วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นายเลือกกบ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On September 25, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

19 กันยายน 2549 ผ่านมา 11 ปี ขึ้นปีที่ 12 คือรัฐประหารภาค 1 ที่คนส่วนใหญ่ลืมไปแล้ว เพราะเริ่มชินชากับการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นอยู่ในยุครัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือจะเรียกว่าเป็น มหากาพย์รัฐประหาร ก็ได้ ซึ่ง คสช. ประกาศว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะต้องไม่ “เสียของ-เสียเปล่า” (เหมือนรัฐประหาร 19 กันยาฯ)

ถ้านับเฉพาะแค่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เท่ากับ คสช. กำลังนั่งทับอำนาจสู่ปีที่ 4 และไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แสดงความหงุดหงิดทุกครั้งที่ถูกถามว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร

“ทำไมต้องให้ผมมาบอกว่าเลือกตั้งวันที่เท่าไร พอผมบอกไปวันนี้วันนั้น แล้วเวลาทำไม่ได้ก็ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจ ยื้อเอาไว้ ปัดโธ่ ขอให้เชื่อผม ผมพูดขนาดนี้แล้ว พอได้แล้ว”

นี่คือคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน แม้ยืนยันว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็พ แต่ที่ผ่านมาโรดแม็พก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เพราะมีแต่โรดไม่มีแม็พ จนถึงวันนี้ก็ไม่มีใครให้คำตอบชัดเจน แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เอง

อยู่ยาวอยู่นาน

แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังบอกว่าไม่อยากผูกมัดตัวเอง ทั้งที่ทำหน้าที่เขียนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งหรือ “กฎหมายลูก” ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเลือกตั้งปี 2561 ได้หรือไม่

การเลือกตั้งที่ว่าต้องเป็นไปตามโรดแม็พจึงไม่มีความแน่นอน ขนาดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อนเดินทางไปพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

เรื่องวันเลือกตั้งไม่ใช่แค่ผู้สื่อข่าวอยากรู้ แต่ฝ่ายการเมือง นักธุรกิจ และประชาชน ต่างก็ต้องการรู้ เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาคมโลกยอมรับและแก้ปัญหาตามครรลองระบบรัฐสภา แม้จะมีการสร้างเงื่อนไขให้ต้องทำตาม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ คสช. วางไว้ หรือมีฝ่ายที่สนับสนุนให้รัฐบาลทหารอยู่ยาว หรือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกก็ตาม

โดยเฉพาะบรรดาไอ้ห้อยไอ้โหนและนักการเมืองที่รู้ทางลมที่ออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อโดยไม่ต้องรีบเลือกตั้งนั้น นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่งของรัฐประหารไทยที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน อย่างนายประภัตร โพธสุธน แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ต่อหน้าว่าจะเป็นนายกฯ 8 ปี 10 ปีก็ไม่ว่า หากปากท้องของประชาชนอยู่ได้ การเลือกตั้งเร็วไม่ได้ประโยชน์ เพราะวันนี้ก็ยังทะเลาะกัน

เสียงของนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนาจะเป็นความคิดที่บริสุทธิ์ใจหรือเป็นเรื่องเกมการวางหมากเพื่อหวังให้ตายคากระดาน หรือคิดว่ายิ่งอยู่นานยิ่งจะสะบักสะบอมไปเอง ย่อมเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ลื่นไหลไปได้ตามสไตล์ของปลาไหลยุคดิจิตอล

11 ปีความขัดแย้งยังคงอยู่

ย้อนกลับไปคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 บิ๊กบังพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) (แต่เพราะชื่อทั้งไทยทั้งอังกฤษอาจทำให้ตีความหมายไปไกลได้กว่าที่คิด ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.) ทำให้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 คือ บิ๊กแอ้ดพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งปัจจุบันกลับไปดำรงตำแหน่งองคมนตรี

คณะรัฐประหาร 19 กันยาฯ อ้างเหตุผลว่า รัฐบาลทักษิณทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่ายของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่าการบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง ข้ออ้างการทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ (หรือแทบทุกครั้ง) ก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกเช่นกัน และต่างก็ยืนยันว่าทหารจะไม่มีการรัฐประหาร (แต่ก็ทำ) การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ล้วนอ้างความขัดแย้งและแตกแยกของประชาชนที่แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆและการทุจริตคอร์รัปชันทั้งสิ้น

โดยเฉพาะการอ้างว่ามีม็อบจะฆ่ากัน ทั้งที่ม็อบต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่ได้เผชิญหน้ากัน ดูเหมือนรัฐประหารยุค คสช. ก็เช่นเดียวกันที่ต้องมีม็อบพิสดารออกมาป่วนเมืองเหนือกฎหมาย เหมือนจะมีใครให้ท้ายเพื่อให้เข้าเงื่อนไขเปิดทางให้ทหารทำรัฐประหารทุกครั้ง ซึ่งวันนี้ความจริงก็ปรากฏชัดแล้วว่าม็อบไหนเป็น “ม็อบมีเส้น ที่ทำอะไรก็ไม่ผิด และม็อบไหนเป็น ม็อบไร้เส้น ที่พร้อมถูกเข่นฆ่าตายกลางถนน การอ้างว่ามีประชาชนหรือผู้ชุมนุมสองฝ่ายออกมาเข่นฆ่ากันดูเหมือนจะไม่เคยเกิดขึ้น แท้จริงแล้วประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายอย่างไร้อาวุธ โดยเฉพาะเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีคนตายถึง 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คนนั้น ล้วนเกิดจากน้ำมือและคำสั่งจากผู้มีอำนาจรัฐที่ถืออาวุธเคียงกายได้ตามกฎหมายทั้งสิ้น

ขณะที่การรัฐประหาร 2 ครั้งซึ่งเป็นรูปแบบเดิมๆและคนกลุ่มเดิมๆที่อ้างความขัดแย้งและการทุจริตคอร์รัปชันนั้น วันนี้ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่และยิ่งฝังลึก การทุจริตคอร์รัปชันก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป จึงเด่นชัดว่าการรัฐประหารไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งและทุจริตคอร์รัปชันหมดไป แต่ยิ่งทำให้ประเทศถอยหลังทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ไม่ว่าคณะรัฐประหารจะโฆษณาชวนเชื่อว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่มีวัน “เสียของ-เสียเปล่า” ทั้งยังเพ้อฝันว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่คิดเองเออเองโดยคนกลุ่มหนึ่ง จะทำให้ประเทศไทยมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ทั้งที่รัฐบาลทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาเกือบ 4 ปี ใช้เวลาเท่ารัฐบาลเลือกตั้ง 1 สมัยที่ควรทำอะไรได้ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม นอกจากความเงียบสงบภายใต้อำนาจจากปลายกระบอกปืนและความเงียบสงัดของภาคธุรกิจ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้นึกย้อนไปถึงคำพูดของ พล.อ.สนธิที่ตอบ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (เสียชีวิตแล้ว) ซึ่งตั้งคำถาม 3 ข้อกับ พล.อ.สนธิว่า 1.ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ 2.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้นำท่านเข้าเฝ้าฯใช่หรือไม่ และ พล.อ.เปรมรู้เห็นกับการปฏิวัติหรือไม่? 3.พล.อ.เปรมได้ขอร้อง พล.อ.สนธิให้ออกมาพูดความจริงกับเหตุการณ์ปฏิวัติโดยผ่าน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ 2 ครั้งใช่หรือไม่ และได้พูดความจริงตามที่ร้องขอหรือไม่?

โดย พล.อ.สนธิไม่ได้ตอบคำถาม ได้แต่พูดวกวน เช่น รู้สึกละอายตัวเอง สถาบันสอนให้มีความรัก ความเข้าใจ จงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง คำถามนี้ไม่ควรมาถามตน เรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง แต่ที่เป็นวาทะเด็ดของ “อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร” คือ คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้

ถ้าเปิดเผยวันนี้มีอะไรดี แล้วรู้เหรอว่าทุกคนพูดจริงหรือไม่จริงอย่างไร ถ้าวันนี้ต้องการสร้างความรัก สามัคคีแล้ว ใช้หลักคิดใน กมธ. เราต้องลืมอดีต คิดถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างอนาคต ถ้าเราไม่ลืม จัดระเบียบ เราจะเดินไปข้างหน้ายาก

ละครโรงนี้เล่นกันแนบเนียน

อดีตนายกฯทักษิณได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวในวันครบรอบ 11 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า เหตุการณ์เมื่อ 11 ปีที่แล้วหวังว่าจะไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชน ซึ่งข้อความทั้งหมดระบุว่า

I hope the memory of what happened 11 years ago has not faded from the hearts of Thai people. I am, and will always be, concerned about the livelihood of my fellow Thai citizens.

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การรัฐประหารทั้งปี 2549 และปี 2557 คล้ายกัน เริ่มต้นจากรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมาก ต่อมามีการชุมนุมประท้วงเดินขบวนนำไปสู่การยุบสภา เมื่อยุบสภาก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งถูกขัดขวาง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนสำคัญในการยึดอำนาจ ส่วนข้ออ้างเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในการยึดอำนาจก็เห็นชัดเจนว่าเป็นการสร้างกลไกตรวจสอบเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจข้อครหาความไม่เป็นธรรมหรือเลือกปฏิบัติ

การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง สังคมต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะประชาชนจะต้องไม่เชื่อว่าคนกลุ่มเล็กๆซึ่งไม่ได้มีที่มาจากประชาชนจะมาสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชน

ความเห็นของนายพงศ์เทพสอดคล้องกับนายอุทัย  พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกาศเลิกการเมืองเด็ดขาด โดยให้สัมภาษณ์กับ “มติชนทีวี” ตั้งคำถามกับสังคมว่า ทำไมจึงมีคนอยากให้เลือกตั้งบ้าง ไม่เลือกตั้งบ้าง เพราะเขามองว่าเวลามีสภาแล้วคนที่เข้าไปส่วนใหญ่ก็ไปหาผลประโยชน์ เป็นคนเลว คนโกงชาติโกงบ้านโกงเมือง บางคนไม่มีความรู้พอที่จะเข้าไปสู่สถาบันสำคัญของชาติ แล้วมีสภาก็มีแต่ทะเลาะกัน อย่างที่ชาวบ้านบอกว่ามีแต่ด่ากัน ทั้งที่เขาพูดว่ากัน ท้วงติงกัน

นายอุทัยยืนยันว่า ถ้าบ้านเมืองจะมีประชาธิปไตยและยอมรับว่ามีความสำคัญการเลือกตั้งคือปัจจัยสำคัญที่สุด ทำไมคนจึงเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่เคยทำให้ประเทศไหนล้าหลัง ประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศต่างปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั้งนั้น

คุณสัญญากับประชาชนจะคืนประชาธิปไตยเร็วที่สุด คืนความสุขเร็วที่สุด แล้วทุกวันนี้คุณไม่คืน แสดงว่าความสุขไม่มีใช่มั้ย คุณล้มเหลวหรือเปล่า แล้วอีกกี่ปีจึงจะมีความสุขได้ อีกกี่ปีถึงจะปรองดองได้ คุณอ้างว่ากฎหมายออกมาต้องรอขั้นตอนนั้นขั้นตอนนี้ ต้องรอกฎหมายนั้นกฎหมายนี้ คุณล้มกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ล้มเพียงพริบตา คุณสร้างรัฐธรรมนูญมาใหม่ก็สร้างได้ในไม่กี่วัน คนของคุณทั้งนั้น แล้วทำไมคุณสร้างช้าในเมื่อคุณมีรัฏฐาธิปัตย์ แม่น้ำ 5 สายก็พวกคุณทั้งนั้น คุณจะมารออะไรอยู่ ถ้าคุณให้เป็นไปตามโรดแม็พ หรือเป็นไปตามคำเรียกร้อง เป็นไปตามคำสัญญา คุณไม่มีสิทธิอ้างเลยว่าไอ้นั่นไอ้นี่ไม่เสร็จ คุณล้มกฎหมายเลือกตั้งเก่าเขาได้ก็เขียนใหม่ขึ้นมาได้ เอา 5 คนเอาหัวชนปรึกษากันเขียนขึ้นมาสิ อ้างขั้นตอนอะไร ฟังแล้วโอ้โห..ละครโรงนี้มันเล่นกันแนบเนียนโว้ย

ฤากฎหมายมีไว้กำจัดเฉพาะฝ่ายตรงข้าม?

ความขัดแย้งจึงยังคงอยู่และฝังลึก เพราะความเป็นธรรมไม่มี โดยเฉพาะคณะรัฐประหารที่พยายามอ้างความชอบธรรมโดยใช้กลไกทางกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ รวมทั้งองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเองหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ อย่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คมช. ตั้ง “กลุ่มคนเกลียดกลัวทักษิณ ชินวัตร” ขึ้นมาเป็นคณะทำงานของรัฐเพื่อเอาผิดรัฐบาลทักษิณโดยตรง ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากยุค คสช. ก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมคดีความต่างๆเกือบทั้งหมดจึงมีแต่ของคนในพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง และประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่คืบหน้า เร่งรัดเร่งรีบ ติดคุกกันระนาว แม้มีข้อสงสัยในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ แต่ล้วนกลับต้องยกประโยชน์ให้โจทก์ ในขณะที่คดีของอีกฝ่ายเหมือนถูกแช่แข็ง อืดยิ่งกว่าเรือเกลือ หรือเอาผิดอะไรแทบไม่ได้ แถมยังหลุดคดีกันง่ายๆ เพราะเทคนิคทางกฎหมายตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำยกประโยชน์ให้จำเลยอย่างพิลึกพิลั่น

จึงไม่แปลกที่แม้แต่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างสงบก็ยังทำไม่ได้ เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และอำนาจตาม “มาตรา 44” เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะตั้งข้อหา จับกุม หรือดำเนินคดีกับใครก็ได้ ซึ่งเว็บไซต์ iLaw ได้รวบรวมว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ถูกจับและดำเนินคดีอย่างน้อย 275 คน แยกเป็น 38 คดี ซึ่ง 15 คดีพิพากษารอลงอาญา 8 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา 8 คดีอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน 2 คดีสั่งไม่ฟ้อง และยังไม่มีข้อมูลอีก 5 คดี

แม้แต่ล่าสุดการพยายามรื้อฟื้นคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยเพื่อเอาผิดนายพานทองแท้ ชินวัตร ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ก็ถูกตั้งคำถามว่าหากนายพานทองแท้มีความผิดจริงก็ต้องตรวจสอบนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมด รวมถึงองค์กรและมูลนิธิต่างๆที่มีชื่อบุคคลสำคัญหลายคนเกี่ยวข้องอีกนับร้อยคนด้วยหรือไม่

ที่สำคัญการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ยังขยายไปถึงพื้นที่วิชาการในมหาวิทยาลัย เช่น กลุ่มคณาจารย์อ่านแถลงการณ์ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และกรณีผู้ถือป้ายในเวทีวิชาการนานาชาติว่า เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ทั้งที่เป็นเวทีปิดที่มีการลงทะเบียนก็ถูกดำเนินคดี

แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลก็อาจถูกตั้งข้อหาและจับกุม เช่น กรณีนายวัฒนา เมืองสุข หรือกลุ่มเคลื่อนไหวด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

จุดไฟในสายลมจนกว่าจะสำเร็จ

กฎหมายภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่เป็นผลพวงการรัฐประหาร แม้จะเป็นกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ แต่เบื้องหลังของกฎหมายนั้นก็คือการใช้อำนาจที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งคณะนิติราษฎร์ได้แสดงจุดยืนมาตลอดว่าต้อง ลบผลพวงรัฐประหาร

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ซึ่งแสดงจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านรัฐประหารมาตลอด ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul เนื่องในวันครบรอบ 6 ปีข้อเสนอคณะนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารว่า ประเทศอื่นทำได้ ประเทศนี้ก็ต้องทำได้ วันนี้ยังทำไม่ได้ วันหน้าต้องทำได้

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ให้สัมภาษณ์เดอะสแตนดาร์ดว่า ถ้ากฎเกณฑ์ในทางกฎหมายนั้นมันขัดต่อสำนึกความยุติธรรม หรือการอยู่ร่วมกันในสังคม เราควรจะนับว่ามันเป็นกฎหมายไหม

นายวรเจตน์ยังกล่าวถึงมิติในทางกฎหมายหลายอย่างที่เป็นอยู่จริงๆเวลานี้ว่า บางทีมันอาจจะไม่ใช่กฎหมายก็ได้ อาจจะเป็น “กดหัว” ก็ได้

ส่วนอำนาจที่กดอยู่จะแข็งไปได้อีกนานแค่ไหน กดไปได้ขนาดไหนนั้น นายวรเจตน์ตอบว่า ไม่ทราบ แต่บอกว่า มันฝืนกับความเป็นไปในทางประวัติศาสตร์ของโลกอยู่ ถ้าเขาไม่คลาย หรือเดินในทิศทางที่สวน มันก็จะห่างออกไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งก็จะมีมากขึ้น…ลึกลงไปเรื่อยๆ…พอถึงจุดหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน ผมไม่เชื่อว่าสังคมไทยจะอยู่อย่างนี้ตลอดไปได้ และพูดจริงๆผมไม่คิดว่าการปฏิรูปแบบที่ทำอยู่ในตอนนี้จะประสบความสำเร็จ…ผมกล้าวางเดิมพันว่ามันจะไม่สำเร็จ แต่ผมก็ไม่รู้หรอกว่าจะพนันขันต่อกันอย่างไร เอาเป็นว่าผมเดิมพันด้วยวิถีชีวิตของผมดีกว่าว่า ผมคิดว่าไม่สำเร็จ และผมไม่เดินไปตรงนั้น

นายวรเจตน์ยังพูดถึงพลังในการต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงและนิติธรรมสากลเหมือนเป็นการ จุดไฟในสายลม ว่า มันอาจจะยาก แต่เราก็ยังจะจุดมัน ถ้ามันดับเราก็จุดใหม่จนกว่ามันจะติด…แน่นอนคุณต้องเปียก คุณอาจไม่สบาย คุณต้องพัก แต่พักนี่ไม่ได้หมายความว่าคุณหยุด พอคุณหายดีแล้วคุณก็กลับมาจุดมันใหม่..เมื่อวันหนึ่งพอคนมารวมตัวกัน เมื่อมันมากพอคุณก็อาจจะจุดมันได้สำเร็จ

ใครเป็น กบเลือกนาย”?

ไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันว่ารัฐประหารครั้งนี้จะไม่ “เสียของ-เสียเปล่า” โดยเฉพาะผลโพลในความเงียบสงบที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าประชาชนสนับสนุนรัฐบาล แน่นอนว่า คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์รู้จุดอ่อนคนไทยดีว่าที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่เบื่อหน่ายม็อบ

การตอกย้ำเรื่องบ้านเมืองที่เงียบสงบได้วันนี้เพราะอำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากปลายกระบอกปืน ถ้าไม่อยากให้ม็อบป่วนเมืองอีกก็ต้องอยู่แบบนี้ไปนานๆใช่หรือไม่?

รัฐประหารทั้ง 2 ครั้งทำให้วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ “ตาสว่าง” เข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นว่า เบื้องหลังการทำรัฐประหารมีใครที่เชื่อมโยงกันอย่างไร

อันที่จริงความสงบที่ คสช. อ้าง รัฐบาลที่มาจากประชาชนก็ทำได้หากกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่อย่างแท้จริง ม็อบที่ทำผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ใช่เลือกปราบหรืออวยม็อบเสียเองแล้วฉวยโอกาสล้มรัฐบาลและตั้ง คณะลิเก ขึ้นมา ถ้าเล่นแล้วไม่มีคนดูหรือคนไม่พอใจก็ล้มคณะเดิมแล้วก็สร้างสถานการณ์ สร้างเงื่อนไข เพื่อตั้งคณะลิเกขึ้นมาใหม่อีกเช่นนั้นหรือ?

ประเทศชาติไม่ใช่คณะลิเกที่จะตั้งกี่คณะหรือจะเรียกชื่ออย่างไรให้สวยหรู เพราะการทำรัฐประหารยึดอำนาจก็คือ ลิเกคณะเผด็จการเท่านั้น การอ้างว่าเป็น ประชาธิปไตย 99.99%” จึงเป็นตลก เพราะ “ทั่นผู้นำ” เป็นคนตลก แต่ประชาคมโลกเขาไม่ขำด้วยกับเรา และนานาชาติที่ส่วนใหญ่ล้วนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีใครไม่ยอมรับ

“เปิดมา 50 ด่าผมเหมือนหมูเหมือนหมา อีก 50 ให้กำลังใจอยู่ไปนานๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันจะเหลือเท่าไร อะไรจะมากน้อยกว่ากัน ผมยังไม่รู้ แต่ยิ่งอยู่นาน คนไทยขี้เบื่อ เบื่อหน้าผม จำไว้นิทานอีสปมีอยู่ กบน้อยในสระ กบเลือกนาย ดูซิ เลือกให้ถูก หรือจะเลือกนกกระสามาอีก เดี๋ยวสื่อก็พาดหัวอีกว่านายกฯด่าคนโน้นคนนี้ ใครไม่เกี่ยวก็อย่าเดือดร้อน ใครเป็นคนดีอย่าเดือดร้อน

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแค่พูดแดกดันหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เหมือนสั่งสอนประชาชนว่า ประชาชนนั่นเองที่ยัง โง่-จน-เจ็บ ที่ทำตัวเองเป็น กบเลือกนาย

ประชาชนที่เขาไม่ใช่ กบในกะลา จึงตั้งคำถามว่า ประเทศภายใต้คณะรัฐประหารที่ประชาชนไม่มีสิทธิแม้แต่จะเลือกผู้นำเองและยังถูก “กดหัว” ด้วยอำนาจจากปลายกระบอกปืนกับระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้ “ผู้นำ” ที่ประชาชนเลือกเองนั้น แม้จะเลือกผิด แต่ยังดีมีโอกาสจะตรวจสอบและเลือกใหม่ได้ ขับไล่เพื่อเลือกใหม่ได้ ย่อมดีกว่ามี “นาย” ที่ยึดอำนาจประชาชนไปและตั้งตัวเองเป็นใหญ่โดยประชาชนไม่มีสิทธิเลือกใช่หรือไม่?

คำถามแบบนี้ถ้าฝ่ายคนถามถูกตราหน้าว่า ถูกทักษิณซื้อไปแล้ว ต้องไปฟังคนอย่างนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ที่เกลียดทักษิณไม่น้อยกว่าใคร โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คกรณี พล.อ.ประยุทธ์เปรียบเทียบคนไทยเป็น “กบเลือกนาย” ว่า

คุณประยุทธ์ คุณเข้าใจผิดแล้ว การเลือกนายกฯของคนไทยโดยผ่านการเลือกตั้งเป็นการเลือกลูกจ้างมาทำงานให้ชาติและประชาชน ไม่ได้เลือกให้เข้ามาเป็นนายของประชาชน หากนายกฯทำให้ชาติและประชาชนเสียหาย ประชาชนก็สามารถไล่ออกและเลือกใหม่ได้

นายกฯที่มาจากการทำรัฐประหารเป็นนายกฯที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ แต่ไม่สามารถคัดค้านได้ เพราะเกรงกลัวอำนาจรัฐ เมื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาติและประชาชนจึงมีเสียงคัดค้านก่นด่าขับไล่ โมฆบุรุษจะพูดอย่างไม่อายฟ้าไม่อายดินว่า อย่าเพิ่งไล่ผม ไล่ตอนนี้ก็ไม่ไป ผมไปตามโรดแม็พนายกฯที่มาจากรัฐประหารมักหลงในอำนาจว่า มีอำนาจเหนือประชาชน เป็นนายของประชาชนที่สำคัญประชาชนบางกลุ่มที่เรียกร้องให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ในที่สุดตนเองก็ต้องถูกกดขี่ข่มเหงไปด้วย แต่ไม่สามารถเปลี่ยนหรือไล่ผู้กดขี่ออกไปได้ นั่นแหละสมควรเรียกว่าพวก กบเลือกนาย

หรือเป็น นายเลือกกบ”?

วันนี้บทบาทของอดีตหัวหน้า คมช. ถูกจดจำไว้เพียงแค่ “ขุนพล” ที่ทำรัฐประหารแล้วทำเสียของ พร้อมกับอดีตหัวหน้าม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีสถานภาพเป็นเพียงนักโทษชายจากคดีฉ้อโกง

ในอนาคตย่อมไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับอดีตหัวหน้า คสช. และอดีตเลขาธิการ กปปส.

เพราะชีวิตจริงไม่สวยงามดังนิทานเรื่อง “เจ้าชายกบ” เพราะท้ายที่สุด “ขุนพลกบ” ที่นายเลือกมักจะได้เป็น “โคถึก” หลังจากเสร็จศึกเสร็จนาอยู่เสมอๆ

หัวหน้าคณะลิเกจึงมิควรผรุสวาทสั่งสอนกับคนไทยว่าอย่าเป็น “กบเลือกนาย” เพราะสุดท้ายตนเองอาจเป็นแค่ กบในคราบโคถึกก็ได้

นิทานเรื่องนี้จึงไม่ใช่ เจ้าชายกบหรือ กบเลือกนายแต่น่าจะเป็น “นายเลือกกบ” เสียมากกว่า!!??


You must be logged in to post a comment Login