วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

6 ตุลาสร้างสรรค์ประชาธิปไตย / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On October 5, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือเมื่อ 41 ปีก่อน เป็นวันที่นักศึกษาประชาชนถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกเข่นฆ่าบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ผมในฐานะนักศึกษาปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้นขอร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ผ่านคอลัมน์นี้

อันที่จริงเหตุการณ์ 6 ตุลาถือเป็นการฆ่าเพื่อบูชายัญความมั่นคงของเหล่าเผด็จการทรราช เสมือนการฆ่าสัตว์บูชายัญก็ไม่ปาน การทำลายประชาธิปไตยเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอำนาจของตนเอง ไม่ได้ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนแม้แต่น้อย

เหล่าวีรชน 6 ตุลาตายเพื่อประชาธิปไตย และทำให้โลกเห็นว่าฝ่ายอำนาจนิยมทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งทำลายชีวิตผู้อื่น แต่ที่น่าสังเวชคือ มิตรสหายที่ร่วมต่อสู้จำนวนมากกลับยอมศิโรราบอำนาจเผด็จการทรราช พวกเขาไม่ได้ถูกบังคับ แต่ยินยอมจะช่วยเผด็จการสู้เพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอยู่ข้างถนนแล้วได้อวยยศศักดิ์ คนพวกนี้หากินกับอำนาจจึงไม่ละอายที่จะเลียเผด็จการ

ผมอยากย้ำให้เห็นชัดว่าระบอบเผด็จการทรราชสร้างคนดีไม่ได้ สร้างได้แต่พวกคิดคดทรยศชาติ ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ปากหวานก้นเปรี้ยว เพราะ 1.สร้างได้แต่พวกทุจริตโกงกินแบบบุฟเฟ่ต์ โดยเหล่าอำมาตย์ใหญ่น้อยสร้างระบบเส้นสายที่รวมคนชั่ว 2.สร้างได้แต่อาจมมหาวิทยาลัยที่โกงเวลานักศึกษาไปหากินส่วนตัวหรือเพื่อลาภยศสักการะ 3.สร้างได้แต่อาคารสถานที่ราชการใหญ่โตมากมายสวยงามยิ่งกว่าธนาคารพาณิชย์ แต่กลับมีไว้ใช้สอยกันเอง 4.สร้างได้แต่บ้านพักข้าราชการราคาแสนแพงให้ผู้หลักผู้ใหญ่อยู่อาศัยเสพสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 5.สร้างได้แต่ระบบอุปถัมภ์ในสังคม 6.สร้างระบบการแจกเศษเงินฟาดหัวไปวันๆ

ระบอบเผด็จการมุ่งแต่จะกำจัดหรือลดทอนระบบสวัสดิการสังคม สวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล แต่จะปรนเปรอค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการจนถึงลูกๆและบุพการี แต่ละปีต้องใช้งบประมาณเป็นเงินเดือนถึงราว 70,000 ล้านบาท สำหรับข้าราชการ 10 ล้านคน เฉลี่ยคนละประมาณ 7,000 บาทต่อปี แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) กลับถูกตัดงบประมาณเหลือเพียงปีละ 128,533 ล้านบาท สำหรับประชาชนกว่า 48 ล้านคน หรือเฉลี่ยคนละ 2,700 บาทต่อปี

ระบอบเผด็จการมักคิดแต่จะเบื่อเมาประชาชนให้จมอยู่กับภาวะสุขนิยม (Hedonism) และคิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง (Self-Centeredness) แบบมองไกลแค่ปลายจมูก เพื่อไม่ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้าน เช่น ยุค 3 ทรราชส่งเสริมให้นักศึกษากรีดกรายงานบอลต่างๆ แค่เปลี่ยนชื่อจากฮิปปี้ บุปผาชน ยุคนี้ก็ทำเท่เป็นแบบ “ฮิปสเตอร์” ซึ่งเนื้อแท้ก็เน้นสุขนิยม มองเห็นแต่ตนเอง กระบวนการทำดีของระบอบเผด็จการในอดีตทำแบบ “คุณหญิงคุณนาย” ส่วนยุคนี้ทำแบบ CSR จอมปลอมที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คนเสแสร้งทำดีกลับได้ดี

สังเกตได้ว่าการทุจริตในยุคเผด็จการจะหนักขึ้นทุกวัน รีดนาทาเร้นประชาชน ทำนาบนหลังคน เพราะขาดกลไกตรวจสอบจากประชาชน ระบอบเผด็จการจึงจะนำพาชาติสู่ความวิบัติ ต่างจากรัฐบาลของประชาชนที่เน้นการให้เบ็ด ไม่ใช่ให้ปลา

ดังนั้น รัฐบาลที่ดีในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนคาดหวังจะต้อง 1.ให้ทุนการประกอบอาชีพ เช่น กองทุนหมู่บ้าน เพื่อต่อยอด ไม่ใช่ไปทำถนน ทำเงินจม 2.ให้ช่องทางทำกิน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ เช่น 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ 3.แปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 4.ให้ทุนทางความคิด ให้ทุนการศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุน หรือแจกแทบเล็ตเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้ศึกษาเอง 5.ให้ทุนด้านสุขภาพ โดยการรักษาพยาบาลฟรี และ 6.ให้สวัสดิภาพแก่ประชาชน เช่น ปราบยาบ้า หวยเถื่อน และเก็บปืน เพื่อป้องกันอาชญากรรมอย่างถึงรากถึงโคน เป็นต้น

ประชาชนต้องมีอิสรภาพทางการเงิน อิสรภาพทางความคิด ไม่พึ่งนายทุน ขุนศึก ศักดินา ไม่กินน้ำใต้ศอกข้าราชการ ไม่อาศัยเศษเงินเจือจานเดือนละ 300-500 บาท เป็นต้น

ระบอบเผด็จการมักจะดูถูกประชาชน เช่น 1.หาว่าประชาชนเป็นทาสนักการเมืองคนนั้นคนนี้ แต่พวกที่ถูกเรียกว่า “ทาส” ยังเลือก “นายทาส” ได้เอง ไม่ใช่ถูกบังคับข่มขู่และโฆษณาชวนเชื่อให้เป็นทาส 2.หาว่าประชาชนไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ทั้งที่ประวัติศาสตร์โลกไม่เคยมีกรณีใดที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจผิด ฮิตเลอร์ก็ไม่ได้ถูกเลือกโดยคนส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่เป็นความถูกต้องเสมอ

3.หาว่าประชาชนขาดวิจารณญาณ เช่น กล่าวว่า “แปลงสินทรัพย์เป็นทุนไปจบที่มอเตอร์ไซค์” 4.หาว่าประชาชนถูกซื้อเสียง ทั้งที่ในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงจนเกิดสงครามกลางเมืองก็ต้องอาศัยการเลือกตั้งเป็นตัวยุติปัญหา และ 4.หาว่าประชาชนงมงาย ทั้งที่พวกคุณหญิงคุณนาย นายทุน ขุนศึก ศักดินา ต่างเชื่อไสยศาสตร์จนโงหัวไม่ขึ้น

พวกเผด็จการมักชอบจับผิดเล็กๆน้อยๆ ถ้าการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงคงไม่มีการเลือกตั้งทั้งในอินโดนีเซียที่มีเกาะถึง 17,000 เกาะ ฟิลิปปินส์ที่มีเกาะถึง 7,000 เกาะ หรืออัฟกานิสถานที่มีถิ่นทุรกันดารมากมาย

ประชาชนจึงต้องไม่ยอมเป็นดั่ง “ทฤษฎีต้มกบ” ต้องต่อสู้เพื่อให้ประเทศรวมทั้งตัวเองรอดพ้นจากหายนะโดยผู้ไม่รู้ดีชั่วอะไรเลย อย่าปล่อยให้ผู้รักชาติรักประชาธิปไตยตายฟรี ช่วยกันสืบทอดเจตนารมณ์ของวีรชน 6 ตุลากันเถอะ



You must be logged in to post a comment Login