- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ยุทธศาสตร์ท่วมหัว
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
การเข้าร่วมเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลทหารคสช.ได้ภาพว่าพร้อมเปิดรับทุกฝ่ายเพื่อปูทางไปสู่การสร้างความปรองดอง แต่การเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ บทบาทหน้าที่มีแค่คิดและนำเสนอ ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าจะหวังกระแสของ นายชัชชาติ ช่วยฉุดภาพลักษณ์ให้รัฐบาลทหารคสช.เหมือนสมัยทำงานกับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ คงเป็นเรื่องยาก ความพึงพอใจของประชาชนวัดกันที่ผลความสำเร็จของงาน ไม่ใช่จำนวนแผนยุทธศาสตร์ว่ามีกี่แผ่น กี่ด้าน ต่อให้มีแผนยุทธศาสตร์กองเท่าภูเขา ถ้าไม่ถูกนำมาใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ จะเข้าตำรา “ยุทธศาสตร์ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”
ผ่านพ้นจุดไคลแมกซ์การเมืองเรื่องคดีรับจำนำข้าวไปแล้ว หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาออกมาอย่างเป็นทางการ จากนี้ไปก็เหลือลุ้นแค่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเลือกทางเดินอนาคตตัวเองอย่างไร จะโลว์โปรไฟล์ทางการเมืองอยู่อย่างสงบเหมือนพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์พูด หรือว่าจะยังไม่ทิ้งการเมืองแบบหันหลังให้เสียทีเดียว
ส่วนเรื่องคดีความก็ชัดเจนว่าคงไม่มีการยื่นอุทธรณ์เพราะติดเงื่อนไขต้องมาแสดงตัวต่อศาลจึงได้สิทธิอุทธรณ์คดี ขณะที่เรื่องการขอลี้ภัยทางการเมืองน่าจะมีความชัดเจนขึ้นในไม่กี่วัน หลังจากนี้เพราะผ่านจุดที่ต้องกบดานไปแล้ว
การเมืองมีเรื่องใหม่ให้ติดตามกันตลอดเวลา ล่าสุดมีเสียงฮือฮากรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีชื่อโผล่ร่วมเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขันของรัฐบาล
ถ้าจำกันได้วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจ นายชัชชาติ เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในห้องเจรจาหาทางออกให้บ้านเมืองและเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกทหารคุมตัวเข้าไปในค่าย
เมื่อบทบาทที่ผ่านมาเรียกคะแนนให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี และมีภาพค่อนข้างทำงานให้ชิดกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ จึงเป็นธรรมดาที่การเข้าร่วมเป็นกรรมการยุทธศาสตร์กับรัฐบาลทหารคสช.ครั้งนี้ จะสร้างความผิดหวังให้กองเชียร์พรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของนายชัชชาติไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดง เป็นเพียงนักวิชาการและคนทำงานคนหนึ่ง จึงพอเข้าใจได้ถึงการตัดสินใจเข้าร่วมทำงานให้รัฐบาลทหารคสช.ในครั้งนี้
การเข้าร่วมเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ของนายชัชชาติ รัฐบาลทหาคสช.อาจได้ภาพว่าพร้อมเปิดรับทุกฝ่ายที่ต้องการเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อปูทางไปสู่การสร้างความปรองดอง
แต่การเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขันบทบาทหน้าที่มีแค่คิดและนำเสนอ ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติเอง จะหวังกระแสของนายชัชชาติ ช่วยฉุดภาพลักษณ์ให้รัฐบาลทหารคสช.เหมือนสมัยทำงานกับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์คงเป็นเรื่องยาก
เสียงฮือฮาต่อการแต่งตั้งก็คงเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นก็จะเงียบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ประเด็นสำคัญมากกว่าตัวบุคคลว่าใครเข้าร่วมทำงานให้รัฐบาลทหารคสช.บ้างคือเรื่องเนื้องานที่จะออกมา โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติที่มีการตั้งกรรมการขึ้นมามากมายหลายชุด
“ความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก และประสิทธิภาพของคนทำ ไม่ใช่ความขยันในการพูดหรือจำนวนแผนที่ร่างกันขึ้นมา”
เป็นคำกล่าวที่ไม่ไกลเกินความจริงของ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย
ที่ผ่านมาหน่วยงานด้านต่างๆ ล้วนทำแผนยุทธศาสตร์กันออกมาจำนวนมาก คำถามคือแผนเหล่านั้นถูกนำไปใช้ปฏิบัติกี่เปอร์เซ็นต์ หรือใช้ปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์
มีใครเคยประเมินกันบ้างหรือไม่
ถ้าเราเดินตามแผนยุทธศาสตร์ต่างๆที่ทำกันมาจำนวนมากนั้น ประเทศคงก้าวพ้นกับดักความยากจน ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ต้องมาพูดกันเรื่องการศึกษาผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศ
เมื่อเรามีแผนยุทธศาสตร์จำนวนมาก ทำไมทุกวันนี้เรายังต้องพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ ทำไมต้องมาพูดกันเรื่องทำยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
การแก้ปัญหาของประเทศจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคนทำงานที่ต้องมีความตั้งใจ จริงใจ มีความรู้ความเข้าใจ กล้าตัดสินใจและมีความสามารถมากพอที่จะใช้แก้ปัญหาด้วย
ยิ่งในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีอำนาจล้นมือ ใช้กฎหมายมาตราเดียวสั่งการทุกอย่างได้หมด และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตรวจสอบหรือเอาผิดย้อนหลัง ยิ่งควรใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในมือแก้ปัญหาให้เห็นหน้าเห็นหลังได้ดีกว่าที่ผ่านมา ไม่ใช่ทำแค่ร่างยุทธศาสตร์เป็นมรดกไว้ให้รัฐบาลอื่นเอาไปทำต่อ
ความพึงพอใจของประชาชนวัดกันที่ผลความสำเร็จของงาน ไม่ใช่จำนวนแผนยุทธศาสตร์ว่ามีกี่แผ่นกี่ด้าน
ต่อให้มีแผนยุทธศาสตร์กองเท่าภูเขา ถ้าไม่ถูกนำมาใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์
จะเข้าตำรา “ยุทธศาสตร์ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”
You must be logged in to post a comment Login