วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ / โดย พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ

On October 2, 2017

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.กานติ์ชนิต ผลประไพ

การที่หลายคนต้องประสบกับภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะในช่วงวัยสูงอายุ นับว่าเป็นเรื่องที่หนักใจของใครหลายคน ทั้งญาติ ผู้ใกล้ชิด และตัวผู้สูงอายุเอง ดังนั้น การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับภาวะซึมเศร้านี้จะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

สังคมไทยในปัจจุบันนับว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากประชากรมีการเกิดจำนวนลดลง และเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุ มีความเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพ มีเพียงร้อยละ 5 ที่มีสุขภาพแข็งแรง ผู้สูงอายุ 1 ใน 2 คน อ้วนและเป็นโรคอ้วน และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 46  ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวจำนวน 600,000 คน หรือร้อยละ 7.7 อยู่โดยไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยจำนวน 1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 16

ในปี 2553 เป็นต้นมา องค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International : ADI) ได้ประเมินว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.4 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 8.1 โดยพบในผู้สูงอายุชายร้อยละ 6.8 ผู้สูงอายุหญิงร้อยละ 9.2 หรือเท่ากับผู้สูงอายุวัยเกิน 60 ปี ทุกๆ 12 คน จะพบเป็นโรคสมองเสื่อม 1 คน

ภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะของการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง หมดความกระตือรือร้น เบื่อหน่าย แยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆคนเดียว ท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า มองตัวเองไร้ค่าและเป็นภาระต่อคนอื่น นอนไม่หลับ ไม่อยากรับประทานอาหาร น้ำหนักลด

หากมีอาการมากจะมีความรู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากตาย อยากฆ่าตัวตาย รวมถึงมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง และมักพบได้บ่อยในสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่มีการสูญเสียหลายด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นวัยที่ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างมาก

มีรายงานพบว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เคยมีประสบการณ์ของการมีภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน จึงทำให้หลายหน่วยงานรวมถึงโรงพยาบาลพระรามเก้าตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

โดยเน้นให้ผู้สูงอายุหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม ให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ฝึกทักษะทางสมอง ส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่

การให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างเพียงพอ และการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล เนื่องจากมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่ดี

ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นวิธีการป้องกันเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคซึมเศร้า ลดอาการหลงลืม มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างมีความสุข


You must be logged in to post a comment Login