- ปีดับคนดังPosted 16 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
บันทึก 6 ตุลา จากจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ถึงราชดำเนิน-ราชประสงค์ / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ “โครงการบันทึก 6 ตุลา” จัดกิจกรรมเปิดตัวเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” www.doct6.com เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่เก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่กระจัดกระจายในที่ต่างๆให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต
เว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” ถือว่ามีข้อมูลของเหตุการณ์ที่มีความสมบูรณ์และรอบด้านมากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ โดยเมนูหลักหน้าเว็บไซต์มี 5 หัวข้อคือ 6 ตุลาคืออะไร หลักฐาน-ภาพถ่ายและสื่อ ความทรงจำ-บันทึกจากเหตุการณ์ องค์ความรู้-บทความและข้อคิด เผชิญ-อยุติธรรม
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของเว็บไซต์นี้ว่า เกิดจากงานสัมมนาเมื่อปี 2559 ในหัวข้อ “ความรู้และความไม่รู้ว่าด้วย 6 ตุลา 2519” ซึ่งค้นพบข้อจำกัดเกี่ยวกับตัวตนผู้เสียชีวิตและบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ว่าเป็นใคร และ “หวังไม่ถูกหลงลืมสูญหายและเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ”
“เรายังไม่รู้อะไรอีกมากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีอีกหลายเรื่องที่เรายังต้องทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงพื้นฐานจำนวนมาก มันมีความสำคัญอยู่ แล้วยังมีลักษณะที่ผิดๆถูกๆหรือแหว่งวิ่นอยู่ 40 กว่าปีที่ผ่านมายังไม่มีการรวบรวมข้อมูล รูปถ่าย หรือว่าคลิปวิดีโอที่กระจัดกระจายตามแหล่งต่างๆ คนจำนวนมากเวลาพูดเรื่อง 6 ตุลาก็ยังใช้ตัวเลขที่สับสน ใช้ภาพกับชื่อไม่ตรงกัน”
อาจารย์พวงทองกล่าวว่า การกล่าวถึง 6 ตุลาในสังคมไทยยังมีเพดานอยู่เยอะ เรารู้ว่ายังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มอำนาจของสังคมไทย แต่ผู้จัดทำโครงการนี้มองว่ามีเรื่องอื่นเกี่ยวกับ 6 ตุลาอีกมากที่เรายังสามารถพูดถึงได้หากให้ความสนใจกับข้อมูลค้นคว้าวิจัยที่ไปไกลกว่างานที่มีอยู่แล้ว เพราะงานที่ศึกษา 6 ตุลาอย่างลึกซึ้งนั้นมีอยู่อย่างจำกัดมากๆ
“เรามักจะพูดกันว่าสังคมไทยเราควรเรียนรู้บทเรียนจาก 6 ตุลา เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก เรามองว่าเราคงเรียนรู้กันได้ไม่มาก เพราะจนถึงวันนี้ข้อมูลพื้นฐานก็ยังสับสนอยู่มาก ฉะนั้นเราควรมีความรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลามากขึ้นนอกจากบอกว่า 6 ตุลาเป็นความรุนแรงของรัฐ”
อาจารย์พวงทองยังระบุว่า ประเทศอื่นๆที่เคยผ่านความรุนแรงมาแล้ว หรือประเทศที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงและสิทธิมนุษยชน มีการจัดตั้งแหล่งข้อมูล หลายประเทศให้ความสำคัญและพัฒนาแหล่งข้อมูลขึ้นมาเพื่อต่อสู้ความพยายามของรัฐที่จะกลบเกลื่อนโศกนาฏกรรมที่รัฐก่อขึ้น และมีความพยายามที่จะทำให้แหล่งรวบรวมข้อมูลเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ จึงมีการสร้างแหล่งข้อมูลที่เป็นในเชิงสถานที่จนถึงออนไลน์ โดยโครงการนี้ต้องการเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ข้อมูลพื้นฐาน หรือข้อมูลที่ยากต่อการเข้าถึง เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดให้เป็นระบบมากขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น และไม่ถูกหลงลืมสูญหาย นอกจากนั้นก็เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้า รวมทั้งความเข้าใจใน 6 ตุลาให้ไปไกลมากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะทำให้สังคมไทยลืม 6 ตุลาไม่ถูกหลงลืมสูญหาย
สังคมไทยเต็มไปด้วยคนขี้ขลาด
การเสวนา “บันทึกข้อมูลเพื่อทวงความยุติธรรม” วิทยากรโดย ศ.กิตติคุณ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 19 นักศึกษาที่ถูกคุมขังและดำเนินคดี กล่าวถึงจุดประสงค์สำคัญของโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ว่า เก็บเอกสารประวัติศาสตร์เท่าที่ทำได้ แล้วคนในอนาคตจะใช้ทำอะไรหรือจะเขียนประวัติศาสตร์ 6 ตุลาก็เรื่องของเขา แต่ต้องให้เอกสารเหตุการณ์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ในสังคม เป็นทางเดียวที่จะทำให้ไม่ตาย
“ผมคิดว่า 6 ตุลาน่าจะไปไม่รอดในแง่การหาความยุติธรรม แต่สิ่งที่เราทำได้คือต้องเห็นความหวังกับคนในอนาคต สักวันต่อให้เราตายไปแล้ว คนต้องหยิบยกขึ้นมา ต้องมีความหวังว่าอนาคตจะเห็นความยุติธรรมได้ในระยะยาว ต่อให้อาจไม่ใช่ความยุติธรรมเฉพาะกรณี 6 ตุลา ต้องทำให้เห็นว่ายิ้มสยามมีเรื่องอัปลักษณ์อีกเยอะแยะ มีทั้งด้านดี ด้านอัปลักษณ์ สังคมต้องกล้าเผชิญหน้าทุกด้าน ไม่ใช่พูดแต่ด้านดี หรือประณามแต่ด้านร้าย คนในสังคมจึงจะเติบโตแบบมีวุฒิภาวะ”
อาจารย์ธงชัยยังกล่าวว่า ระบบโซตัสที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่คือทหารและระบบราชการทั้งหมด ระบบโซตัสมีไว้เพื่อผลิตคนชนิดหนึ่ง คนคนนั้นต้องขี้ขลาด สังคมไทยเต็มไปด้วยคนขี้ขลาด ไม่ใช่เขาไม่รู้ว่าเกิดเรื่อง 6 ตุลา ไม่ใช่ไม่รู้ว่าความอยุติธรรมร้อยแปดที่เกิดขึ้นมันเกินไป แต่สังคมไทยมีคนที่ขี้ขลาดตาขาวเต็มบ้านเต็มเมือง นี่แหละไทยแลนด์ 4.0 ไทยแลนด์ของคนขี้ขลาด เห็นความอยุติธรรมแล้วเฉยๆ และคนอีกประเภทคือคนโง่กับคนแกล้งโง่ สังคมไทยเป็นสังคมอับจนปัญญา หลายเรื่องเห็นอยู่ตำตาว่าไร้เหตุผลก็แกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่พูด แย่กว่าคือออกมาสนับสนุนทำสิ่งที่ไร้เดียงสา เป็นเรื่องที่น่าอับอาย สิ่งเหล่านี้จะอยู่ได้ยังไงถ้าไม่ใช่เพราะประชาชนเอื้ออำนวยให้ความไร้เดียงสาและน่าอับอายนี้ดำรงอยู่
“ถ้าสังคมไทยมีวิบากกรรม เราต้องเผชิญหน้ากับสภาวะอย่างนี้และสู้กันไปไม่มีทางอื่น ถ้าความยุติธรรมหาไม่ได้ในชีวิตผมก็สู้กันยาวๆ สังคมเติบโตมีวุฒิภาวะและกล้าหาญกว่านี้ได้ แต่โชคร้ายที่เราเกิดเร็วไปหน่อย บุกเบิกถางทางเพื่อสักวันหนึ่งเราจะฉลาดกว่านี้ได้ เผชิญหน้าและทำเท่าที่ทำได้ เก็บหลักฐานเอกสารคนที่เป็นเหยื่อ 6 ตุลา เป็นเหยื่อของความขี้ขลาดตาขาว เหยื่อของความโง่และแกล้งโง่ที่มีอยู่ดาษดื่นภายใต้ระบบโซตัสของสังคมไทย ขอให้ช่วยกันกระจายข่าวบันทึก 6 ตุลา และยุยงให้คนเก็บหลักฐาน ข้อมูลเช่นนี้กับกรณีอื่นๆให้มากที่สุด เพราะเราจะตายถ้าอยู่อย่างโดดเดี่ยว” อาจารย์ธงชัยกล่าว
“บทนำ 6 ตุลา” โดย “อาจารย์ยิ้ม”
สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ “อาจารย์ยิ้ม” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ซึ่งมีประสบการณ์ร่วมในเหตุการณ์และมีบทบาทมาตลอดในการจัดงานทั้ง 14 ตุลาและ 6 ตุลา รวมถึงเป็นนักประวัติศาสตร์ ได้เขียนอธิบายในบทนำของเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” ก่อนเสียชีวิตดังนี้…
วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว
ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมาผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คนถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุดเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลยถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงได้รับการปล่อยตัว
ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้น ไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก
จริงอยู่ประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทยมีคดีอิทธิพลจำนวนมากที่ทางการไม่กล้าแตะต้องและจับคนร้ายไม่ได้ แต่คดีอิทธิพลเหล่านั้นแตกต่างจากคดี 6 ตุลา เพราะการก่ออาชญากรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์กลางเมืองที่เปิดเผยจนได้รับรู้กันทั่วโลก รวมทั้งผู้ต้องหาที่เปิดเผยโจ่งแจ้งก็มีอยู่มาก แต่คนเหล่านี้นอกจากจะไม่ถูกจับกุมตามกฎหมายแล้ว ยังได้ความดีความชอบในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อีกด้วย ปัญหาในกรณีนี้คือ อิทธิพลอะไรที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มฆาตกรซึ่งผลักดันให้ผู้ก่ออาชญากรรมลอยนวลอยู่ได้เช่นนี้? และนักศึกษาผู้ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมได้ก่อความผิดร้ายแรงเพียงใดหรือจึงต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้?
เงื่อนงำของการสังหารโหดนี้ได้รับการคลี่คลายในตัวเองขั้นหนึ่งในเย็นวันนั้นเอง เมื่อคณะทหารกลุ่มหนึ่งในนามของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มเลิกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐสภาและฟื้นระบอบเผด็จการขวาจัดขึ้นมาปกครองประเทศแทน ถ้าหากว่าการสังหารหมู่เมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม คือการก่ออาชญากรรมต่อนักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมแล้ว การรัฐประหารเมื่อเย็นวันที่ 6ตุลาคม คือการก่ออาชญากรรมต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการทำลายสิทธิประชาธิปไตยของประชาชนทั้งชาติที่ได้มาจากการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อโยงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งนี้เข้ากับการสังหารโหดที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันจะทำให้มองเห็นภาพการเคลื่อนไหวของพลังปฏิกิริยาที่ร่วมมือกันก่ออาชญากรรมได้ชัดเจนขึ้น
ถูกฆ่าอย่าง “ศิวิไลซ์”
ในเฟซบุ๊ค “บันทึก 6 ตุลา” เอกสารที่จัดทำโดยกรมตำรวจในรายงานการชันสูตรพลิกศพเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อจะบอกว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อย่างน้อย 46 รายคือ ฝ่ายเจ้าพนักงาน 5 ราย ฝ่ายนักศึกษาประชาชน 41 ราย (1 รายเสียชีวิตในห้องขัง) นั้น ความสำคัญของเอกสารชุดนี้ชี้ให้เห็นว่าการเสียชีวิตของฝ่ายนักศึกษาประชาชนจากกระสุนปืนคือสาเหตุที่ “ศิวิไลซ์” ที่สุดแล้ว เพราะหลายรายมีบาดแผลถูกทำร้ายทุบตี รัดคอ ฯลฯ มีสะเก็ดระเบิด ขณะที่อีก 4 รายเป็นอย่างน้อยยังระบุตัวตนของพวกเขาไม่ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะถูกเผาจนเหลือแต่กระดูกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็เชื่อว่านักศึกษาประชาชนที่ถูกสังหารนั้นยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่พบศพหรืออาจถูกทำลายศพ ภาพการรุมทำร้ายและฆ่าอย่างป่าเถื่อนทารุณถูกประจานไปทั่วโลกจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะภาพที่เอาศพไปแขวนคอแล้วกระโดดถีบศพและใช้เก้าอี้ฟาด ซึ่งได้รางวัลพูลิตเซอร์ปี 1977 หรือภาพนักศึกษาหญิงถูกจับแก้ผ้าแล้วเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงอวัยวะเพศจนตาย ภาพการรุมทำร้ายและทารุณอีกมากมายที่มีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ
การสังหารหมู่ 6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์ที่บาดลึกถึงจิตใจสังคมไทยที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ จึงไม่แปลกที่กลุ่มชนชั้นนำและผู้มีอำนาจรัฐพยายามจะทำให้สังคมไทยลืมเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือให้จดจำการบิดเบือนความจริงที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ธงชัยทั้งเขียนบทความและพิมพ์หนังสือเพื่อตอกย้ำเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่าเป็นการสังหารหมู่ที่เงียบงันและสร้างบาดแผลเจ็บปวดทรมานให้กับสังคม หลีกเลี่ยงที่จะแสวงหาความจริง ต่างกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวหรือในกัมพูชา ซึ่งผู้รอดชีวิตนับพันได้เปิดเผยความทรงจำส่วนตัวต่อสาธารณะ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “6 ตุลาลืมไม่ได้ จำไม่ลง”
Mixit=Military Exit
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา กล่าวสุนทรกถา “40 ปี 6 ตุลา” เมื่อปี 2559 ตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 6 ตุลายังมีความคลุมเครือ จริงๆแล้วมีผู้เสียชีวิตกี่รายและถูกแขวนคอที่สนามหลวงกี่ราย ซึ่งอาจารย์สุรชาติได้เขียน “จดหมาย” ระหว่างถูกคุมขังถึง “เปี๊ยก” วิชิตชัย อมรกุล นิสิตปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้ถูกแขวนร่างไว้ใต้ต้นมะขามสนามหลวงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “เพื่อบูชาความเชื่อของคนไทยกลุ่มหนึ่ง เขาไม่มีโอกาสได้จบการศึกษาไปเหมือนคนอื่นๆ และไม่มีโอกาสได้มีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้…เผด็จการเหยียบร่างของเปี๊ยกเป็นบันไดไปสู่อำนาจ”
อาจารย์สุรชาติยังตั้งคำถามและคำตอบไว้อย่างน่าคิดว่า อนาคตสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร วันนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทยแตกแยก มีคำถามอย่างเดียวสำหรับคนรุ่นผมว่า ความแตกแยกยุคปัจจุบันและความแตกแยกในปี 2519 แตกต่างมากน้อยเพียงไร แน่นอนความแตกแยกทางการเมือง ความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ต่างจากปี 2519 แต่ความโชคดีคือปี 2519 สถานการณ์ยุติลง สัญลักษณ์ของการยุติของสงครามปี 2519 ที่ใหญ่ที่สุดอาจไม่ใช่การปล่อยตัวพวกผมหรือการกลับคืนจากชนบทสู่เมืองของนักศึกษา แต่เป็นเพลงๆหนึ่งที่ถูกเขียนในป่าโดยอัศนี พลจันทร์ “เพลงเดือนเพ็ญ” ที่เขียนในฐานที่มั่น ถูกนำมาร้องในทุกระดับ จากระดับสูงถึงตามบาร์ตามไนต์คลับ เพลงเดือนเพ็ญเป็นสัญลักษณ์ของการปรองดองถ้าจะใช้ภาษาคนยุคปัจจุบัน
แต่ไม่มีคำตอบว่าหลังปี 2553 จะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์ของการปรองดองเหมือนกับเพลงเดือนเพ็ญที่ส่งสัญญาณถึงคนรุ่นตน เพราะคนทุกชั้นทุกระดับร้องเพลงเดือนเพ็ญ ถ้าเป็นเช่นนี้อะไรจะเป็นเงื่อนไขในอนาคต การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยปัจจุบันมีเงื่อนไขที่ดีกว่าคนรุ่นตน “ผมนึกไม่ออกว่าถ้าปี 2519 มีโซเชียลมีเดีย มีเว็บไซต์ การฆ่าในวันนั้นจะหนักขึ้นหรือเบาลง แต่ในวันนี้เราเห็นอย่างหนึ่ง การต่อสู้ของพี่น้องในโลกอาหรับ พี่น้องที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายพื้นที่ สื่อสังคมสมัยใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญ”
อาจารย์สุรชาติยังสรุปการสร้างเงื่อนไขในการพัฒนาการเมืองไทยว่า เงื่อนไขที่ 1 ขอเสนอ Mixit = Military Exit คือการพัฒนาประชาธิปไตยไทยต้องเอาทหารออกจากการเมือง ถ้าเอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้ไม่ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตย เงื่อนไขที่ 2 คืออำนาจนอกระบบต้องปล่อยให้การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปรกติ และเงื่อนไขที่ 3 การเมืองไทยต้องการเวลาของการพัฒนา
จากจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ถึงราชดำเนิน-ราชประสงค์
เหตุการณ์ 6 ตุลา สังคมไทยต้อง “ไม่ลืม” แม้ไม่อยากจะจำ เพราะเป็นโศกนาฏกรรมโดยอำนาจรัฐที่โหดเหี้ยมทารุณซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นอีก แต่การใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐสังหารประชาชนและการทำรัฐประหารก็ยังคงเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งสะท้อนชัดเจนถึงการใช้อำนาจรัฐโดยกองทัพที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นกลไกสำคัญในการเข่นฆ่าประชาชน และล้มระบอบประชาธิปไตย ปล้นอำนาจไปจากประชาชนใช่หรือไม่?
โดยเฉพาะเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีคนตายถึง 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ขณะที่การใช้ความรุนแรงสังหารประชาชนก็เงียบงันไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เพราะวันนี้ “คนสั่งก็ยังลอยหน้า คนฆ่าก็ยังลอยนวล”
ที่สำคัญยังมีการพยายามบิดเบือนความจริง โดยเฉพาะกรณี 6 ศพที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติผู้ตายทั้ง 6 คน อันประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญต่างๆแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า “ผู้เสียชีวิตทั้งหกถูกกระสุนความเร็วสูงของทหารเสียชีวิต และไม่ปรากฏชายชุดดำและอาวุธในที่เกิดเหตุ ประกอบกับไม่พบคราบเขม่าดินปืนที่มือผู้ตายทั้งหมด…”
แต่นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กลับแชร์ข้อมูลจากเพจการเมืองหนึ่งมีข้อความว่า “พยาบาลกมนเกดและเพื่อนไม่ได้ตายเพราะทหาร แต่ตายเพราะพวกเสื้อแดงด้วยกันฆ่าเอง มีหลักฐานโดย 6 ศพเสียชีวิตอยู่ในช่วงตะวันตกดิน ศพทั้งหมดมีการชันสูตรแล้วพบว่าถูกยิงจากวิถีกระสุนในระนาบเดียวกัน มิใช่มุมสูงจากสกายวอล์คหรือบริเวณรางรถไฟฟ้า BTS”
กลุ่มญาติผู้สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จึงได้ออกแถลงการณ์ (2 ตุลาคม) และเดินทางไปยังพรรคประชาธิปัตย์ภายในชื่อกิจกรรม “สัมมาบาทาเพื่อสัมมาวาจา” เพื่อมอบคำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้กรณีคำร้องชันสูตรศพผู้เสียชีวิต 6 ศพให้พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมขนม “ไข่เหี้ย” จำนวนหนึ่งมอบให้ด้วย
เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 กับ 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหารจึงเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่เกิดซ้ำซาก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี การเมืองไทยก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจรัฐและกองทัพที่มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาและความลับที่มืดดำ การปกปิดความจริง การใส่ร้ายป้ายสี การตอแหลบิดเบือนด้วยวาทกรรมการเมือง การข่มขู่พยาน การจับกุมคนเห็นต่างด้วยอำนาจและกฎหมายพิสดาร จนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริง ยื้อเวลา ไร้การนำคนผิดมาลงโทษ
แม้วันเวลาจะผ่านเลยมาถึง 34 ปี บ้านเมืองที่ประกาศตนว่าเป็นยุค 4.0 ก็ยังจมปลักกับวังวนเดิมๆที่ไม่เคยเปลี่ยน ความจริงและความยุติธรรมก็ยังสูญหาย ประชาธิปไตยก็ยังถูกทำลาย
41 ปี 6 ตุลา จากจุฬา ธรรมศาสตร์ ถึงราชดำเนิน ราชประสงค์ ยังมีอีกหลากหลายความลับอันมืดมนที่คนยังไม่รู้ รู้เฉพาะที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรือถูกทำให้ลืมไปจากความทรงจำ
ตราบใดที่ความจริงยังไม่ปรากฏ การขุดคุ้ย การนำ “บันทึก 6 ตุลา” ยังต้องมีต่อไป เพื่อวันหนึ่ง “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ความเท็จ ความจริงจะต้องถูกสะสางในที่สุด!!??
You must be logged in to post a comment Login