วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ต้องให้ทหารออกจากการเมือง สัมภาษณ์- ฐิติพล ภักดีวานิช โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On October 2, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชี้ความสงบภายใต้รัฐประหารไม่ได้สงบอย่างแท้จริง แต่เกิดจากการใช้อำนาจกดทับจนประชาชนมองข้ามความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งจะเร็วหรือช้าอยู่ที่ทหารประเมินเรื่องความมั่นคงของทหาร

+++++

ผมมองว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้ที่หลายคนมองว่าไม่มีการประท้วงต่างๆเป็นสิ่งที่ดี เพราะไม่มีความวุ่นวาย และยังมีบางฝ่ายสนับสนุนให้ทหารสืบอำนาจเป็นรัฐบาลต่อ คนก็ควรมองเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย อย่างเรื่องงบประมาณ ปัญหาการทุจริต ความไม่โปร่งใส ต้องมีการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ

แต่ตอนนี้ผมว่าคนไทยจำนวนหนึ่งกำลังสับสนกับภาพลวงตาความสงบที่อยู่ภายใต้ความกดดัน ความจริงไม่ได้เป็นความสงบที่เกิดจากการที่เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างแท้จริง แต่เกิดจากการใช้อำนาจทางการทหาร ทำให้สังคมไทยมองข้ามข้อดีของประชาธิปไตยไป

ประชาธิปไตยคือการที่เราอยู่ร่วมกันได้ในสังคมโดยการยอมรับความแตกต่าง ดังนั้น ปัญหาใหญ่ที่หลายคนมองว่าถ้าทหารอยู่ไปเรื่อยๆคงจะดี แต่ไม่ได้มองเรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล คสช. หลายคำสั่งเป็นการใช้งบประมาณที่เหมาะสมหรือไม่ เช่น เรื่องการซื้ออาวุธมีความจำเป็นแค่ไหน เราไม่สามารถถามหรือตรวจสอบได้อย่างจริงจัง ทำได้เพียงแค่บ่น พูดผ่านโซเชียลมีเดีย กระบวนการตั้งคำถามและตรวจสอบจริงๆไม่มี

ตรงนี้เป็นปัญหาหนึ่งของการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ถ้าบอกว่าเป็นความจำเป็นผมก็อยากถามกลับว่าความจำเป็นคืออะไร ใครเป็นผู้บอกว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเรายังมีปัญหาหลายด้าน เช่น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะต่างจังหวัดจะเห็นคนรอคิวมากมาย ไม่มีเตียง ต้องนอนอยู่หน้าห้องน้ำ อันนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องพิจารณา

ผมประเมินว่าคงเป็นอย่างนี้อีกสักระยะหนึ่ง เพราะมีคนจำนวนพอสมควรที่เห็นสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ เห็นด้วยกับระบอบแบบนี้ นี่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้หลายคนมองว่าประชาธิปไตยทำให้เกิดปัญหานักการเมืองโกง ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่นักการเมืองที่โกง แต่โกงกันเกือบทุกภาคส่วนของระบบราชการไทย ทำให้เราถูกจัดอยู่อันดับท้ายๆประเทศที่มีความโปร่งใส

แก้ปัญหารัฐบาลโกง

รัฐบาล คสช. ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่นั้น ถ้าเราดูจากตัวชี้วัดคอร์รัปชันก็ไม่มีอะไรต่างกับรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน การทำงานของภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ หรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆของคนที่ต้องการให้มีการตรวจสอบถูกปฏิเสธ ถูกกดดัน ปิดกั้น ถ้าเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลมากกว่า ภาคประชาสังคมจะได้ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการตรวจสอบปัญหาการทุจริต ถ้าไปดูงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าหรือหลายหน่วยงานก็ให้ความสำคัญภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ที่จะมีบทบาทให้รัฐบาลทำงานและตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เมื่อถูกปิดกั้นก็ทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงราชการหรือแวดวงต่างๆยังคงอยู่

ผมขอย้ำว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากในอดีตเท่าไรนัก แต่ปัญหาคือคนไปมองแต่นักการเมืองว่าโกงทั้งที่มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ถ้าเรามัวแต่กลัวและมองว่านักการเมืองชั่วร้ายที่สุดจะทำให้เรามองข้ามปัจจัยอื่นๆที่เลวร้ายพอๆกับนักการเมืองก็ได้

วิตกปัญหาอะไรมากที่สุดขณะนี้

ผมเป็นห่วงที่คนจำนวนมากพอสมควรคิดว่าเราอยู่กันแบบนี้แล้วจะดี แต่ถ้าเราเปิดใจรับข้อมูลมากขึ้น สิ่งที่เห็นว่าดีนั้นก็มีข้อเสีย ผมไม่ได้บอกว่าพรรคการเมือง นักการเมืองดี แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนก็สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้มากกว่าในปัจจุบันที่เราแทบไม่สามารถตรวจสอบการทำงานต่างๆได้เลย เพราะมีมาตรา 116 แม้แต่การทำงานทางวิชาการและสื่อมวลชนก็ค่อนข้างลำบาก งานวิชาการอย่างการลงพื้นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือการเมืองที่เป็นด้านรัฐศาสตร์ คนทำงานต้องระวังตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะต่างจังหวัดมีทหารคอยตรวจสอบ ควบคุมการทำงานอยู่ใกล้ชิด อย่างมหาวิทยาลัยจะจัดเสวนาต่างๆก็ต้องขออนุญาตก่อน

ถามว่าสถานการณ์อย่างนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่าแช่แข็ง แต่มันเป็นสภาวะการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยมากกว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัว ถ้ากลายเป็นความเคยชินกับการมีทหารและไม่มีประชาธิปไตยจะยิ่งเป็นปัญหาต่อประเทศในระยะยาว ไม่ว่าเรื่องการตรวจสอบหรือการใช้อำนาจ

มีการเลือกตั้งปลายปี 2561 หรือไม่

เท่าที่ประเมินดูท่าทีจากรัฐบาล คสช. ก็พยายามส่งสัญญาณว่าอาจไม่มีการเลือกตั้งปลายปี 2561 ผมก็มองว่าอาจไม่มี แต่ผมว่ารัฐบาล คสช. คงอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะอย่างน้อยมันเหมือนตรายางที่จะทำให้ทหารอยู่ในการเมืองอย่างชอบธรรม มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการแต่งตั้ง แม้ทหารกลับมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็สามารถพูดกับประชาคมโลกได้ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้ามองบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญ

เราจะเห็นว่าปัจจัยภายนอกมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล คสช. น้อยกว่าปัจจัยภายในประเทศ ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญเช่นเรื่องความมั่นคง เสถียรภาพของผู้มีอำนาจ หลายครั้งมีการใช้คำว่าการเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มต่างๆหรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ความมั่นคงของประเทศ แต่เป็นเสถียรภาพของรัฐบาล คสช. มากกว่า

มันจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก ปัจจัยภายในประเทศน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไรมากกว่าปัจจัยภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว หากยังไม่มีการเลือกตั้ง การเจรจาการค้ากับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปก็ไม่ราบรื่น แต่กับสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะง่ายขึ้น เพราะทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนเท่าไร ผมคิดว่าปลายปี 2561 อาจไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นถึง 70% อย่างไรก็ตาม สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว อยู่ที่การประเมินของทหารว่าเขามั่นใจในเสถียรภาพ ในอำนาจของเขาเท่าไร เพราะถ้าเขามั่นใจก็อาจให้มีเลือกตั้งเร็วก็ได้

ถ้าไม่มีเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น

ขณะนี้มีคนต้องการให้มีการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมไม่คิดว่าถ้าไม่มีการเลือกตั้งจะนำไปสู่ความรุนแรงอะไรตามที่บางคนวิจารณ์ เพราะปัจจุบันทหารยังใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพมาก สร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่ไม่เห็นด้วยได้มาก ผมจึงไม่คิดว่าจะมีความรุนแรงอะไร จะมีแค่ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้มีการปลูกฝังให้เห็นความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ก็ต้องทนไปจนกว่าจะมีเลือกตั้ง อย่างที่บอกว่าคนจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเราก็คงอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะไม่เห็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เพราะถ้าเคลื่อนไหวจะถูกกดดัน ถูกทหารเชิญตัวไปพูดคุยอย่างที่เราเห็น กลไกเหล่านี้เขาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเคลื่อนไหวจึงเป็นไปได้ยาก การใช้วิธีนี้จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งยิ่งซึมลึกลงไปอีก ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะสภาวการณ์ที่เราเห็นอยู่ตอนนี้เหมือนกับไม่มีความขัดแย้ง แต่จริงๆแล้วความขัดแย้งถูกปกปิดอยู่ข้างใต้ ถูกกดดันไม่ให้มาอยู่ข้างบน ทำให้เรามองไม่เห็น และทำให้เราเพิกเฉยกับปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว

ปัญหาความขัดแย้งต่างๆต้องแก้ได้ด้วยการรับฟังและยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องเห็นด้วยทั้งหมด รับฟังด้วยเหตุผลของกันและกัน แต่อย่างน้อยควรมีกฎกติกาที่จะอยู่กันได้บนพื้นฐานความขัดแย้ง นั่นคือกลไกประชาธิปไตย กลไกการเลือกตั้ง ทุกสังคมมีความขัดแย้ง อย่างประเทศสหรัฐมีความขัดแย้งค่อนข้างมาก ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ และกลุ่มที่สนับสนุนฮิลลารี คลินตัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้บนกติกาความเป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แม้จะมีความขัดแย้งแต่สุดท้ายแล้วเขาก็ยอมรับกติกา ไม่ได้เรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้ว่าต้องมีกลไกที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ แก้ปัญหาได้ ไม่ใช่พอมีปัญหาอะไรก็เรียกร้องให้มีการปฏิวัติ เรียกร้องให้ทหารออกมา นั่นไม่ใช่หน้าที่ของทหาร

ผลกระทบจากการรัฐประหาร

ผลเสียเยอะมาก แต่ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน ผลเสียคือ ทำให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยถดถอยล่าช้า ข้อดีส่วนหนึ่งที่ผมมองคือ ทำให้คนให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิของตัวเองมากขึ้น เพราะคนเหล่านี้รู้สึกว่าสิทธิของตัวเองถูกลิดรอนจากการรัฐประหาร ทำให้คนเหล่านี้เข้าใจและพยายามเรียกร้อง พยายามพูดถึงอยู่เรื่อยๆ แม้อยู่ในสภาวการณ์ที่กดดัน ถ้ามองในระยะยาวคนเหล่านี้อาจเป็นกลไกขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ดี โดยเฉพาะคนชนบทที่ผมมองว่าเข้าใจดีว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่ที่น่าเศร้าสำหรับประเทศไทยคือคนในชนบทถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีการศึกษา คิดไม่เป็น ซึ่งประชาธิปไตยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษา การศึกษาไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าใครคิดได้ดีกว่าใคร หลายครั้งคนที่ไม่ได้เรียนสูงก็สามารถคิดสิ่งดีๆได้มากมาย ตรงนี้ผมคิดว่าจะต้องเปลี่ยน อย่างน้อยผลกระทบต่อเศรษฐกิจมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเจรจาการค้าโดยเฉพาะกับอียูไม่ได้ง่ายอย่างที่ควรจะเป็น การชะลอการค้าค่อนข้างมากภายใต้รัฐบาลทหารไม่เป็นผลดีต่อประเทศเลย

ถ้าดูภาพรวมของประเทศคนส่วนหนึ่งบอกว่าอยู่แบบนี้ดีแล้ว ไม่มีการประท้วง ผมขอบอกว่าเราไม่ควรอยู่กับภาพลวงตา เพราะอันนี้ไม่ใช่ความสงบในระยะยาว ความสงบในระยะยาวคือการสร้างกลไกให้คนอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง ตรงนี้สำคัญ ประชาธิปไตยสร้างให้เราได้ถึงไม่ใช่อำนาจทหาร แม้รัฐประหารจะไม่หายไปจากประเทศไทยก็ตาม ตราบใดที่คนจำนวนหนึ่งยอมรับบทบาทของทหารที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเศร้าสำหรับประเทศไทย

โอกาสเกิดรัฐบาลแห่งชาติ

ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคุณพิชัย รัตตกุล ไม่เห็นความจำเป็นต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะไม่ต่างกับการมี คสช. ในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีรัฐบาลแห่งชาติก็ต้องถามว่าใครจะมาเลือกตั้ง ผมยังเชื่อว่าหากคนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้ง มันจะเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน รัฐบาลแห่งชาติไม่จำเป็นและไม่ใช่ทางเลือกเลย

การเมืองไทยในอนาคต

ผมมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งต่อไป เพราะมี ส.ว. 250 คนที่ คสช. ตั้งมาเองเป็นเหมือนหลักประกันที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้ว่า คสช. มีการล็อบบี้ทุกพรรคการเมืองแล้ว ยกเว้นพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคชาติไทยพัฒนา ผมคิดว่า 2 พรรคนี้ต้องเลือก คสช. อยู่แล้ว

ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านจริงๆและได้เสียงเยอะพอสมควร จะได้เป็นฝ่ายค้านที่มีความเข้มแข็งพอสมควร ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็สามารถตรวจสอบ ตั้งคำถามรัฐบาลได้ การใช้อำนาจของทหารก็จะลดลง ประชาชนจะได้เห็นภาพบ้านเมืองที่แท้จริงมากขึ้นถ้าเปิดรับข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ รัฐบาลใหม่ยังอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทหารยังมีบทบาทภายใต้กลไกต่างๆที่กำหนดขึ้น เช่น หลายองค์กรที่แต่งตั้ง คสช. จะกุมอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 10 กว่าปี แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากประชาชนเห็นความจริงว่าไม่ได้ดีจริงๆ อย่างที่คาดหวัง

ถ้าเราไม่พยายามบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย ผมว่าไม่มีปัญหา ถ้าเรายอมรับไปเลยว่าเราอยู่ภายใต้ระบอบอะไร ประกาศให้ประชาคมโลกรับรู้ไปเลย แต่อย่าบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ แล้วปฏิเสธหลักการประชาธิปไตยที่เป็นหลักการสากล

ผมคิดว่าเราต้องยอมรับว่าเราจะเริ่มต้นเป็นประชาธิปไตยอย่างจริงจังอย่างไร คือเมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องยอมรับหลักการของการเลือกตั้งจริงๆ หลังการเลือกตั้งก็ไม่ควรให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง นั่นเป็นทางเลือกที่ดีของการเริ่มเรียนรู้ใหม่ เราต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง


You must be logged in to post a comment Login