วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

น้ำเท่าสายเข็มขัด / โดย กิ่งเหมย

On September 25, 2017

คอลัมน์ : วิถีบูรพา

ผู้เขียน : กิ่งเหมย

ฉบับนี้ขอเสนอสุภาษิตที่ว่า “อี อี ไต้ สุ่ย” หรือ “น้ำเท่าสายเข็มขัด”

ตำนานเล่าว่า จักรพรรดิสุยเหวินตี้ หยางเจี้ยน ได้ล้มราชวงศ์โจวและสถาปนาราชวงศ์สุย ปกครองบ้านเมืองได้อย่างเป็นปึกแผ่น ทางด้านเหนือใช้นโยบายที่สร้างความสุขให้แก่ประชาชนและกองทหารก็เข้มแข็ง แต่ตอนนั้น แคว้นเฉาที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำฉางเจียงกลับแข็งข้อ ไม่สนใจนโยบายของทางราชสำนักสุย เพราะเชื่อว่า ทางราชสำนักสุย ไม่สามารถข้ามน้ำมาต่อสู้ได้ง่าย

ครั้งหนึ่ง จักรพรรดิสุยเหวินตี้ได้เชิญให้ เกาอิ่ง มาพูดคุยเกี่ยวกับการปราบแคว้นเฉา เกาอิ่งได้กราบทูลจักรพรรดิว่า “พืชพรรณของทางใต้แม่น้ำนั้นสุกเร็วกว่าทางเหนือแม่น้ำของพวกเรา ดังนั้น พวกเราอาศัยฤดูเก็บเกี่ยวของพวกเขามาเป็นประโยชน์ โดยทำเป็นยกกองทัพเข้าไป แน่นอนว่าทางการย่อมหันมาสนใจเตรียมทหารเพื่อป้องกันการรุกรานมากกว่าการเก็บเกี่ยว

“จากนั้น พอพวกเขาเตรียมพร้อมเสร็จแล้ว เราก็ไม่ยกกองทัพไป ทำเช่นนี้หลายๆครั้ง จนพวกเขาไม่เชื่อ และไม่เตรียมพร้อม พวกเราค่อยยกกองทัพเข้าไปปราบปราม อีกทั้ง การเก็บผลผลิตของทางใต้แม่น้ำก็มักจะเก็บในยุ้งฉางที่ทำจากฟางและหญ้า หากเราเผาทำลายหลายๆปี สุดท้ายประเทศก็จะอ่อนแอและง่ายที่จะปราบปราม”

สุยเหวินตี้ปฏิบัติตามแผนของเกาอิ่ง โดยดำเนินการทั้งหมด 7 ปี สุดท้ายในปี ค.ศ. 588 ก็ได้ยกกองทัพจริงเข้ายึดแคว้นเฉา พระองค์กล่าวกับเกาอิ่งว่า “ข้าคือพ่อแม่ของประชาทั่วหล้า หากเพียงเพราะแม่น้ำสายเล็กๆเท่าเข็มขัดมาเป็นอุปสรรค ข้าก็จะไม่ช่วยเหลือประชาชนของข้ากระนั้นหรือ”

สุยเหวินตี้บัญชาให้หยางกว่างเป็นแม่ทัพกองทหารหนึ่งแสนเข้าตีแคว้นเฉา สุดท้ายสามารถปราบปรามและทำลายแคว้นเฉาได้สำเร็จ

น้ำเท่าสายเข็มขัด หมายถึง ถึงแม้ว่าจะมีแม่น้ำ ทะเลสาบหรือทะเลมหาสมุทรใดมากั้นขวาง หากแต่ระยะทางก็ไม่อาจจะขวางกั้นได้

 


You must be logged in to post a comment Login