- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เบื้องลึกสหรัฐทิ้งยูเนสโก
การประกาศ “ตัดญาติ” กับองค์การยูเนสโก(UNESCO) ของสหรัฐ เมื่อวันพฤหัสบดี (12 ต.ค.) ที่ผ่านมา เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
เฮเธอร์ นูเอิร์ต โฆษกหญิงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า สหรัฐจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) สิ้นปีหน้า (2018) หลังจากนั้นจะขอเป็นผู้สังเกตการณ์แทน
สหรัฐให้เหตุผลสำคัญต่อการตัดสินใจ 2 อย่าง คือ ปัญหาค้างชำระเงินที่ประเทศสมาชิกต้องจ่ายสมทบรายปีให้ยูเนสโก และยูเนสโกปฏิบัติต่ออิสราเอลอย่างลำเอียง
สหรัฐเป็นสมาชิกรายใหญ่ ที่จ่ายเงินสมทบรายปีให้ยูเนสโก โดยจ่ายปีละประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,330 ล้านบาท) คิดเป็น 22% ของยอดเงินจ่ายสมทบทั้งหมด
ปัจจุบัน สหรัฐมียอดเงินค้างชำระสะสมประมาณ 550 ล้านเหรียญสหรัฐ (18,315 ล้านบาท) เนื่องจากงดจ่ายสมทบมาตั้งแต่ปี 2011 หลังมีมติระงับความช่วยเหลือยูเนสโกที่รับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 195
สหรัฐกำหนดข้อบังคับไว้ว่า จะระงับความช่วยเหลือด้านการเงิน แก่องค์กรของสหประชาชาติทุกองค์กร ที่รับปาเลสไตน์เป็นสมาชิก
ส่วนประเด็นที่สหรัฐเห็นว่า ยูเนสโกปฏิบัติต่ออิสราเอลด้วยความลำเอียงมีหลายกรณี โดยกรณีหนึ่ง ได้แก่ การที่ยูเนสโกประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เฮ็บรอน (Hebron) ซึ่งอยู่ในเขตครอบครองของอิสราเอลในเวสต์แบงก์ เป็นมรดกโลกของปาเลสไตน์ที่อยู่ในความเสี่ยง
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมทั้งเจอร์รี พูแบนซ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งของสหรัฐ มองท่าทีของสหรัฐในเรื่องนี้ว่า มาจากการไม่ให้ความสำคัญกับยูเนสโก ต่อเมื่อต้องการใช้ยูเนสโกเป็น “เครื่องมือ” จึงจะเปลี่ยนท่าที
ทั้งนี้ สหรัฐเคยถอนตัวจากยูเนสโกมาแล้วครึ่งหนึ่งเมื่อปี 1984 ในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นำสหรัฐกลับเข้าเป็นสมาชิกยูเนสโกใหม่เมื่อปี 2002
สหรัฐแสดงท่าทีไม่แข็งกร้าวมากนักในการประกาศ “ตัดญาติ” กับยูเนสโกครั้งนี้ โดยตั้งเงื่อนไขทำนองว่า “ถ้ายูเนสโกกลับมายืนจุดเดิม ทำหน้าที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและการศึกษาอย่างแท้จริง เราอาจเปลี่ยนใจก็ได้”
ขยายนัยที่แฝงอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวด้วยภาษาชาวบ้านก็คือ “ยูเนสโกต้องกลับมาอยู่ข้างสหรัฐ สหรัฐจึงจะยอมเป็นสมาชิกให้ความร่วมมือด้วย”
You must be logged in to post a comment Login