วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์กำเนิดมวยไทย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On September 25, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ด้วยความบังเอิญที่บริษัท กูรูทีวีกรุ๊ป จำกัด ซึ่ง ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก เป็นที่ปรึกษา ได้คิดโครงการจะจัดทำภาพยนตร์สารคดี เพราะทีวีช่องดังกล่าวเป็นทีวีดิจิตอลที่พยายามทำรายการเผยแพร่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปัญญาชนคุณภาพ

ผมในฐานะคนใกล้ตัวจึงถูกดึงให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นด้วย เท่ากับถูกดึงตัวโดยอัตโนมัติให้เป็นเสมือนหนึ่งคณะที่ปรึกษาของกูรูทีวีไปโดยปริยาย

ประกอบกับในวัยหนุ่มครั้งเป็นทหารอาสาสมัครหน่วยรบ 333 ซึ่งมี พล.ต.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้บังคับบัญชา ชีวิตประสบการณ์ช่วงดังกล่าวทำให้มีโอกาสคลุกคลีในเวทีการต่อสู้ทั้งนอกและในสังเวียนเรื่องศิลปะการต่อสู้หลายแขนง รวมทั้งมวยไทยด้วย

ดร.ณัฐวุธคงเห็นว่าผมเป็นนักเขียน เคยผ่านชีวิตการชกมวยอาชีพมาบ้าง แม้ไม่มากนัก แถมพอรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ประสบการณ์บ้าๆแบบผมคงหาไม่ง่ายนัก ทั้งยังเคยผ่านงานบรรณาธิการหนังสือ จึงได้ทาบทามให้ร่วมทีมงานโดยมอบงานหลักเป็นที่ปรึกษาโครงการสารคดีมวยไทย และเป็นบรรณาธิการโครงการคาบเกี่ยวกันคือ เป็นผู้เรียบเรียงผลงานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของมวยไทย ซึ่งนักวิชาการหลายท่านและบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาค้นคว้ามา โดยหลักทั่วไปเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญวิชามวยไทยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านที่ถูกเชื้อเชิญเข้ามาร่วมงานด้วย

วิชาการเกี่ยวกับมวยไทยชุดนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ตลอดจนสภามวยไทยโลกเข้ามาสนับสนุนโครงการครั้งนี้ด้วย อันเป็นผลเกี่ยวเนื่อง เพราะทางโอลิมปิกสากลเห็นชอบที่จะให้กีฬามวยไทยเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่จะถูกบรรจุเป็นกีฬาสาธิตที่จะแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไปที่จะมาถึง

ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการที่เห็นด้วยและพยายามผลักดันกีฬามวยไทยจึงค่อนข้างจะคึกคัก โดยคาดหมายให้กีฬามวยไทยกลายเป็นมรดกโลกต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รวมถึงคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ให้ความสนใจอย่างจริงจังในเรื่องนี้เช่นกัน

เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา สภามวยไทยโลกและสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้จัดการบรรยายเชิงอภิปรายในโครงการแกะรอยมวยไทย โดยมี ดร.เทพมนตรี ลิมปพยอม ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการอิสระ เป็นองค์ปาฐกในการถ่ายทอดความรู้ว่ากีฬามวยไทยเกิดขึ้นที่ใดและมีมาคู่กับคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ น่าจะมีถิ่นฐานอยู่ที่ใดกันแน่

ดังนั้น การแกะรอยมวยไทยจึงกลายเป็นโครงการเบื้องต้นที่สำคัญซึ่งบริษัท กูรูทีวี กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้เสนอโครงการ โดยได้รับการประสานงานและเห็นชอบจากสภามวยไทยโลกและสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ประสานงานและผลักดันไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้พิจารณาสนับสนุนเปิดประวัติศาสตร์แกะรอยมวยไทย เพื่อย้อนกลับไปสู่อดีตว่ามวยไทยในประวัติศาสตร์มีข้ออ้างอิงอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากแก่อนุชน เยาวชน และประชาชนรุ่นต่อๆไป รวมทั้งในสายตาชาวโลก

การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เบื้องต้นคาดว่าจะมีการถ่ายทำเป็นสารคดีสั้น โดยนำเสนอทาง kurutelevision สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สารคดีดังกล่าวสอดคล้องกับที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเคยประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2553

เรื่องศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยนี้ นอกจากเคยประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2554 เห็นชอบว่า ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปี อันเป็นวันที่สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็น “วันมวยไทย” ด้วยพระองค์ทรงมีความสามารถด้านมวยไทยอย่างสูงยิ่ง จึงเห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติด้านศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยของสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ

การเข้ามาเป็นหนึ่งในฐานะที่ปรึกษาตามคำเชิญชวนของ ดร.ณัฐวุธ ทำให้ต้องเขียนบทความขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ และเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับกีฬามวยไทยและประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อสังเกตของตัวเอง ซึ่งเขาบอกกันว่าผมเป็นผู้รอบรู้คนสำคัญคนหนึ่ง เพื่อไม่ให้เสียศรัทธาจึงต้องเขียนบทความชิ้นนี้และเผยแพร่ในที่นี้ จะเป็นอย่างไรก็ลองอดใจและอดทนอ่านนะครับ


You must be logged in to post a comment Login