วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กำเนิดมวยไทย(2) / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On October 2, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ขอร่ายยาวเกี่ยวกับการกำเนิดมวยไทยต่อจากที่ได้เกริ่นถึงที่มาที่ไปการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำสารคดีและบทความประวัติศาสตร์มวยไทย รวมถึงบริบทอื่นๆที่น่าสนใจ บทความนี้คงจะยาวสักหน่อย แต่ผมว่ามีอะไรที่น่าติดตามไม่ใช่น้อย

ข้อสังเกตแรกนั้นผมปะติดปะต่อด้วยวิธีการจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ เห็นว่าศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวน่าจะเป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหมนั่นเอง มีความเชื่อมโยงที่บรรดานักรบกรีกซึ่งมีประสบการณ์จากนักรบอาณาจักรโรมันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ผมเข้าใจว่าวิธีการต่อสู้ของนักรบแกลดิเอเตอร์ในยุคโรมันนั้นเป็นอีกอิทธิพลที่ส่งผ่านมายังทหารกรีก ซึ่งยกทัพเข้ามาทางตอนเหนือของอินเดียตั้งแต่ครั้งกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ยกทัพเข้ามาบุกอินเดีย

ความจริงอารยธรรมของกรีกมีหลายยุค กรีกสมัยโบราณเป็นอารยธรรมที่ผสมผสาน มีอยู่บางช่วงที่อารยธรรมกรีกโบราณถูกส่งผ่านกลมกลืนกับอาณาจักรโรมัน ซึ่งระยะดังกล่าวคงมีการซึมซับรับเอาการต่อสู้ของนักรบแกลดิเอเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แกลดิเอเตอร์คือนักรบหรือนักต่อสู้เดนตายที่ถูกจัดให้ต่อสู้กันเอง หรือต่อสู้กับสิงโต เพื่อกิจกรรมบันเทิงของชนชั้นสูงในอาณาจักรโรมัน จึงอาจเป็นไปได้ที่การต่อสู้เพื่อความบันเทิงนี้จะถูกส่งผ่านจากวัฒนธรรมโรมันโบราณเข้าสู่วัฒนธรรมกรีก โดยเฉพาะช่วงที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์และกษัตริย์เมนันเดอร์ยกทัพเข้ามาอินเดีย เป็นเหตุให้อารยธรรมกรีกเข้าครอบงำในอินเดียและบริเวณเอเชียกลางด้วย

จึงมีความเป็นไปได้มากที่มีการส่งผ่านวัฒนธรรมนักรบโรมันสู่วัฒนธรรมเอเชียกลางเพราะอิทธิพลจากเส้นทางสายไหม กรีกเองในสมัยกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ก็เคยทำสงครามโจมตีลงไปถึงอินเดียตอนใต้ก่อนจะพ่ายแพ้ล่าถอยไป โดยพ่ายแพ้ต่อการวางแผนของจันคยะ เสนาธิการคู่บัลลังก์กษัตริย์อโศกมหาราช และได้ทิ้งร่องรอยอารยธรรมกรีกไว้ในอินเดียมากมายหลายอย่าง มิใช่แค่ศิลปะการปั้นหรือประติมากรรมการสร้างพระพุทธรูปเท่านั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่วิถีการสู้รบแบบแกลดิเอเตอร์จะเป็นอีกอิทธิพลหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้

ความจริงกษัตริย์อโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่ขยายอิทธิพลของราชวงศ์ต่อจากพระเจ้าจันทรคุปต์จนมีดินแดนถึงอินเดียภาคเหนือและอัฟกานิสถาน

แม้โรมันจะเป็นชาติที่มีอำนาจมาก่อน แต่ต่อมากรีกกลายเป็นคู่แข่งขันทั้งเรื่องปรัชญาและความรู้ทางการเมืองและการปกครอง ซึ่งเหล่าปัญญาชนกรีกยุคนั้นมีนักคิดและนักปรัชญาเกิดขึ้นมากมาย เช่น อริสโตเติล เพลโต โสเครตีส เป็นต้น กรีกจึงพยายามขยายตัวไปทุกด้าน ไม่ว่าการค้าหรือการทหาร โดยเฉพาะยุคมาซิโดเนียถือว่ามีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรในทางทหารไม่ได้ด้อยน้อยกว่าโรมันแต่อย่างใด คาดว่ากรีกตั้งแต่สมัยมาซิโดเนียมีการเรียนรู้ด้านการทหารเพิ่มขึ้น เพราะหากไม่มีเขี้ยวเล็บเพิ่ม กองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์หรือพระเจ้าราเมนเดอร์ (มิลินทรา) คงไม่สามารถกรีธาทัพบุกมาถึงอินเดียได้ ซึ่งความจริงกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ยังมีแผนหลังยึดครองอินเดียได้แล้ว โดยจะตีย้อนกลับไปทางโรมต่อไป

แม้แผนการดังกล่าวต้องพังทลายลงเพราะพ่ายแพ้การวางแผนของจันคยะ ซึ่งเป็นคนรูปชั่วตัวทรามแต่เลิศล้ำด้วยปัญญา แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธภูมิปัญญาของกรีกที่ถ่ายทอดเป็นมรดกทางด้านความคิดและศิลปศาสตร์ต่างๆไว้เป็นมรดกเบื้องหลัง ซึ่งเข้าใจว่าศิลปะการต่อสู้แบบมวยปล้ำก็เป็นอีกอิทธิพลหนึ่งที่ถ่ายทอดเข้าสู่มวยไทยด้วย

ถ้าเราศึกษาเรื่องมวยปล้ำจนถึงโอลิมปิกปัจจุบันยังถูกบรรจุให้เป็นกีฬาที่แข่งขันกันอยู่ เป็นมวยปล้ำประเภทเกรกโกโรมัน โดยสันนิษฐานของผู้เขียนเห็นว่ามวยปล้ำแบบเกรกโกโรมันส่งผ่านเข้ามาสู่ภูมิภาคตงหวงและน่าจะถ่ายทอดสู่เผ่ามองโกลและพวกชงหนู ทำให้พวกเหล่านี้ได้เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้มวยปล้ำ

จึงไม่แปลกที่มวยไทยโบราณจะมีแม่ไม้การต่อสู้แบบทุ่มทับจับหักด้วยเช่นเดียวกัน

ศิลปะการต่อสู้แบบคูราชใช้เล่นกันมากในอุซเบกิสถาน ซึ่งมีลักษณะผสมระหว่างยูโดและมวยปล้ำ สะท้อนได้ดีถึงศิลปะการต่อสู้ของมวยไทย ซึ่งมีการทุ่มทับจับหักว่าน่าจะเป็นมรดกตกทอดมวยปล้ำจากกรีกและโรมันที่ส่งผ่านเข้ามา

เราอาจเชื่อมโยงได้ว่าอุซเบกิสถานในอดีต รวมถึงส่วนขยาย เช่น เติร์กเมนิสถาน รอบดินแดนเหล่านี้ล้วนเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของพวกนักรบเผ่าเย่จื่อ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของจักรพรรดิศรีไชยนาทแห่งอาณาจักรศรีวิชัยนั่นเอง

จากข้อมูลตรงนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เผ่าบรรพบุรุษนักรบเย่จื่อซึ่งเป็นทหารรับจ้างของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งจนมาถึงราชวงศ์ถัง น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของกำเนิดศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยโบราณ ซึ่งมีพิษสงรอบตัว รวมทั้งการทุ่มทับจับหักแบบมวยปล้ำผสมอยู่ด้วย


You must be logged in to post a comment Login