- ปีดับคนดังPosted 30 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ไม่ต้องกลัวเสียหน้า / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลทหาร คสช. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้
อย่างน้อยก็ต้องตอกเสาเข็มกันให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้รัฐบาลชุดหน้าที่มาจากการเลือกตั้งได้สานต่อตามพันธะสัญญาต่างๆที่ได้ลงนามไว้
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 3 ปีในการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร คสช. ดูเหมือนว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทั้งเรื่องเงินทุนและเรื่องอื่นๆ
จนถึงวันนี้ความชัดเจนเดียวที่มีมาตลอดคือ ต้องการให้จีนดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้
ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค Paisal Puechmongkol ให้ยกเลิกโครงการ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
“เลิกเถิดครับ
1.วันที่ 29 ตุลา 57 ลุงตู่ให้ลุงป้อมไปเจรจากับผู้นำจีนที่ปักกิ่งตกลงให้จีนทำรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 3 สาย ให้จีนช่วยซื้อข้าว 2 ล้านตัน ยาง 2 แสนตัน และลงนามในข้อตกลงตามที่ สนช. เห็นชอบ ต่อหน้านายกฯตู่และนายกฯหลี่ เค่อเฉียง ที่กรุงเทพฯเมื่อ 19 มกรา 58
2.ไทย-จีนตั้งคณะทำงานตามข้อตกลง พล.อ.อ.ประจิน (จั่นตอง) เป็นประธานฝ่ายไทย ตกลงชั้นดำเนินงานเรียบร้อย ประกาศทั่วไปว่า สิ้นปี 61 สายกรุงเทพฯ-โคราชและแก่งคอย-มาบตาพุดเสร็จ ปี 62 เสร็จทั้งหมด
3.หลังจากปรับ ครม. เปลี่ยนหมด เจรจากัน 3ปีไม่ไปไหน นายกฯตู่เร่งแล้วเร่งอีก ในที่สุดประกาศว่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงแรกกรุงเทพฯ-โคราช งบ 179,000 ล้าน จะเจรจาช่วงโคราช-หนองคายต่อไป
4.วันที่ 4-5 กันยา 60 ไปลงนามสัญญากันที่เซียะเหมินในการประชุม BRICS ทำสัญญาจ้างจีนออกแบบวงเงิน 3,800 ล้านบาท อายเขาไหม?
5.หลังเซ็นสัญญาที่เซียะเหมินแล้วประกาศว่าจะสร้างเฟสแรก 3.5 กม. จากบ้านกลางดง-บ้านปางสีดา เป็นตามที่ผมเคยบอกไว้ ตอนนั้นเถียงคอเป็นเอ็นว่าไม่จริง ใครสร้างรถไฟ 3.5 กม. ก็บ้าแล้ว ก็บ้าแล้วจริงๆ
6.ล่าสุดประกาศว่าที่จะสร้างทางรถไฟ 3.5 กม. นั้น จะให้กรมทางหลวงสร้าง
นี่หนักกว่าสร้างทางรถไฟ 3.5 กม. อีก กรมทางหลวงเคยสร้างทางรถยนต์ หลายสิบปีมานี้เปลี่ยนเป็นว่าจ้างเอกชน จะไม่เป็นการเอาช่างทำรองเท้าไปทำฟันหรือ จะเข้าท่ากว่าไหมถ้าให้โรงเรียนการรถไฟสร้าง?
7.ทำแบบนี้เห็นคนไทยเป็นควายหรือ ไม่รู้จักอับอายขายหน้าชาวโลกเขาหรือ
มาถึงวันนี้ถ้าจะเบี้ยวกันให้สนั่นลั่นโลก ไม่คิดถึงผลประโยชน์และเกียรติของชาติก็ยกเลิกไปเลยดีกว่า ประเทศไทยและรัฐบาลจะไม่ต้องขายหน้ามากกว่านี้
แต่ถ้าจะทำจริงก็ต้องเอาคนที่จะทำให้งานสำเร็จมาทำครับ”
ข้อมูลนี้นับว่าน่าสนใจมาก เพราะบ่งบอกถึงความเป็นไปของโครงการว่ามีการดำเนินการกันไปถึงไหน อย่างไร และมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะได้เห็นการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลทหาร คสช. หมายมั่นปั้นมือว่าจะทำให้เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงก่อนลงจากอำนาจ
เมื่อดูจากข้อมูลที่นำมาเปิดเผยแล้วจะเห็นว่าโอกาสที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเริ่มดำเนินการได้ตามความคาดหวังของรัฐบาลทหาร คสช. มีค่อนข้างน้อย
ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าตั้งแต่เริ่มต้นเจรจากับจีนจนถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่ตกลงกันได้อย่างเป็นทางการ
คำถามคืออะไรที่ทำให้โครงการนี้ไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆที่เคยร่วมกันคัดค้านโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในสมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หากมองในมุมบวก ที่ยังไม่สามารถเริ่มโครงการได้อาจเป็นเพราะการเจรจายังไม่ลงตัว เนื่องจากรัฐบาลไทยเห็นว่าข้อเสนอต่างๆนั้นมีหลายเรื่องที่ไทยเสียเปรียบค่อนข้างมาก
เมื่อเป็นอย่างนี้โครงการจึงพลิกไปพลิกมาตั้งแต่เริ่มต้น จากที่ให้จีนลงทุนทั้งหมดแลกกับการใช้สิทธิประโยชน์สองข้างทางรถไฟมาเป็นการกู้เงินจากจีนมาดำเนินการ แต่เมื่อมีข่าวว่าดอกเบี้ยแพงกว่าที่อื่นที่ไทยสามารถกู้ได้ก็เปลี่ยนมาเป็นไทยจัดหาเงินทุนเองทั้งหมด โดยเล็งเป้ามาที่การใช้แหล่งเงินทุนในประเทศเป็นหลัก
ในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างที่มีเงื่อนไขว่าต้องจ้างจีนดำเนินการทั้งหมด แม้แต่แรงงานก่อสร้างก็ต้องใช้คนจีน เมื่อถูกทักท้วงก็เปลี่ยนมาเป็นให้จีนถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีแก่ฝ่ายไทยด้วย โดยเฉพาะการออกแบบและการก่อสร้าง
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพยายามผลักดันโครงการอย่างเต็มที่ แต่ก็ยากยิ่งกว่าการอุ้มช้างไปอาบน้ำ
ขนาดเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มที่ มีกฎหมายรองรับการใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลก็ยังไม่กล้าเปิดหวูดให้โครงการเริ่มเดินเครื่อง
การที่รัฐบาลไม่กล้าทุบโต๊ะให้โครงการเดินหน้าแสดงว่ามีเงื่อนไขที่แม้แต่รัฐบาลทหารที่ต้องการเร่งผลักดันโครงการไม่กล้าเสี่ยงหยิบเผือกร้อนมาไว้ในมือ
ต้องเป็นเงื่อนไขอุปสรรคที่สำคัญและใหญ่มากๆที่รัฐบาลเห็นว่าขืนดันทุรังทำไปจะเสียมากกว่าได้ จากผลงานชิ้นโบแดงจะกลายเป็นโบดำ
แม้ไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่จะถูกก่นด่าต่อการตัดสินใจที่อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาในอนาคต (ถ้ามี)
โครงการรถไฟความเร็วสูงจึงยังไปไม่ถึงไหน และเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกโดยไม่ต้องกลัวเสียหน้า
ที่สำคัญเสียงเรียกร้องนั้นเริ่มดังออกมาจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหาร คสช. เสียด้วย
You must be logged in to post a comment Login