- อย่าไปอินPosted 3 days ago
- ปีดับคนดังPosted 4 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 5 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 6 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 7 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ประเทศไทย 4.0 ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
ปูลี้ภัย?
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปีโดยไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายบังคับคดีนำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา
ผลคำพิพากษาไม่ได้เหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย ทำให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มีความผิดที่ต้องถูกติดตามตัวมารับโทษ ซึ่งตามขั้นตอนศาลฎีกาฯจะต้องออกหมายจับเพื่อบังคับจำเลยให้มารับโทษตามคำพิพากษา เหมือนกับกรณีอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร มีความผิดคดีที่ดินรัชดาฯ
ส่วนการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดโอกาสให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ โดยต้องยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯภายใน 30 วัน แม้ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังอยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯประกาศใช้ แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้ว่า หากจะสู้คดีต้องมายื่นอุทธรณ์ที่ศาลด้วยตัวเอง จะส่งทนายมาเป็นตัวเเทนไม่ได้
คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 123/1 มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยศาลฎีกาฯรับฟ้องเป็นคดีที่ อม.22/2558 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 และเริ่มไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 จนเสร็จสิ้นรวม 26 นัด 45 ปาก
การไม่มาศาลและหลบหนีไปต่างประเทศกับคำตัดสินที่ออกมาทำให้เชื่อว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้ตัดสินใจแล้วว่าไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็จะเดินตามรอยอดีตนายกฯทักษิณ แต่จะ “ลี้ภัย” หรือไม่นั้น อีกไม่นานอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็คงต้องออกมาชี้แจงให้สาธารณชนรับรู้อย่างแน่นอน เพราะมีมวลชนที่ยังรักและศรัทธาจำนวนมาก
คำตัดสินของศาลระบุความผิดกรณีเดียวกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุก 42 ปี และ 36 ปี ตามลำดับ โดยทั้งคู่ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันทีที่มีคำพิพากษา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างรอยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
นอกจากนี้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยังมีคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งทางปกครอง และอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ไม่ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์เป็นเงิน 35,000 ล้านบาท
เมื่อคำตัดสินของศาลออกมาชัดเจนแล้ว ไม่ว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะอยู่ที่ไหนในขณะนี้ย่อมต้องกำหนดอนาคตตัวเองว่าจะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมอย่างไร ไม่ว่าจะขอลี้ภัยทางการเมืองได้หรือไม่ จะยอมถูกวิกฤตนี้ปิดฉากชีวิตทางการเมืองไปแบบผู้แพ้ หรือจะใช้เป็นโอกาสเพื่อเริ่มต้นศักราชใหม่ทางการเมืองอีกครั้ง ย่อมไม่มีใครให้คำตอบนี้ได้ดีเท่ากับตัวอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เองและตระกูลชินวัตร
ที่แน่ๆเมื่อผลของคดีออกมาแบบนี้ การตัดสินใจ “หนี” หรือ “ลี้ภัย” ของ “นายกฯปู” ในสายตาของฝ่ายคนรักยิ่งลักษณ์และครอบครัวชินวัตรจึงกลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด เพราะคนมากมายเชื่อว่าวันนี้ประเทศไทย 4.0 ภายใต้อำนาจรัฐบาลทหารและกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายที่ยังมีข้อคลางแคลงใจ การหลบหนีลี้ภัยย่อมเป็นการต่อสู้อีกทางหนึ่งในโลกที่เป็นประชาธิปไตยอันไร้ซึ่งพรมแดน
เลือกตั้งพับ?
คำพิพากษาคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองชัดเจนมากขึ้นว่านับจากนี้ไปแต่ละฝ่ายจะวางแผนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารและพวกพ้องหรือฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งต้องจับตาดูว่าที่ว่าจะมีการเลือกตั้งนั้น จะเป็นไปตามโรดแม็พที่ยังไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ที่ไหน หรือจะมีหรือไม่ เพราะจนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่พูดชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร แม้จะย้ำว่ายังเป็นไปตามโรดแม็พ แต่การแสดงอาการหงุดหงิดทุกครั้งที่ถูกถามก็สะท้อนถึงความไม่แน่นอน เช่นเดียวกับคำตอบเรื่องที่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ก็ไม่เคยหลุดปากปฏิเสธว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆในอนาคตแต่อย่างใด
ที่ชัดเจนคือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแน่นอน แต่ไม่เคยปฏิเสธว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี ประเด็นสำคัญถ้าไม่มีการเลือกตั้งปลายปี 2561 และปี 2562 หรือไม่มีการเลือกตั้งอีกนานหลายปี จะเกิดอะไรขึ้น?
เกี่ยวกับเรื่องนี้คนการเมืองเริ่มออกมาแสดงความเห็นอย่างกระจัดกระจาย อย่างเช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า หากปี 2562 ไม่มีการเลือกตั้งก็ตัวใครตัวมัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้รัฐบาลทหารและ คสช. ประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงสมัครรับเลือกตั้งถ้าคิดว่าทำให้บ้านเมืองดีขึ้นอย่างที่พูด
การเลือกตั้งอาจเข้าทำนอง “พับเก็บใส่ลิ้นชักไปก่อน” ก็เป็นได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรในอนาคต เพราะกฎหมายลูกที่ดูไม่มีปัญหากลับมีปัญหา และอาจแท้งเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ได้
เรื่องนี้เชื่อว่า “ทั่นผู้นำ” ก็คงไม่รู้สึกผิดอะไรหากการเลือกตั้งไม่เป็นตามโรดแม็พ เพราะที่ผ่านมาโรดแม็พก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ทั้งที่ “ทั่นผู้นำ” เคยประกาศต่อประชาคมโลก
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค (25 กันยายน) “นี่แหละ…คนดี” ว่า ถ้าตนเป็นคุณหญิงสุดารัตน์จะขอบคุณ พล.อ.ประวิตรที่ออกมาตอบโต้ที่ว่า “อยากมั่นใจให้มีการเลือกตั้งก็ให้มาทำเอง”…ประชาชนหูตาสว่างถึงวาทกรรมของคำว่า “คนดี” ซึ่งตนก็ไม่เคยคิดว่าพวกที่ยึดอำนาจไปจากประชาชนเป็นคนดี เพราะเผด็จการก็คือเผด็จการ ไม่เคยสำนึกว่าอำนาจที่ยึดไปนั้นเป็นของประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เวลาจะคืนอำนาจกลับมีเงื่อนไขและข้ออ้างสารพัด
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเรื่องการเลือกตั้งว่า จะช้าหรือเร็วก็ต้องเกิดขึ้น แต่ถ้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไม่ผ่านความเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียง 1 ฉบับ การเลือกตั้งก็จะไม่เกิดขึ้นตามโรดแม็พและต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างฉบับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนและฝ่ายการเมืองถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะหากพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางยังไม่สามารถสร้างศรัทธาให้กับประชาชนได้ ใช้รัฐสภาแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ การเลือกตั้งก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชนยังกลัวจะเกิดเหตุความวุ่นวายขึ้นเหมือนในอดีต
การเลือกตั้งที่ว่ากันว่าจะเป็นไปตามโรดแม็พก็คงไม่อาจสรุปว่าจะมีขึ้นได้เมื่อใด เพราะจนวันนี้เจ้าของโรดแม็พยังไม่รู้เหมือนกันว่าโรดแม็พตัวเองปลายทางสุดท้ายจะลงที่ไหน ลงอย่างไร เพราะการ “ลงจากหลังเสือ” นั้นมันอันตรายกว่า ไม่ได้ง่ายๆเหมือนตอน “ขึ้นขี่บนหลังเสือ” การเลือกตั้งจึงอาจถูกพับเก็บใส่ลิ้นชักไปอีกนาน
เศรษฐกิจพังครืน?
เมื่อการเมืองยังไม่นิ่ง อีกทั้งบ้านเมืองยังอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการมาจากการทำรัฐประหารจนนานาประเทศไม่ยอมรับ ปัญหาเศรษฐกิจจึงถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไปที่ไหนก็มีแต่เสียงโอดครวญว่าแย่และแย่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินสายพูดคุยกับนักธุรกิจและเวทีสาธารณะต่างๆโดยยืนยันว่าเศรษฐกิจตอนนี้ขาขึ้นแล้ว แต่ก็สวนทางกับรายงานเศรษฐกิจของหลายฝ่ายที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น แม้การส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ไม่ใช่จากเศรษฐกิจภายในที่ยังไม่สามารถกลับมาขับเคลื่อนเหมือนในอดีตได้
แม้แต่การลงทุนของนักลงทุนไทยก็เลือกที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าจะลงทุนในประเทศ จึงไม่แปลกที่นักลงทุนต่างชาติจะไม่ลงทุนในไทย แถมยังย้ายฐานการผลิตออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่รัฐบาลงัดกฎหมายพิเศษประเคนสิทธิพิเศษให้มากมายสารพัด มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียอีก
ภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงเหมือนที่นักวิชาการระบุว่าเป็น “วิกฤตต้มกบ” ที่กำลังตายช้าๆอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวเห็นได้ชัดว่าถ้าไม่ตกต่ำสุดขั้วก็ลุ่มๆดอนๆนับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะเกิดกระแสข่าวว่ารัฐบาล “ตูดขาด” ถังแตก
ยิ่งนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง หลุดปากว่า การส่งออกเพิ่มขึ้นแค่ 10 บริษัทขนาดใหญ่ (ซึ่งใกล้ชิดกับกองทัพและกลุ่มชนชั้นสูง) ที่ “ได้ประโยชน์” จึงไม่แปลกที่ธุรกิจใหญ่บางแห่ง รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กก็ไปไม่รอด แม้อ้างจีดีพีปีนี้ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-6-3.8% ก็เป็นแค่ตัวเลขที่ไม่ใช่เศรษฐกิจที่แท้จริง ยิ่งเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยิ่งเห็นชัดเจนว่าประเทศไทยวันนี้ได้กลายเป็น “ผู้ป่วยอาเซียน” จนเป็นที่น่าวิตกอย่างมาก
แม้แต่ฐานะทางการเงินที่บอกว่าประเทศไทยมีเงินสำรองที่แข็งแกร่งดีนั้น นายสมชัยยังถูกมองว่ากำลังก้าวล่วงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเปิดเผย จากที่เรียกร้องให้ ธปท. ใช้เครื่องมือทางการเงินคือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท. สวนกลับว่า ขอให้ใช้นโยบายการคลัง (บ้าง) เช่น ให้รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรเร่งคืนหนี้ต่างประเทศมาซื้อเงินตราต่างประเทศออกไปชำระหนี้เพื่อลดสำรองเงินตราต่างประเทศก็จะช่วยให้ลดภาวะเงินบาทแข็งค่าลงได้บ้าง
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนจะแข็งแต่ไม่แข็งอย่างที่คิด เพราะเป็นความแข็งที่ซุกซ่อนความอ่อนแอไว้ในโครงสร้างเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายการปรับตัวของเครื่องมือทางนโยบายของประเทศก็ไม่รวดเร็วเพียงพอที่จะรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำจากเศรษฐกิจที่โตแค่ 3% จากที่เคยโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี แต่ปัญหาคือเค้กที่เริ่มไม่โตแล้วยังมีคนอื่นมาแย่งไปอีก ทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะคนรวยรวยขึ้น คนจนก็จนลง อย่างที่เรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า จีดีพีปี 2560 เพิ่มเป็น 3.8-4.3% เพราะได้อานิสงส์ส่งออกและท่องเที่ยวเติบโต ยิ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแบบไร้การจ้างงาน เพราะไม่ใช้แรงงานเข้มข้นและกระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีเท่านั้น ซึ่งเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลก
ขณะที่เว็บไซต์บีบีซีไทยได้สำรวจบรรยากาศแม่ค้าพ่อค้าที่รัฐบาลอ้างว่าวันนี้เศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดคลองเตย ปรากฏว่าชาวบ้านรากหญ้าและแม่ค้าต่างระบุว่ารายได้หายไปกว่าครึ่ง เพราะลูกค้าซื้อน้อยลง ขณะที่ผู้ซื้อบางส่วนก็หายไปหลังจากมีนโยบายจัดระเบียบทางเท้า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคซบเซาสุดในรอบสิบปี
เสียงสะท้อนจากแม่ค้าบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฐานรากต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ขณะที่บริษัท กันตาร์เวิร์ลดพาแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทวิจัยทางการตลาด ก็ยืนยันว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคระดับรากหญ้าถือว่าถดถอยที่สุดในรอบทศวรรษ
เศรษฐกิจไทยจึงดีขึ้นเฉพาะคำพูด แต่ความจริงอาจถึงขั้นพังครืน ประเทศไทย 4.0 ภายใต้ประชาธิปไตย 99.99% คงเป็นแค่เรื่องอารมณ์ขันที่พูดให้ขำๆของ “ทั่นผู้นำ” เพื่อคืนความสุขให้คนไทย
รีดภาษี?
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา มีการปรับอัตราการจัดเก็บภาษีสินค้า อาทิ เหล้า บุหรี่ และเบียร์ ทำให้มีราคาปรับขึ้นตามภาษี โดยที่ราคาปรับมากที่สุดคือบุหรี่
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารัฐบาลถังแตกจึงจำเป็นต้องขึ้นภาษี หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยหลุดปากให้คนไทยเสียสละกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 8% แม้ภายหลังจะออกมาแก้ตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ข่าวรัฐบาล “ตูดขาด” ถังแตก หมดไป แม้ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์จะแก้เกี้ยวแถมคุยโวว่าเป็นรัฐบาลแรกที่กล้าขึ้นภาษีสรรพสามิต เพราะหลายรัฐบาลไม่กล้าทำ กลัวเสียคะแนนเสียง
พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “รัฐบาลจัดเก็บรายได้มีจำกัด ขออย่าหนี เลี่ยง หรือโกงภาษี ผมพยายามทำทุกอย่าง ไล่บี้ทุกวัน แก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีให้ได้ครบตามเป้า การปรับขึ้นภาษีใหม่ไม่ได้หวังรีดนาทาเร้นใคร ไม่ว่าจะสูบบุหรี่หรือกินเหล้า ถึงอย่างไรคนก็กิน แต่พอขึ้นภาษีก็บอกว่ารัฐบาลตูดขาด จริงๆแล้วการปรับขึ้นภาษีคิดมากี่รัฐบาลแล้ว เคยทำได้หรือไม่ หากไม่ทำวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจะสกัดคนหน้าใหม่ได้ หลายเรื่องที่รัฐบาลนี้ทำได้โดยที่ทุกรัฐบาลทำไม่ได้เพราะกลัวเสียคะแนน แต่ผมไม่เคยกลัวเสียคะแนน”
น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ บอกว่า ภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่ทำให้โรงงานยาสูบต้องปรับเพิ่มราคาบุหรี่ทั้งหมด 16 ยี่ห้อ จากเดิมเสียภาษี 25-40 บาทต่อซอง เพิ่มไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อซอง ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์การขายไม่ให้เกิน 60 บาทต่อซอง เพื่อไม่ต้องเสียภาษีอัตราสูงขึ้น แม้ทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น แต่โรงงานยาสูบอาจรายได้หายไปเกือบ 7,000 ล้านบาท
การขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่ที่คนบางกลุ่มเรียกว่า “ภาษีบาป” นั้นย่อมกระทบคนทุกระดับ แต่ภาษีที่ได้ก็ไม่ได้มากมายอะไร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยอมรับ แต่อ้างว่าเป็นการสกัดคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ให้ลดลง ซึ่งจะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่คำถามที่นักวิชาการตั้งคำถามมาตลอดคือ ทำไมรัฐบาลไม่ปฏิรูปภาษีทั้งระบบ ซึ่งเอื้อประโยชน์คนรวยและกลุ่มทุน แม้แต่สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆก็เอื้อประโยชน์คนรวยและกลุ่มทุนมากกว่าประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เลื่อนประกาศมาแล้วถึง 2 ครั้ง เพราะกระทบคนรวยและเจ้าที่ดิน
เพจ “Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน”ได้รวบรวมข้อมูลจากบัญชีทรัพย์สิน สนช. 247 คนที่ครอบครองที่ดินขณะนี้ว่ามีมูลค่ารวมกันถึง 9,803,618,528 บาท โดย สนช. ที่ครอบครองที่ดินมีมูลค่ามากที่สุด 1,197,900,920 บาท และน้อยที่สุด 200,000 บาท เฉลี่ยคนละ 42,075,616 บาท นับเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งได้เหน็บเป็นนัยๆว่าเจ้าของที่ดินทั้งหลายก็นั่งอยู่ใน สนช. ด้วยใช่หรือไม่?
ขณะที่อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยยกรายงานของทีดีอาร์ไอว่า ครอบครัวไทยที่รวยที่สุด 20% ของประเทศมีทรัพย์สินรวมกันถึงร้อยละ 69 ของประเทศ ขณะที่ครอบครัวที่จนที่สุด 20% มีทรัพย์สินรวมกันเพียงร้อยละ 1 คือครอบครัวรวยที่สุด 20% มีทรัพย์สินมากกว่ากลุ่มจนที่สุดถึง 69 เท่า หรือความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียง 20% ของประเทศ หากมองผ่านการกระจายการถือครองที่ดินจะพบการกระจุกตัวที่ชัดเจนว่าที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของคนส่วนน้อย คือร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ที่เหลือร้อยละ 90 ถือครองที่ดินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ไร่เท่านั้น
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทำวิจัยเรื่อง “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย (The Concentration of Wealth in Thai Society)” โดยศึกษาถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย ซึ่งพิจารณาจากทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดิน บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ ทรัพย์สินทางการเงินและหลักทรัพย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2555 (ขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สิน) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) กรมที่ดินและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า การถือครองที่ดินของนิติบุคคล กลุ่มของผู้ที่มีที่ดินมากสุด 20% แรกถือครองที่ดินต่างจากกลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุดถึง 729 เท่า โดยผู้ถือครองที่ดินสูงสุดมีที่ดินถึง 2,853,859 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการระบุไว้ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว แต่มีข้อสังเกตว่าอาจเป็นการถือครองโดยเจ้าของรายเดียวที่มีชื่อ-นามสกุลเหมือนกันหรือหลายรายก็เป็นได้
เมื่อสังคมไทยมีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งค่อนข้างสูง อีกทั้งความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินยังมีแนวโน้มสูงกว่าความไม่เสมอภาคในรายได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคได้คือการกระจายการถือครองทรัพย์สินใหม่ เช่น การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน
ความเห็นเหล่านี้คือมุมมองจากผู้ที่คร่ำหวอดและรู้ลึก จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะไล่บี้เก็บภาษีจากคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนชั้นกลางและคนจน ไม่ว่าจะเป็นการพยายามปรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 8% หรือ 10% หรือเก็บภาษีเหล้าหรือบุหรี่ แต่ไม่กล้าเก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกลุ่มผู้มีอำนาจที่วันนี้อาจมีผลประโยชน์มากมายจากวิกฤตบ้านเมืองและการรัฐประหาร 2 ครั้งก็ได้ เพราะสังคมไทยวันนี้มีแต่ “รวยกระจุก จนกระจาย” คิดอะไรไม่ออก การหารายได้เข้าประเทศวิธีที่ง่ายที่สุดของรัฐบาลถังแตกที่ถูกเหน็บว่า “ตูดขาด” ก็คือการ “รีดภาษี” ด้วยการใช้กฎหมายที่กระทบใครก็ได้ แต่ไม่กระเทือนคนที่ออกกฎหมายเองอย่างนั้นหรือไม่?
ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี-หนีไม่พ้น
ข่าวที่ปลัดกระทรวงการคลังบอกว่า “ทั่นผู้นำ” กำชับให้เร่งสรุปยอดผู้สูงอายุที่ต้องการสละสิทธิรับเบี้ยคนชราให้เร็วที่สุด เพราะรัฐบาลต้องอุดหนุนให้เฉลี่ย 600 บาทต่อคนเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ามีผู้สูงอายุสละสิทธิรับเบี้ยมากน้อยแค่ไหนด้วย กระทรวงการคลังจึงเสนอให้รางวัลผู้สูงอายุที่สละสิทธิ ถือว่าเป็นผู้ทำคุณงามความดี โดยจะทำเหรียญเชิดชูเกียรติที่ด้านหนึ่งจะลงยันต์พระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปลุกเสก แจกเป็นของรางวัล โดยจะให้กับผู้สูงอายุที่สละสิทธิทุกปีเพื่อเป็นการจูงใจ จึงเป็นเรื่องฮาในสภาวะประเทศไทยยุค 4.0 อย่างไม่รู้จะหยุดหัวเราะได้อย่างไร ข่าวนี้สรุปถึงสภาวการณ์ของเศรษฐกิจและการเมืองไทยที่แท้จริงไปโดยปริยายในข่าวเดียว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลเป็นขาประจำและถูกเรียกไปปรับทัศนคติมาแล้วไม่รู้กี่รอบ ได้เคยเตือนรัฐบาลมาตลอดว่าเศรฐกิจมีแต่วิกฤต ไม่ใช่ดีขึ้น อย่างที่นายสมคิดบอกว่าเศรษฐกิจขาขึ้นนั้นน่าจะเป็น “ขาชี้ฟ้า เอาหัวลง” มากกว่า เช่นเดียวคำเสียดสีในโลกออนไลน์ที่ว่า “ประชาชนขาขึ้นเหมือนกัน แต่เอาขาขึ้นก่ายหน้าผาก”
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วตามกระแสของเทคโนโลยีนั้น กลับมีคำถามว่าที่ “ทั่นผู้นำ” พยายามสร้างฝันและตอกย้ำจะทำให้ประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 เป็นไปได้แค่ไหน เมื่อบ้านเมืองวันนี้ยังอยู่ในยุครัฐประหารเผด็จการครองเมือง
บ้านเมืองจึงไม่ได้อยู่ในภาวะปรกติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แม้แต่คำว่าประชาธิปไตยที่จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีบทเฉพาะกาล 5 ปี และยังต้องอยู่ภายใต้แผน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” อีก บ้านเมืองจึงไม่ได้เดินหน้าสู่ยุค 4.0 เลย แต่เหมือนถอยหลังกลับสู่ยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือน่าจะเรียกว่า “เผด็จการครึ่งใบ” เสียมากกว่า
แทนที่บ้านเมืองจะฝากฝังเอาไว้กับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งอายุสัก 20-30 ปี ที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองในอนาคต แต่ประเทศไทยกลับฝากความหวังไว้กับคนรุ่นอายุ 70-80 ปี ที่ไม่รู้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะยืนอยู่ตรงไหน หรือยังยืนไหวอยู่หรือเปล่า
สังคมไทยวันนี้จึงเสมือนอยู่ภายในสภาวะ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
ยิ่งบ้านเมืองวันนี้เต็มไปด้วยวิกฤตก็ยิ่งทำให้นึกถึงข้อความด้านหน้าตาลปัตรพระเวลาสวดศพที่ว่า..
“ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี-หนีไม่พ้น”!!??
You must be logged in to post a comment Login