วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567

พาราเซตามอล / โดย ผศ.พญ.วีรวดี จันทรนิภาพงศ์

On October 2, 2017

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน :  ผศ.พญ.วีรวดี จันทรนิภาพงศ์

เมื่อมีอาการไข้หรือปวดจากสาเหตุใดก็ตาม ยาขนานแรกที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคือ พาราเซตามอล

พาราเซตามอล หรืออะเซตามิโนเฟน เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย หาซื้อได้ง่าย และมักจะมีติดไว้ประจำบ้าน เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี มีหลายรูปแบบ ในรูปแบบรับประทานมีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ ที่นิยมรับประทานคือ ยาเม็ดที่มีตัวยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด

โดยทั่วไปในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 50 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ถ้ากรณีที่น้ำหนักเกิน 67 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 2 เม็ด การรับประทานยามื้อถัดไปควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง และต้องไม่ใช้ยาเกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์

การได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการรับประทานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยกว่าการตั้งใจกินยาขนาดสูงเพียงครั้งเดียว ซึ่งการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะส่งพิษต่อตับ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณด้านขวาบน มีตับโต กดเจ็บ ถ้าตรวจเลือดอาจพบค่าที่บ่งว่าการทำงานของตับผิดปรกติ

ถ้าตับถูกทำลายมากขึ้นอาจพบอาการตับวายเฉียบพลัน ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง สับสน ซึม ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ และที่สำคัญ ไม่ควรดื่มสุรา หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านวัณโรค ยากันชัก ร่วมกับยาพาราเซตามอล เพราะอาจทำให้พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้น

หากพบเห็นผู้ที่รับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดเฉียบพลันไม่แนะนำให้ทำให้อาเจียน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการสำลักเข้าปอด ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากพิษจากยาพาราเซตามอลเกินขนาดมีวิธีการดูแลรักษาและยาแก้พิษจำเพาะ

 


You must be logged in to post a comment Login