วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“มองไม่เห็นอนาคตประเทศ!” สัมภาษณ์- อภิรัต ศิรินาวิน โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On October 9, 2017

อภิรัต ศิรินาวิน หัวหน้าพรรคมหาชน ชี้รากเหง้าของปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาการเมืองไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ ยิ่งเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งที่อีก 20 ปีข้างหน้าโลกจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ ควรให้คนเก่งๆรุ่นต่อไปคิดและดูแลกันเองมากกว่า วันนี้ยังไม่เห็นอนาคตประเทศว่าจะออกมาอย่างไร

+++++++

ถ้ามองในฐานะนักการเมือง บ้านเมืองเรียบร้อยสงบพอสมควร แต่ในแง่การเมืองการปกครอง เรารู้มากกว่าประชาชนทั่วไปรู้ว่ามันไม่ได้เรียบร้อยอย่างที่เห็น ยังมีอะไรอยู่ข้างล่างลึกๆที่เรายังไม่ทราบอีกหลายเรื่อง อย่างความขัดแย้งที่โพลสำรวจว่าประชาชนบางส่วนเห็นว่าควรมีการปรองดองเสียก่อนแล้วค่อยมีการเลือกตั้ง ผมเข้าใจสิ่งที่ประชาชนตอบ แต่ส่วนตัวผมเห็นว่าการปรองดองไม่มีนัยที่ดีขึ้นเลยตั้งแต่มีการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นการที่บอกให้รอให้บ้านเมืองปรองดองหรือเงียบสงบก่อน ผมไม่รู้ว่าเราต้องรอไปถึงเมื่อไร แม้ขณะนี้ก็ไม่ได้เลวลงหรือไม่ได้ดีขึ้น

ในหลักการผมเห็นด้วย ไม่มีอะไรขัดข้อง แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในบ้านเราไม่ได้ถูกแก้ไขที่ต้นเหตุ ต้นตอยังเป็นอย่างนั้นอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด 2-3 ปีไม่ได้แก้ไขให้มันดีขึ้น หลายเรื่องกลับหนักกว่าเดิมเสียอีก

เรื่องปรองดองก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเวลานี้ยิ่งซึมลึกลงไปเรื่อยๆ และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ความสงบภายนอกในสายตาของประชาชนเกิดจากเงื่อนไขการใช้อำนาจเช่นมาตรา 44 เป็นเครื่องมือ

สถานการณ์ในอนาคต

ผมเชื่อว่าถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ โอกาสจะเกิดวิกฤตขึ้นมาอีกก็มีความเป็นไปได้ อย่างปัญหาเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ ถ้าข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อน วันหนึ่งก็ทนไม่ได้ ส่วนการเมืองการปกครองก็ยังมีหลายฝักหลายฝ่ายที่เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ปัญหาของเขาไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ผู้มีอำนาจก็มีเครื่องหมายคำถามว่าทำไมโครงการโน้นมันอย่างโน้นอย่างนี้ ทำไมคนนี้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้มีอำนาจขณะนี้บางคนก็ทำให้ประชาชนสงสัยเหมือนกัน

ขณะที่ปัญหาสังคม ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลหรือมีอำนาจก็มีปัญหาสังคมตลอด จะโยนให้รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องร่วมกันแก้ไขทุกภาคส่วน

เรื่องโรดแม็พและการเลือกตั้ง

ผมบอกตรงๆว่าสับสนและไม่แน่ใจโรดแม็พ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือใครก็ตาม เวลาให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ก็ยืนยันโรดแม็พ แต่ไม่พูดตรงๆ ต้องมาแปลอีกรอบ มันก็เลยงงและสับสน ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าปี 2561 จะมีการเลือกตั้ง แม้อยากจะเชื่อที่รัฐบาลพูดมาก็ตาม ผมอาจแปลผิดก็ได้ แต่คำพูดกับการกระทำที่ออกมาทำให้ผมรู้สึกไม่มั่นใจโรดแม็พ

ถ้าปี 2561 ไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องมองว่าปี 2562 จะมีการเลือกตั้งแล้ว อย่าไปคิดดีกว่า ผมคิดว่าตัวใครตัวมัน ปัจจัยที่ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งคือกฎหมายลูก ซึ่งผมอาจมองในแง่ร้ายและมองผิดก็ได้ ถ้าจะทำให้เสร็จมันก็เสร็จ ถ้าไม่ต้องการให้เสร็จเพื่อยืดเยื้อต่อไปมันก็ไม่เสร็จ คือต้องการจะเลื่อนการเลือกตั้งไปว่างั้นเถอะ หมายถึงว่ามีใครสักคนที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมก็ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าเขาตั้งใจอะไรหรือจะให้มีเลือกตั้งเมื่อไร อันนั้นต้องไปดูกันอีกที

มันคงไม่ใช่เรื่องเทคนิคที่กฎหมายลูกไม่เสร็จ คงมีใครไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเท่านั้นเอง ถ้าหากเลื่อนการเลือกตั้งจริง รัฐบาล คสช. ก็จะอยู่ยาว ถ้าประเทศชาติเจริญและประชาชนมีความสุขก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ จะเกิดความวุ่นวายมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับโรคนี้มันรุนแรงแค่ไหน

รัฐบาลแห่งชาติเป็นไปได้หรือไม่

ผมไม่ขัดแย้งเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีพรรคการเมืองตามปรกติ ผมเชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติเกิดยาก สมมุติว่าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย พรรคการเมืองหารือกันว่าควรตั้งรัฐบาลแห่งชาติก่อนหรือไม่เพื่อไม่ให้รบราฆ่าฟันกันเอง หยุดความขัดแย้ง อย่างนี้รัฐบาลแห่งชาติเกิดได้ แต่ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างวันนี้รัฐบาลแห่งชาติก็เกิดยาก แม้ว่าอยากให้เกิดก็ตาม เหตุผลง่ายๆ เหมือนเรามีคน 8 คน ทุกคนต่างเดินไปคนละทิศ มันยากที่จะให้มาอยู่ทิศเดียวกัน

การเมืองไทยในอนาคต

ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จริง มีการเลือกตั้งก็คงไม่ได้รัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง ส่วนตัวผมเชื่อว่าคงจะวุ่นวายไปตามเรื่องตามราว เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบมาให้รัฐสภามีอำนาจน้อยลง โดยเฉพาะ ส.ส. ขณะที่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจมากขึ้น นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังทำให้เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะแยะ ซึ่งในอดีตก็เห็นแล้วว่ารัฐบาลไม่มีความเข้มแข็ง ยิ่งการเมืองการปกครองแบบไทยๆ โอกาสจะเกิดความวุ่นวายก็มีมาก

นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า คสช. ล็อบบี้พรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไว้แล้ว จะผลักให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านนั้น ผมว่าทุกพรรคการเมืองขณะนี้เป็นห่วงว่าถ้า คสช. ล็อบบี้จริงและร่วมมือกับ คสช. พรรคการเมืองก็หาเสียงลำบากเหมือนกัน ผมไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองไหนกล้าพูดว่าสนับสนุน คสช. เต็มที่ เพราะพรรคการเมืองคือส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย คงไม่กล้าประกาศออกมา

เรื่องนายกฯคนนอก

ประเด็นนี้ไม่กล้าตอบจริงๆ เพราะผมไม่รู้ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังสนใจการเมืองอยู่หรือไม่ อยากเป็นหรือไม่ สมมุติท่านอยากเป็น ท่านมีโอกาส แต่วันนี้ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์อะไรเลย ผมว่าอย่าเพิ่งไปคิดถึงตรงนั้นดีกว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วมีการเสนอชื่อ ผมว่าไปดูตรงนั้นว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง การเมืองขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้ายังมีความขัดแย้งกันอยู่หรือความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีปัญหาทั้งนั้น

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

คำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆหมายความว่าหากมีความวุ่นวายก็ยังมีการยึดอำนาจหรือไม่ อันนั้นผมไม่ทราบ แต่ผมว่าตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว 3 กรกฎาคม 2554 เรามีรัฐบาล และต่อมาเกิดความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับเรื่องการนิรโทษกรรม ตรงนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คนออกมาเต็มถนน พอตรงนั้นจบ การนิรโทษกรรมก็จบไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จบไป แต่ก็มีคนเรียกร้องให้ทหารออกมา ทหารออกมารัฐประหารก็มีปัญหาว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร แล้วยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีก

อย่างนี้เรียกว่าการปกครองแบบไทยๆ ถ้าเรามองย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นจะพบว่าแตกต่างกันราวฟ้ากับดินเลย วันนั้นมีการแก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน แต่วันนี้เราเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยคณะรัฐประหาร คสช. ซึ่งผมไม่ได้พูดว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี แต่เรียกว่าแบบไทยๆ ถ้ายอมรับกันได้และเห็นว่าดีก็ว่ากันไป เพราะประเทศอื่นๆไม่มีใครทำ

มองแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ผมมอง 2 เรื่องในแง่อำนาจกับเนื้อหา ในแง่การกุมอำนาจคิดว่าเราทุกคนคงจะเชื่อตามแนวนี้ เพราะเขาต้องการจะอยู่ในอำนาจไปอีก 20 ปี ตรงนี้คิดกันแบบบ้านๆ เราก็ไม่ต้องมีนักการเมือง ไม่ต้องมีอะไรก็ได้ ก็เดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติไป ไม่ต้องมีรัฐบาลยังได้เลย ให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงทำตามนี้ก็จบ มันดีหรือไม่ก็รอ 20 ปีข้างหน้า ผมเรียนตามตรงตอนนี้ผมอายุ 50 ปี ก็ไม่แก่อะไรนัก ผมยังไม่กล้าเขียนไปไกลถึง 20 ปีเลย เพราะอีก 20  ปีข้างหน้าโลกจะเป็นยังไงยังไม่รู้เลย

ประการที่ 2 ผมไม่กล้าเขียน เพราะอีก 2 ปีข้างหน้าอาจมีคนที่เก่งกว่าผมอีก เขาควรเป็นผู้มาดูแลหรือเปล่า อีก 5 ปีหรือ 15 ปีข้างหน้า ลูกผมหรือลูกคนอื่นที่เก่งกว่า เราควรให้เขาทำหน้าที่ดูแลประเทศชาติหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วง ผมเชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นอุปสรรคมากกว่า เพราะถึงวันนี้เขียนดี แต่อีก 10 ปีข้างหน้าตอบไม่ได้จริงๆ

ทางออกของประเทศ

ผมยังมองไม่ออก มันงงๆชอบกล เอาแค่เรื่องมีเลือกตั้งให้ชัดเจนก่อนดีกว่าแล้วจึงจะตอบตรงนั้นได้ ไม่ใช่เพราะผมเป็นนักการเมืองและอยากเลือกตั้งจนตัวสั่นอะไรแบบนั้น แต่ผมมองว่าเมื่อเราบอกกับตัวเอง บอกลูกบอกหลาน บอกทุกคนในโลกไปแล้วว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องดำเนินไปตามนั้น มีปัญหาอะไรก็แก้กันไป ไม่ใช่พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่าหลังจากนี้ไปเราจะเป็นเผด็จการ ก็บอกชาวโลกไปเลยว่าเราจะเป็นเผด็จการ แต่ถ้าวันนี้เราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย เราก็ควรทำให้เป็นประชาธิปไตยก่อน เพราะเกือบทุกประเทศทั่วโลกเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีข้อดีมากกว่าเขาจึงใช้กัน ไม่อย่างนั้นประเทศต่างๆคงไม่เป็นประชาธิปไตยกันเยอะแยะหรอก

ผมอยากให้ประชาธิปไตยมันแก้ปัญหาของตัวมันเอง วันนี้ผมยังมองไม่เห็นอนาคตของประเทศไทยเลย เพราะยังนึกไม่ออกและไม่รู้ว่าประตูอยู่ตรงไหน มองออกไปข้างนอกไม่เห็นเลย เราต้องเห็นประตูหรือเห็นรูสักนิดหนึ่งก่อนจึงจะเห็นว่าข้างนอกควรจะเป็นอย่างไร


You must be logged in to post a comment Login