วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ป่วนภาษีที่ดินเพื่อขึ้นภาษี VAT? / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On September 28, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

มาดูเล่ห์กลการป่วนเพื่อไม่ให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยป้ายสีมั่วๆเพื่อต้องการเตะถ่วงและยกเลิกภาษีนี้ไปเลย เช่น 1.เก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ข้อนี้เป็นการบิดเบือนความจริง คนที่มีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ควรเก็บภาษีทั้งสิ้น จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีกันให้ได้หรืออย่างไร

2.ใช้ค่าเฉลี่ยแทนราคาประเมิน อันที่จริงควรใช้ราคาตลาด เพราะราคาประเมินของทางราชการต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ควรให้ประชาชนแจ้งราคาซื้อขายตามจริงโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมโอน เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงแจ้งต่ำกว่าความเป็นจริง ประเทศไทยก็จะมีฐานข้อมูลราคาซื้อขายที่แท้จริง

3.ใช้อัตราขั้นต่ำเพียงราคาเดียว ไม่มีก้าวหน้า แสดงเจตนาไม่ต้องการเสียภาษีหรือเลี่ยงภาษีชัดเจน สำหรับทรัพย์ทุกประเภทและทุกราคาอาจผ่อนผันให้ใช้อัตราเดียวกันได้ ยกเว้นที่ดินเปล่าที่เก็บไว้โดยไม่พัฒนาควรเก็บภาษีให้หนัก เพื่อให้อุปทานที่ดินมีมากขึ้น ราคาบ้านก็จะไม่สูงเกินไป

4.เอสเอ็มอีควรเก็บอัตราเดียวกับที่อยู่อาศัย ข้อนี้ไม่มีปัญหาหากเป็นการจัดเก็บตามราคาที่แท้จริง เช่น บ้านราคา 5 ล้านบาท ตึกแถวประกอบธุรกิจราคา 5 ล้านบาท หรือที่นาราคา 5 ล้านบาท ก็เก็บภาษีอัตราเดียวกัน

5.ที่ดิน-บ้านพักอาศัยดั้งเดิมที่ความเจริญตัดผ่านไม่ควรเสียภาษีเต็มอัตรา กรณีนี้เป็นการเลี่ยงภาษีชัดเจน ถ้าคนเกษียณมีบำนาญเดือนละ 20,000 บาท แต่มีบ้าน 1 หลังราคา 100 ล้านบาทใจกลางเมือง เพราะได้รับมรดก อาจไม่สามารถเสียภาษีได้ก็ควรขายบ้านเสีย จะอ้างความจนเพียงเพื่อไม่เสียภาษีแล้วเก็บไว้ให้ลูกหลานคงไม่ได้ หากขายแล้วไปซื้อบ้านที่อื่น จ้างพยาบาลคอยปรนนิบัติก็ยังเหลือเงินอีกมหาศาล

6.บ้านหลังที่ 2 ราคาถูกของคนต่างจังหวัดที่มาทำงานใน กทม. ควรยกเว้น ข้อนี้เป็นการพยายามทำเรื่องหยุมหยิม ทุกวันนี้ใครมีทรัพย์เป็นห้องชุดราคา 100,000 บาทก็ต้องเสียค่าส่วนกลาง จะพยายามหาเหตุเลี่ยงให้ตีความยากเอาเปรียบสังคมนับเป็นสิ่งไม่ดี

7.ที่ดินตาบอด/ที่ดินที่ผังเมือง-กฎหมายอื่นๆห้ามพัฒนาควรยกเว้น ที่จริงใครมีที่ดินตาบอดก็ควรขายเสียถ้ากลัวเสียเปรียบ รัฐอาจตั้งหน่วยงานมารับซื้อในราคาที่เป็นธรรม จะเลี่ยงภาษีนั้นไม่สง่างาม หากมีการรอนสิทธิใดๆรัฐควรจ่ายค่าทดแทนประชาชน ไม่ใช่เล่น “เถิดเทิง” แบบ “จับแพะชนแกะ”

8.ที่ดินที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำป้องกันน้ำท่วมควรยกเว้น ข้อนี้เช่นเดียวกับข้อ 7

9.คลับเฮาส์ บริการสาธารณะในโครงการจัดสรร ถ้าเป็นทรัพย์ส่วนกลางก็ไม่ควรเสียภาษี แต่ถ้ายังเป็นของนักพัฒนาที่ดินที่เก็บไว้ใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจก็ควรเสียภาษี ไม่ควรเอาเปรียบสังคม

นอกจากนี้ยังมีความพยายามบิดเบือนต่างๆ ได้แก่ 1.ประเด็นการกำหนดนิยามการใช้ที่ดินที่ขาดความชัดเจนในกรณีเกษตรกรรมและที่รกร้างว่างเปล่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ เจ้าของที่ดินที่ไม่ต้องการเสียภาษีก็จะ “เสแสร้งแกล้งบ้า” ด้วยการปลูกพืชผลต่างๆบนที่ดินราคาแพงเพื่อเลี่ยงภาษี ทางออกคือเก็บภาษีตามราคาตลาด ราคาสูงก็ต้องจ่ายภาษีมาก

2.ผลกระทบภาษีต่อกิจการวิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งไม่เป็นความจริง จากผลการศึกษาของทางราชการชี้ว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่การเก็บภาษีที่สูงเกินไป และไม่เป็นการบิดเบือนและเป็นช่องทางการทุจริตเช่นภาษีโรงเรือน การนำข้อปลีกย่อยเช่นสถาบันการศึกษาเอกชนเพื่อหลบเลี่ยงภาษีเป็นวิชามารที่น่าละอาย

3.การประเมินภาษีทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์หลายประเภทรวมกัน เป็นอีกประเด็น “ฉ้อฉล” ที่จะหลบเลี่ยงการเสียภาษีด้วยการพยายามแปลงการใช้ที่ดินให้เสียภาษีน้อยลง การแก้ไขคือเก็บภาษีตามราคาตลาด

4.การยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการเลี่ยงภาษีอย่างน่าละอาย เช่น ที่ดินว่างเปล่ามีมูลค่าตลาด 100 ล้านบาท ถ้าต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจสูงถึง 2 ล้านบาทต่อปี แต่แสร้งทำดียกให้ใช้ประโยชน์สาธารณะชั่วคราวเพื่อไม่ต้องเสียภาษีและได้ “โล่เกียรติยศ” อีก เป็นความดีที่แสนสามานย์

5.พวกคนรวยที่ไม่ต้องการเสียภาษีพยายามสร้างข่าวลือว่าจะเก็บภาษีเครื่องจักรด้วย ดังนั้น SMEs ที่มีเครื่องจักรจึงได้รับการยกเว้นภาษีที่เคยเก็บภาษีโรงเรือน เป็นการประสานเสียงของพวกไม่ยอมจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง

6.ประโคมข่าวว่าจะมีโทษจำคุกถ้าเลี่ยงภาษี ทางราชการชี้แจงโทษต่างๆไม่แตกต่างกรณีการหลบเลี่ยงภาษีโรงเรือนที่ใช้มาชั่วนาตาปี โทษจำคุกจึงเป็นการโฆษณาของเจ้าของที่ดินที่ไม่ยอมเสียภาษี

ทางราชการควรยึดหลักการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบอารยประเทศ ไม่ควรมีข้อยกเว้นหยุมหยิมหรือเอาใจชนชั้นสูง เจ้าที่ดินรายใหญ่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับการเก็บภาษีล้อเลื่อนหรือจักรยานยนต์เก่าๆราคา 30,000 บาท ก็ต้องเสียภาษี 400-500 บาทต่อปี (มากกว่า 1% อยู่แล้ว) คนที่เดือดร้อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นรายใหญ่

หากมีการเก็บภาษีนี้เมื่อ 50 ปีก่อน ณ อัตรา 1% เท่ากับว่ามูลค่าทรัพย์สินที่เจ้าที่ดินรายใหญ่ถือครองอยู่เป็นภาษีที่ควรเสียแต่ไม่ได้เสียนั่นเอง

อย่าปล่อยให้เจ้าที่ดินและนายทุนใหญ่ล้มหรือบิดเบือนการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์เฉพาะตน หากล้มได้สำเร็จ รัฐบาลก็หาทางขึ้นภาษี VAT จาก 7% เป็น 8-9% ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้คนทั่วไป ฤาษีออกจากป่าซื้อผงซักฟอกก็ต้องเสียภาษี VAT แต่การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการเก็บจากคนมีทรัพย์ โดยเฉพาะพวกเอาเปรียบสังคม

สังเกตง่ายๆ รัฐไม่ค่อยใส่ใจกระตุ้นให้ประชาชนรู้เรื่องภาษีนี้เหมือนไม่อยากเก็บ แต่ภาษี VAT กลับโหมโฆษณาให้ประชาชนเข้าใจกันยกใหญ่ พูดให้ประชาชนสับสนจะได้ไม่ต้องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง วิชามารขั้นมหาเทพจริงๆ


You must be logged in to post a comment Login