วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ฝ่าวิกฤตจราจร – เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทาง

On September 29, 2017

รัฐบาลมีนโยบายและแผนแม่บทชัดเจนในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและระบบขนส่งมวลชนให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม ทั้งในด้านการลงทุนและการให้บริการ เพื่อรองรับความต้องการทั้งในด้านของการเดินทาง การขนส่งสินค้า ตลอดจนการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวสู่  Thailand 4.0

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทบทวนและเสนอแนะการดำเนินโครงการด้านคมนาคมขนส่งใดๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อที่ก่อสร้างไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน พร้อมเสนอแนะรูปแบบการลงทุนและเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการออกแบบเบื้องต้นและประมาณราคาค่าก่อสร้าง โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2560 – วันที่ 9 มิถุนายน 2561

เบื้องต้นได้กำหนด 4 รูปแบบทางเลือกในการพิจารณาและศึกษารายละเอียด ดังนี้ รูปแบบที่ 1 การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า)โดยมีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณแยกแคราย ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง ระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร

รูปแบบที่ 2การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridorเป็นการพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษเพียงอย่างเดียว โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณที่แยกเกษตรศาสตร์ไปตามเกาะกลางของถนนประเสริฐมนูกิจ จนถึงถนนนวมินทร์ แล้วแนวเส้นทางจะซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 351 ไปบรรจบกับถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก ระยะทางประมาณ 11.9 กิโลเมตร

รูปแบบที่ 3 การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ประกอบด้วย โครงข่ายทดแทน N1, N2 และ E-W Corridor ซึ่งเป็นการพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษอย่างเดียว มีเส้นทางและรูปแบบเช่นเดียวกับรูปแบบที่ 2โดยเพิ่มโครงข่ายทดแทน N1 เพื่อเชื่อมระหว่างวงแหวนตะวันออก-ตะวันตก

และรูปแบบที่ 4การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน

ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษาการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ได้รับมอบหมายจากสนข. ให้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ รวมถึงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบทางเลือกของโครงการให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการหารือและร่วมประเมินรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดย สนข. มุ่งหวังที่จะเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาในการเดินทางของประชาชน  ตลอดจนเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทาง และลดปัญหาจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจ

เรามีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเมินรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมเริ่มจาก“ผศ.รัชด ชมภูนิช”รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความเห็นว่า

“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีจุดยืนที่ชัดเจนคือ การสนับสนุนรูปแบบการขนส่งมวลชนที่ยั่งยืนและไม่เป็นมลภาวะ หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นั่นก็คือระบบรางหรือรถไฟฟ้าเพื่อขนส่งคนไปสู่สถานที่ต่างๆ มากกว่าการขนส่งโดยรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งทำให้เกิดปัญหามลภาวะต่างๆ รวมถึงปัญหาโลกร้อนในส่วนของรูปแบบที่จะมีการก่อสร้างทางด่วน N2 ด้วยนั้น อยากให้ยกเลิกไปเลย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสร้างทางด่วน ไม่ว่าจะเป็นทางด่วนในรูปแบบใดก็ตามเพราะทางด่วนจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียง และสิ่งที่สำคัญมากที่สุดเลยก็คืออย่าให้รูปแบบการเลือกเส้นทางต่างๆ ไปสร้างผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ”

ต่อกันที่ตัวแทนฝ่ายผู้ประกอบการ “อำนวย อุบลม้าย” ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสบริหารอาคาร ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน บอกว่า

“เห็นด้วยกับการสร้างรถไฟฟ้า แต่มีประเด็นข้อกังวลในเรื่องของการก่อสร้าง เนื่องจากบริเวณแยกพงษ์เพชรเป็นพื้นที่ที่มีคลองประปา เป็นทางต่างระดับ ซึ่งหากได้ข้อสรุปในเรื่องของรูปแบบโครงการออกมาแล้ว ก็อยากให้ศึกษาให้รอบคอบว่าการก่อสร้างจะอยู่ในลักษณะใด จะยกระดับกันในรูปแบบไหน ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณเดอะมอลล์ งามวงศ์วานก็ค่อนข้างที่จะคับแคบและแออัด นอกจากนี้ยังมีสายไฟฟ้าแรงสูงอยู่ด้วย อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งก็คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องหาแนวทางและหาข้อยุติร่วมกันให้ได้”

ปิดท้ายกันที่คนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง“ฐิติพงษ์ เพชรสัมฤทธิ์”ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า

“ทุกวันนี้ภาครัฐให้ความสำคัญและสนใจแต่โครงการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ จนลืมนึกถึงการคมนาคมขนส่งในระดับรอง เห็นได้ชัดเจนเลยว่าตั้งแต่บริเวณแยกแคราย แยกพงษ์เพชร แยกวิภาวดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงเกษตร-นวมินทร์ และนวมินทร์-วงแหวน มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง แต่ทุกวันนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในซอยต่างๆ ยังต้องนั่งมอเตอร์ไซค์วินออกมาจากซอย อยากให้การเดินทางออกมา
ขึ้นรถไฟฟ้าของประชาชนเป็นเรื่องสะดวก ต้องมานั่งคิดกันด้วยว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนคนในซอยสามารถเข้าออกจากซอยได้อย่างสะดวก ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้กลับถึงบ้านโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว

ตัวผมเองไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวและสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนมาโดยตลอด แต่นับวันก็จะยิ่งเห็นปัญหาของคนที่ใช้บริการขนส่งมวลชนว่ายังไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกลุ่มที่พยายามไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว ยิ่งตอนนี้เหมือนกับว่ากำลังทับถมประชาชนบริเวณนี้หนักเข้าไปอีก เพราะการก่อสร้างคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น ประชาชนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การขนส่งระดับรองยังเหมือนเดิม ยังไม่ได้รับการพัฒนาทั้งๆ ที่การขนส่งระดับรองถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน”

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนผลการศึกษาจะเป็นอย่างไร จะได้ข้อสรุปออกมาในรูปแบบใด..ต้องติดตามกันต่อไป

pok2 pok3 pok4 pok5


You must be logged in to post a comment Login