั้นกลางคือฐานล่างประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันนี้ ชนชั้นกลาง หันหลังให้ประชาธิปไตย ในไทยชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมหันไปกลัวลัทธิเสรีนิยม ทั้งที่พวกเขาก็เติบโตจากการศึกษา เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่พวกเขาเติบโตมาก็เป็นเสรีนิยมไม่ใช่หรือ หรือชนชั้นกลางไทยทุกวันนี้มีสมองสองซีก คือซีกเสรีนิยมเป็นเรื่องการกิน อยู่ เที่ยว แต่ทางการเมืองก็ยังเป็นอนุรักษ์นิยม สมมติถามเล่นๆ ว่า ชนชั้นกลาง ไทยจะเปลี่ยนสมองเป็นเสรีนิยมได้ทั้งสองซีกเลยได้หรือไม่ แต่เมื่อไหร่ที่ถกการเมืองมันจะออกอาการไม่รับประชาธิปไตย ไม่รับการเลือกตั้ง เกลียดนักการเมือง และอาจพ่วงเกลียดทักษิณ เกลียดยิ่งลักษณ์

จริงๆ ลาตินอเมริกาใช้คำนี้มานานตั้งแต่ 1960 เรียกพวกนี้ว่าเป็นกลุ่มต่อต้านการเมือง (Anti politics Ideology) ถ้าถอดออกมา คำนี้ก็ถอดความหมายได้ว่าต่อต้านการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ผมคิดว่ามันเป็นชุดความคิดที๋ซับซ้อนถ้ามองบริบทการเมืองในแต่ละประเทศ วันนี้ชุดต่อต้านการเมืองในสังคมตะวันตกก็เป็นตัวแบบอย่างทรัมป์ พวกประชานิยมปีกขวาก็ใช่ สิ่งทีเ่ราเห็นวันนี้เป็นโจทย์ใหม่ตรงที่แต่เดิมปีกอนุรักษ์นิยมไทยกับทหารไทยรบกับสังคมนิยม กับคอมมิวนิสต์ ทุกวันนี้ปีกอนุรักษ์นิยมสู้กับกองทัพเสรีิยมที่ไม่มีอาวุธ ส่วนหนึ่งเป็นพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มสาว ส่วนหนึ่งเป็นพี่น้องอย่างพวกเราที่เชื่อว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ โจทย์คือกองทัพกำลังคิดอะไร ถ้ามองโซตัสในกองทัพอีกมุมหนึ่ง ทหารเชื่อว่าพวกเขาเป็นเทพผู้พิทักษ์แห่งชาติ (National Guardian) แปลว่าทหารคิดอะไร ทหารต้องถูก ถ้าผลประโยชน์ของกองทัพถูกคุกคามเท่ากับผลประโยชน์ของชาติถูกคุกคาม ถ้ากองทัพยังมีชุดความคิดแบบนั้นสังคมไทยจะหนีจากรัฐประหารไม่ได้

หน้าตา ‘ทหารอาชีพ’ ที่สังคมไทยไม่เคยถก กับกองทัพที่ไม่ได้ถูกทดสอบด้วยสงคราม

จนถึงวันนี้ถ้าเรานับการรัฐประหารจริงๆ ทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จก็่มีจำนวนทั้งหมด 27 ครั้ง แต่เคยสังเกตไหม นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สังคมไทยไม่เคยถกเรื่องสร้างกองทัพจริงๆ ไม่เคยถกเรื่องการทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ เราไม่เคยมีจินตนาการว่าสุดท้ายถ้าจะสร้างรัฐ ตกลงรัฐชุดนี้จะสร้างกองทัพอย่างไร เราอยากเห็นหน้าตากองทัพเป็นอย่างไร มีบทบาททางการเมืองแค่ไหน ผมชอบคำบอกของมุสตาฟา เคมาล หรืออตาเติร์ก ผู้นำกลุ่มยังเติร์กในตุรกีเมื่อมีทหารส่วนหนึ่งพยายามเข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยอตาเติร์กกล่าวว่า ทหารต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะถ้าทหารทำทั้งสองอย่างจะไม่มีทั้งกองทัพที่ดีและพรรคการเมืองที่ดี และผมว่านั่นคือคำตอบ

ในบริบทที่เราไม่เคยมีชุดความคิด ไม่เคยมีการต่อสู้ทางความคิดเรื่องความเป็นมืออาชีพของกองทัพไทย วันนี้เราดูคลิปคุณทวีป (พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ – ผู้สื่อข่าว) ที่แก้ตัวกับต่างประเทศว่ากองทัพไทยไม่ได้มีหน้าที่รบ แต่มีหน้าที่พัฒนาประเทศไทย ก็พูดได้ทั้งหมด แต่อีกคำถามใหญ่คือ สรุปกองทัพไทยเคยรบไหม จะมีก็สู้รบสงครามในบ้าน หรือไม่ก็ที่ส่งไปในเวียดนามและเกาหลี กองทัพไทยไม่เคยถูกทดสอบความเป็นทหารอาชีพด้วยสิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือการแพ้และชนะในสงคราม ของไทยเราในยุคอาณานิคมก็ไม่ตกเป็นอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเราก็ชนะ สงครามโลกครั้งที่สองเราอยู่กับญีุ่ปุ่น พอญี่ปุ่นแพ้เราก็ไม่แพ้อย่าไปคิดมาก สงครามเย็นเราเข้าร่วมกับสหรัฐฯ ต่อมาเวียดนามแตก กัมพูชาแตก ลาวแตก ทุกคนเชื่อว่าปี 2520 ไทยจะเป็นโดมิโนตัวที่สี่ สุดท้ายก็ไม่เป็น เราไม่เคยเจออะไรเลยนอกจากความโชคดี ปัญหาคือความโชคดีไม่ไ่ด้ตอบโจทย์ในมิติด้านการทหาร แล้วสรุปกองทัพไทยจะเอายังไง หลังสงครามคอมมิวนิสต์ กองทัพประเทศอื่นผ่านการปฏิรูปหมด แต่กองทัพไทยก็ไม่ได้ปฏิรูปหลังสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ทั้งในและนอกบ้าน เมื่อไม่ผ่านการปฏิรูปกองทัพสังคมก็ไม่ถูกกระทบอะไร

ในขณะเดียวกัน อำนาจของกองทัพก็เปราะบางมาก เพราะฐานอำนาจกองทัพอยู่ด้วยอำนาจของชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วน สงครามต่อสู้กับเสรีนิยมชุดนี้อาจจะยากกว่าสงครามที่พวกเขาต่อสู้กับสังคมนิยม สงครามที่พวกเขาต่อสู้กับสังคมนิยมนั้นง่าย เมื่อพวกเขาเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ กองทัพไทยและรัฐไทยสามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าชนชั้นนำ ผู้นำทหารและผู้นำสายอนุรักษ์นิยมเมื่อเปลี่ยนวิธีการต่อสู้แล้วจะเอาชนะโลกที่เป็นเสรีนิยมได้อย่างไร แม้เราเห็นคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เทเรซา เมย์ และการแยกสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปได้ในปี 2559 แต่ในปีถัดมาก็ไม่เห็นกระแสชาตินิยมปีกขวาขึ้นในยุโรปเท่าที่ควร เพราะพรรคประชานิยมปีกขวาที่แพ้ในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ก็สะท้อนว่าประชานิยมปีกขวาก็อ่อนแรงลงเหมือนกัน เท่ากับตอบว่ากระแสเสรีนิยมอาจจะดำรงอยู่ได้มากกว่าที่เราคิด ใครที่คิดว่าทรัมป์ขึ้นมาแล้วโลกาภิวัฒน์จบ โลกจะเปลี่ยนไปสู่ฝั่งขวาทั้งหมด ผมว่าเราใช้จินตนาการแบบฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจในปี 1933 ไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าทรัมป์เป็นฮิตเลอร์ แต่ผมไม่คิดว่าทรัมป์จะเปลี่ยนโลกได้เหมือนที่ฮิตเลอร์ทำในปี 1933 ในโจทย์นี้ความน่าสนใจกลับมาที่บ้านตัวเองว่าจะทำอย่างไร ถ้าอังกฤษมี Brexit ในการพาสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ผมก็เรียกร้องให้มี Mixit หรือการเอากองทัพออกจากการเมืองบ้างได้ไหม เพราะผมไม่เชื่อว่าเราจะสร้างกองทัพที่เห็นสถาบันของทหารอาชีพได้เมื่อกองทัพอยู่ในการเมือง ย้อนกลับไปที่คำเตือนของมุสตาฟา เคมาล ก็ต้องเลือกว่าจะอยู่ในกองทัพหรืออยู่ในการเมือง และเหตุการณ์ในลาตินอเมริกาตอบคำถามของเคมาล เมื่อกองทัพอยู่ในการเมืองนานๆ สุดท้ายทหารรุ่นใหม่อีกชุดตัดสินใจว่าพวกเขาจะไม่แบกภาระที่ทหารชั้นผู้ใหญ่ทิ้งไว้ สุดท้ายโจทย์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอเมริกาคือทหารระดับกลางรวมถึงทหารระดับล่างบางส่วนไม่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร เชื่อว่าเอากองทัพออกจากการเมืองดีกว่า เพราะเชื่อว่าเป็นโอกาสในการสร้างและพัฒนากองทัพให้เป็นจริง

การเมืองไทยในมือเผด็จการทหาร ข้าราชการ (บังเอิญ) ย้อนยุคจอมพล ป.

วันนี้ถ้าสมมติว่าต้องเขียนตำราหลักรัฐศาสตร์ไทย ถ้าอธิบายจากปรากฏการณ์ปัจจุบันจะพบว่า อำนาจทางรัฐศาสตร์มี 3 ส่วน คือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ดูจากการต่อสู้ที่ผ่านมา อำนาจในสังคมไทยกลายเป็น 5 สถาบัน เพิ่มกองทัพและองค์กรอิสระเข้ามา วันนี้กองทัพมีสถานะเหมือนเสาแห่งอำนาจชุดหนึ่งในสังคมไทย แล้วในบริบทอย่างนี้ หลายคนชอบอธิบายเรื่องรัฐพันลึก แต่สำหรับผมคอนเซปต์นี้ไม่เวิร์คเลย แต่คอนเซปต์จริงๆ อยู่ในบรรทัดแรกของหนังสือรัฐและการปฏิวัติของเลนิน ก็คือองค์กร ศาล ตำรวจ ทหารทั้งหมดคือกลไกรัฐ สิ่งทีเรากำลังเห็นคือกลไกรัฐชุดหนึ่งกำลังขึ้นมาเป็นเสาอีกเสาหนึ่งในเสาแห่งอำนาจของรัฐ ถ้าเราเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยไม่ได้ ในอนาคตยังมี 5 องค์ประกอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าคิดต่อว่า ตกลงการเมืองชุดนี้จะจบอย่างไร เพราะไม่ได้เริ่มที่รัฐประหาร 2549 แต่มันคือการสู้กับปีกอนุรักษ์นิยมที่รับแนวคิดเสรีนิยมไม่ได้ แล้วในการรับไม่ได้ พรรคการเมือง นักการเมืองกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ที่พวกเขาต้องทำลาย ผมคิดว่าในการรัฐประหารปี 2557 นักการเมืองถูกป้ายสีมากที่สุดจนเราเกิดจินตนาการว่ารัฐในอนาคตสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีนักการเมืองก็ได้ หรือการกลับมาอยู่ในระบอบราชการอำนาจนิยม แต่ของไทยมี Military Bereaucratic Authoritariannism หรือเสนาอำมาตยาธิปไตย วันนี้เราเห็นรัฐไทยถูกขับเคลื่อนด้วยองค์กรในรูปแบบเสนาอำมาตยาธิปไตย ผมตั้งข้อสังเกตุว่า ค่านิยม 12 ประการปัจจุบันมันคือรัฐนิยม 12 ประการ หรือเขากำลังส่งสัญญาณว่าเรากำลังกลับสู่ยุคเชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย เพราะหลายชุดความคิดไปซ้อนทับกับสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเอาทหารกลับไปนั่งในรัฐวิสาหกิจเป็นความคิดแบบจอมพล ป. ซึ่งจบเมื่อ 14 ต.ค. 2516 สิ่งที่ผมตกใจคือคนในยุครุ่นผมที่สู้มาตั้งแต่ 14 ต.ค. กลับมาเห็นความคิดชุดนี้ในวันนี้ การเมืองมันถอยมาก โจทย์เรื่องการถดถอยของสถาบันทหารในการเมืองเป็นสิ่งที่ผมไม่กล้าตอบ เพราะสงครามระหว่างเสนานิยมกับเสรีนิยมที่มีมายาวนานจะจบลงอย่างไร

โลกล้อมไทย ตัวอย่างผู้น้อยปฏิเสธคำสั่งผิดกฎหมาย หวัง ปชต. เสรีนิยมไทยผ่านช่วงลำเค็ญให้ได้

สุรชาติตอบคำถามที่ถามว่า ไทยจะนำหลักการอนุญาตให้ทหารชั้นผู้น้อยปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ว่า เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกาใต้ในระยะเปลี่ยนผ่าน มีความพยายามออกกฎหมายที่ขีดเส้นแบ่งคำสั่งทางทหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำลังพลก็มีสิทธิ์ไม่ต้องปฏิบัติตาม บ้านเราไม่อยู่ถึงข้ั้นนั้น เป็นแต่เพียงไม่รู้ว่าจะทำเช่นนั้นได้ไหม แต่ของเราออกแบบนิรโทษกรรม ของลาตินออกเป็นกติการทางการเมืองว่าคำสั่งที่ไม่ชอบ เช่นสั่งให้ยึดอำนาจก็สามารถไม่ทำตามได้เพราะผิดกฎหมาย ในหลายสังคมมีการนำทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารมาลงโทษได้ เช่นในกรณีเออโดกันก่อนที่จะเผชิญกับรัฐประหารครั้งที่แล้วก็มีการจับนายพลเคยยึดอำนาจขึ้นศาล บางคนก็ติดคุก หรือการสอบสวนกรณีกวางจูในเกาหลีใต้ โจทย์นี้ถ้ามองจากมิติต่างประเทศคือสังคมไทยไม่ได้เดินไปไหน มีสังคมคู่ขนานสามสังคม ที่ทำรัฐประหารในสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีไทย ฟิจิ บูร์กินาฟาโซ แต่บูร์กินาฟาโซนั้นคนในสังคมลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหาร สุดท้ายอยู่ได้แค่ 7 วัน แต่เราไม่ค่อยเห็นภาพอย่างนั้น บ้านเราไม่ค่อยรู้สึก เป็นไปได้อย่างไรรัฐประหารทำได้ 7 วัน

เราเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ๆ สู้ ผมว่าถ้าเราเห็นการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าสู้ก็สู้บนถนน แต่ในยุคดิจิตัล สงครามจริงๆ และการเมืองก็อยู่ในไซเบอร์ ผมแทบไม่รู้สึกอะไรเลยกับคนรุ่นใหม่ที่กดไลก์หรือกดซัพพอร์ตอยู่ในไซเบอร์แล้วก็บอกว่าสู้อย่างนั้น ผมว่าในวิธีการต่อสู้ยุคใหม่ ไซเบอร์ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง ถ้าเรามองอาหรับสปริงที่กรุงไคโร การเปิดให้มีการชุมนุมที่จัตุรัสทาฮีร์ก็เริ่มจากการโพสท์ข้อความเชิญชวนเล็กๆ ข้อความเหล่านี้มีการตอบรับจนนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลฮอสนี มูบารัค ในบริบทเมืองไทยผมว่าปัจจุบันนักรบไซเบอร์เยอะ สงครามที่ทหารปวดหัวที่สุดมันคือสงครามไซเบอร์ หมายความว่าโอกาสที่ไทยจะกลับสู่ฤดูใบไม้ผลิอาจจะไม่ไกลมาก ผมอาจจะฝัน แต่ผมจะบอกพวกเราว่า ชีวิตผมผ่านมาทั้ง 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ และผมนั่งมองการเมืองทั่วโลกด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่ง ถ้าฤดูหนาวไม่ลำเค็ญ เราจะไม่รู้สึกถึงฤดูใบไม้ผลิที่แสนหวาน อย่างไรก็ต้องผ่านฤดูหนาวอันลำเค็ญก่อนที่ฤดูใบไม้ผลิจะมาถึงอีก ไม่ได้บอกว่าเราต้องโลกสวย แต่ถ้าเราตัดสินใจจะยืนกับกระแสเสรีนิยมและประชาธิปไตย ผมว่าการต่อสู้ชุดนี้ไม่จบง่าย ซับซ้อนกว่ายุคคอมมิวนิสต์ ผมว่ากระแสประชาธิปไตยไม่ได้ตายเพราะทรัมป์มา ผมว่าความน่ากลัวมันลดน้อยลงกว่าที่คิดหลังการพ่ายแพ้ของปีกขวาในยุโรป ตอนนี้ก็รอดูอย่างเดียวว่าพรรคของแองเจลา แมร์เคิลจะชนะหรือเปล่า เพราะเป็นปีกขวาแบบไม่สุดโต่ง ถ้าเธอชนะก็หมายความว่าในประเทศหลักของยุโรป ปีกขวาอาจจะไม่ได้ขึ้น ก็ยังตอบเราอย่างหนึ่งว่า กระแสประชาธิปไตยยังอยู่ แล้วถ้าท่านอ่านข่าววันนี้ หนุ่มสาวอเมริกาสว่นหนึ่งเป็นเสรีนิยม และมีส่วนหนึ่งเป็นสังคมนิยม จึงมีกระแสเบอร์นี แซนเดอร์ กระแสนี้กำลังเป็นที่พูดคุยในหมู่คนอเมริกันรุ่นใหม่ คือไม่เอาทั้งเดโมแครต ไม่เอาทั้งรีพับลิกัน แต่ไม่กลับไปเป็นสังคมนิยมแบบมาร์กซ์ แต่เชื่อว่าสังคมจะต้องเดินหน้าไปในอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นอย่าคิดว่าปีกขวาจะชนะตลอด หรือ Brexit จะอยู่ได้ยาว แต่มันเป็นรัฐประหารบนความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารปี 2549 หรือ 2557 เราเรียกในภาษาลาตินอเมริกาว่า เป็นการรัฐประหารของชนชั้นกลางเท่านั้นเอง หรือความพยายามยึดอำนาจของสังคมไทยโดยชนชั้นกลาง แต่ก็อย่างที่พูด ชนชั้นกลางนั้นเปลี่ยนฝั่งได้ตลอดเวลา ก็ได้แต่ฝันว่าฤดูใบไม้ผลิจะกลับมา


You must be logged in to post a comment Login