- ปีดับคนดังPosted 37 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
แข็งบนอ่อนล่าง? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของ “อาจารย์ยิ้ม” รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ อดีตรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการและการรัฐประหารทุกรูปแบบ
ขอให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของ “อาจารย์ยิ้ม” เดินทางสู่สัมปรายภพเบื้องหน้าที่สูงยิ่งขึ้นๆด้วยเทอญ พวกเราที่ยังหายใจอยู่จะได้สานต่อปณิธานการต่อสู้ต่อไป เพื่อให้ลูกหลานได้เติบโตในยุคของ “ชาววิไล” อย่างแท้จริง ผมเองแม้ไม่มีโอกาสรู้จักท่านเป็นการส่วนตัว แต่ได้อ่านบทความของท่านเป็นระยะๆ เพราะ “อาจารย์ยิ้ม” เขียนบทความในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตยประจำใน “โลกวันนี้วันสุข” ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา หลับให้สบายนะครับ
สัปดาห์นี้ผมตั้งใจบ่นเรื่องเศรษฐกิจอีกครั้ง เพราะไปที่ไหนก็มีแต่เสียงร้องว่าจะไม่ไหวกันอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นคำถามตัวโตที่ใครๆก็อยากทราบคำตอบว่าแท้จริงแล้วเศรษฐกิจประเทศไทย “ฟื้นตัว” จริงหรือไม่ เพราะตัวเลขหลากหลายของสารพัดหน่วยงานรัฐชี้ในทิศทางว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้น แต่ความรู้สึกของประชาชนตาดำๆ หาเช้ากินค่ำ กลับรู้สึกว่าแย่ลง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องมีอะไรซ่อนอยู่อย่างแน่นอน
พอดีผมมีโอกาสได้อ่านบทวิเคราะห์ของคุณพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ที่ให้ความเห็นแบบเข้าใจง่าย และดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนว่าทำไมผู้มีรายได้น้อยหรือประชาชนฐานรากจึงไม่รับรู้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเวลานี้ ทั้งๆที่ควรเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์โดยตรง
ข้อเท็จจริงที่วิเคราะห์สะท้อนภาพโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ขาดความสมดุลและมีความเหลื่อมล้ำให้เห็นอย่างชัดเจน โดยคุณพิพัฒน์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะแข็งแต่ไม่แข็งอย่างที่คิด เพราะเป็นความแข็งที่ซุกซ่อนความอ่อนแอไว้ในโครงสร้างเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายการปรับตัวของเครื่องมือทางนโยบายของประเทศก็ไม่รวดเร็วเพียงพอที่จะรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน
สาเหตุที่ใครๆก็ถามคำถามนี้ เพราะตัวเลขบอกว่าเศรษฐกิจต้องดีกว่านี้ แท้ที่จริงแล้วแม้ตัวเลขต่างๆจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก เศรษฐกิจไทยในอดีตเคยโตร้อยละ 7-8 แม้แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็โตร้อยละ 5-6 ปัจจุบันเหลือแค่ร้อยละ 3.7 แต่อย่างน้อยตัวเลขนี้ก็ต้องถือว่ามีสัญญาณที่ดีและฟื้นแล้วในแง่ตัวเลข
“แต่มีสิ่งที่ “ไม่เชื่อมโยงกัน” หรือ “แตกต่างกัน” อยู่ระหว่างสิ่งที่ตัวเลขบอกเรากับความรู้สึก ทำไมความรู้สึกของคนทั่วไปจึงไม่ได้ดีตามไปด้วย ประเด็นแรกมาจากเรื่องคำนิยามของตัวเลข 3.7% ที่ไตรมาส 2 ที่บอกว่าเป็นตัวเลขดีที่สุดในรอบหลายไตรมาส แท้ที่จริงแล้วแปลว่าอะไร!” ท่านผู้อ่านต้องทำความเข้าใจที่คุณพิพัฒน์อธิบายว่า
“ก่อนอื่นต้องอธิบายกลับไปที่แนวคิดก่อนว่าจีดีพีคืออะไร จีดีพีมี 3 ด้าน ความหมายของมันคือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ หนึ่งคือ “ด้านการผลิต” ด้านที่ 2 ถ้าผลิตออกมาก็ต้องมีคนซื้อ นี่คือ “ด้านดีมานด์” ว่าใครเป็นคนซื้อ และด้านสุดท้ายด้านที่ 3 ก็คือถ้ามีคนซื้อมีคนขายก็ต้องมี “รายได้” เกิดขึ้น มันจึงมี 3 เรื่องที่เกี่ยวพันกันอยู่”
แต่ตัวเลขจีดีพีที่ออกมาคือเรื่องของ “การผลิต” ตัวเดียว ตัวเลขการผลิตไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจริง 3.7% แต่พอไปไล่ดูว่าตัวเลขนี้มาจากไหนก็พบว่ามาจากภาคเกษตรเสียส่วนใหญ่ ตรงนี้เป็นปริศนาที่น่าสนใจ ภาคเกษตรในไตรมาส 2 โตถึง 15.7% แต่นอกภาคเกษตรโตแค่ 2% กว่า แปลว่าภาคเกษตรต้องดีใช่หรือไม่?
คุณพิพัฒน์บอกว่ามันดีในแง่แนวคิด คือมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเท่านั้นเอง แต่ปีที่แล้วฝนแล้ง มันจึงมาจากฐานปริมาณการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ภาคการเกษตรโตได้ถึง 15.7% แต่ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ได้แสดงว่ารายได้ภาคเกษตรต้องเพิ่มสูงขึ้น? เพราะแม้ว่าปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจริง แต่ “ราคามันลดลง” ดังนั้น รายได้ภาคเกษตรจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเท่าที่เราเห็นจากปริมาณ
ประเด็นที่ 2 ถ้าเราดูจากด้านดีมานด์หรือความต้องการของตลาด คำถามก็คือผลิตแล้วมีคนซื้อจริงหรือเปล่า ถ้าเราเอาตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คือ “รายได้” เท่ากับการบริโภคบวกการลงทุนบวกการใช้จ่ายภาครัฐบวกส่งออกแล้วเอามาลบด้วยการนำเข้า เราพบว่าจากตัวเลขของสภาพัฒน์เองจะพบว่าไม่มีองค์ประกอบไหนโตเร็วกว่า 3.7% เลย
เมื่อพิจารณาเฉพาะฝั่งดีมานด์เราพบว่า มูลค่าของการใช้จ่ายจริงๆโตแค่ 2% และเป็นอย่างนี้มา 3 ไตรมาสแล้ว แปลว่ามีการผลิตเยอะและโตเร็วกว่าปีที่แล้ว แต่ฝั่งการซื้อจริงได้แก่คนจับจ่ายใช้สอย การลงทุนเพิ่ม รัฐบาลใช้จ่าย หรือการส่งออกมันโตช้ากว่าฝั่งการผลิต ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเดินดินกินข้าวแกงอย่างเราไม่รู้สึกเลยว่าเศรษฐกิจดี เพราะเศรษฐกิจจะดีได้คนต้องมีเงินจับจ่ายใช้สอย
สุดท้ายคุณพิพัฒน์สรุปภาพเศรษฐกิจไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยนิยามสภาพที่เกิดขึ้นว่า “แข็งบนอ่อนล่าง” หรือแปลง่ายๆว่ามันมีความเหลื่อมล้ำอยู่นั่นเอง โดยช่วงที่เศรษฐกิจโตเร็วเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ แม้ว่าเค้กของเราจะโตช้าและเล็กกว่าคนอื่น ผู้คนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะอย่างน้อยเค้กในมือก็ยังโตขึ้น ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่ประเด็นในวันที่เศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 5-7 ต่อปี
“แต่พอเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3% แปลว่าเค้กเริ่มไม่โตแล้วคนอื่นยังมาแย่งไปจากเราอีก เราจึงเริ่มรู้สึกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำ วันนี้ต้องยอมรับว่าสินค้าเกษตรเป็นประเด็นสำคัญ พอราคาตกต่ำก็จะกระทบกับคนส่วนใหญ่ เพราะคนฐานล่างเป็นคนที่พึ่งพารายได้จากการขายผลผลิตเท่านั้น
ตรงกันข้ามกับคนด้านบนที่พึ่งพาความมั่งคั่ง รายได้ของเขาอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับความมั่งคั่งของเขา ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ยิ่งดี เพราะราคาหุ้นก็ขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้น จะเห็นว่าร้านข้าวแกงขายไม่ค่อยได้ แต่ร้านราคาแพงจองกันเต็มหมด โดยเฉพาะยอดขายบ้านจะเห็นได้ชัด ราคาต่ำกว่า 1 ล้าน 3 ล้าน ขายแสนจะลำบาก เพราะกู้แบงก์ไม่ค่อยปล่อย แต่ยอดเกิน 10 ล้าน ยังขายได้ดีอยู่ เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่เข้าคิวขอกู้ แต่บริษัทเล็กๆแบงก์ไม่ให้กู้”
“มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกันก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า”
คุณพิพัฒน์อธิบายไว้แบบง่ายๆและชัดเจนมากๆ ผมนำมาขยายความต่อให้ฟังแค่บางส่วน ใครอยากได้ความรู้เพิ่มเติมถาม “อากู๋” ดู รับรองว่าอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของคุณพิพัฒน์แล้วจะเข้าใจได้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เหมือนกับผมที่เข้าใจแล้วว่า “แข็งบนอ่อนล่าง” คือปัญหาสำคัญที่ทำให้คนรากหญ้านอนหายใจระรวยอยู่ในขณะนี้
You must be logged in to post a comment Login