วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อาหารผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง / โดยฝ่ายโภชนาการ ร.พ.ศิริราช

On September 25, 2017

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ฝ่ายโภชนาการ ร.พ.ศิริราช

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้หากขาดการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ซึ่งการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยควบคุมปัจจัยต่างๆที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคซ้ำได้

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

-การรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ดัชนีมวลกายเป็นตัวชี้วัดว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากมีน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วนควรจำกัดการบริโภคอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารที่มีแป้งและน้ำตาล อาหารหวานจัด อาหารไขมันสูง อาหารจำพวกแกงกะทิและของทอด เป็นต้น

-ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ควรควบคุมอาหารที่จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เนื่องจากหากมีภาวะความดันโลหิตสูงอาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้ การบริโภคอาหารเพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงมีดังนี้ 1.จำกัดการรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรสต่างๆ 2.รับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายเป็นประจำทุกวัน

-ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง อาหารประเภทไขมันมีความจำเป็นสำหรับร่างกาย เนื่องจากให้พลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทไขมัน แต่ปริมาณไขมันที่ได้รับไม่ควรเกินร้อยละ 25-30 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับจากสารอาหาร เพราะเมื่อรับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการจะทำให้เกิดโรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงได้

แนวทางในการบริโภคอาหารเพื่อลดปริมาณไขมันในเลือดมีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันหมู หมูสามชั้น เนย ครีม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม อาหารที่ทำจากกะทิ 2.จำกัดปริมาณโคเรสเตอรอลในอาหารไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม โดยรับประทานไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงอาหารทะเลบางชนิด เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมไขมันต่ำ 3.เลือกวิธีการปรุงอาหารที่ใช้ไขมันน้อย เช่น ต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ย่าง ยำ แทนการทอดหรือผัด ซึ่งใช้น้ำมันในปริมาณมาก

4.รับประทานไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารแทนการใช้น้ำมันจากสัตว์ 5.รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เนื่องจากใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมไขมันได้ 6.หลีกเลี่ยงน้ำหวาน ขนมหวานทุกชนิดที่หวาน มีน้ำตาลหรือแป้งมาก รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังแต่พอสมควร รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะสะสมเกิดเป็นไขมันได้

-ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาหารที่รับประทานเข้าไปจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส ถ้ารับประทานอาหารมากเกินไปน้ำตาลที่นำไปใช้ไม่หมดจะสะสมอยู่ในกระแสเลือด ถ้ามีมากก็จะออกมาในปัสสาวะได้ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบมากกว่าปรกติ ซึ่งโรคดังกล่าวจะส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้

หลักในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานมีดังนี้ 1.รับประทานอาหารให้หลากหลาย และรับประทานให้เป็นเวลา 2.หลีกเลี่ยงของหวานและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล 3.รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารมากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารที่มีรสหวานจัด ขนมหวาน น้ำตาลทุกชนิด ผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน น้ำหวาน ลูกอม ลูกกวาด น้ำอัดลม


You must be logged in to post a comment Login