วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พายเรือในอ่าง

On October 22, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การทำแผนปฏิรูปปราบคนโกงที่มีกำหนดต้องทำให้เสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่เมื่อพิจารณาตามกรอบแนวทางที่วางไว้ มีเรื่องใหม่เรื่องเดียวคือให้ข้าราชการทุกระดับยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ไม่ต้องโชว์ต่อสาธารณะ ในอดีตเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการให้นักการเมืองแสดงบัญชีโดยไม่เปิดเผย ผลคือแก้โกงไม่ได้ จนต้องบังคับให้เปิดเผยต่อสาธารณะแต่ก็แก้โกงได้ไม่เต็มที่ การป้องกันปราบปรามทุจริตมีช่องว่างรูโหว่อย่างไร เชื่อว่าทุกฝ่ายคงทราบดี เมื่อคิดที่จะปฏิรูปใหม่ต้องไม่ทำแบบเดิมที่เคยทำมาแล้วไม่ได้ผล ไม่อย่างนั้นจะเข้าตำราพายเรือในอ่างวนไปวนมาไม่ถึงฝั่งเสียที

การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ

แม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการเอาผิดกับคนที่ทุจริตประพฤติมิชอบแล้วหลายราย แต่ในความรู้สึกของประชาชนทั่วไปยังไม่รู้สึกว่าการทุจริตบรรเทาเบาบางลงอย่างที่ควรจะเป็น

การดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐบาลทหารคสช.ยังดำเนินการตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ มีบางกรณีที่ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ออกคำสั่งโยกย้ายเพื่อรอการตรวจสอบบ้าง แต่ยังไม่เรียกเสียงฮือฮา

ยังตกได้แต่ปลาเล็กปลาน้อย ยังไม่ได้ปลาใหญ่ที่อยู่เหนือสุดของห่วงโซ่การคอร์รัปชันโกงกิน

ขณะที่การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาทุจริตที่ผ่านมาก็ยังไม่มีภาพให้ประชาชนเห็นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนปฏิรูปด้านนี้ที่มีกำหนดต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว

แนวทางการขจัดทุจริตถูกวางแผนดำเนินการไว้ 4 หลัก ประกอบด้วย 1.ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนในการช่วยเฝ้าระวังติดตามชี้เบาะแส 2.ทุกส่วนราชการต้องมีมาตรการป้องกันทุจริต และกำหนดให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

3.การดำเนินคดีกับผู้ทำผิดต้องทำอย่างรวดเร็ว  4.ในอนาคตจะต้องมีหน่วยงานในลักษณะเดียวกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้ง 4 กรอบที่เปิดเผยออกมามีเพียงข้อ 3 ที่ดูเป็นเรื่องใหม่ และน่าจะเป็นอนาคตที่ดีหากทำได้จริง โดยเฉพาะการให้ข้าราชการทุกระดับชั้นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากการโกงกินไม่ได้มีแต่ในหมู่ข้าราชการหรือนักการเมืองระดับสูงเท่านั้น แต่การโกงกินมีทุกระดับตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างการเบ่งกินข้าวฟรี รีดไถคนค้าขาย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ

อย่างไรก็ตาม การให้ข้าราชการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อหัวหน้าส่วนราชการที่สังกัดโดยไม่มีการตรวจสอบความมีอยู่จริง หากไม่ถูกร้องเรียนอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น

ในอดีตเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการให้นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ  ป.ป.ป. โดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

ผลคือคนที่คิดจะโกงกินย่อมคำณวนได้ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ที่มีในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งจะหาผลประโยชน์ได้มากน้อยเท่าไหร่ ทำให้สามารถยื่นทรัพย์สินมากกว่ามีอยู่จริงได้ เมื่อถูกร้องเรียนและเปิดบัญชีออกมาดูสิ่งที่เขียนในบัญชีก็รองรับทรัพย์สินที่งอกเงยมาจากการคอร์รัปชันแล้ว นี่จึงเป็นที่มาให้เขียนกฎหมายเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ

เมื่อมีบทเรียนมาแล้วจึงไม่ควรทำอะไรแบบเดิม

การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการทุกระดับจึงควรเปิดเผยต่อสาธารณะ ปิดประกาศหรือลงไว้ในเว็บไซต์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปตรวจสอบได้ ที่สำคัญต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์และหนี้สินทุกกี่ปี โดยต้องไม่ถี่หรือเว้นระยะห่างมากเกินไป

ยกตัวอย่างเช่น นายทหารหนึ่งคนเมื่อเข้าราชการต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตั้งแต่วันแรก และควรให้ยื่นแสดงรายการทุก 5 หรือ 7 ปี เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบ เพราะปัจจุบันเวลาที่มีนายทหารเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองแล้วต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินบางคนอิดออดไม่อยากแสดงอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว อ้างว่ากลัวโจรปล้น และเมื่อแสดงออกมาแล้วหลายคนมีทรัพย์สินจำนวนมากหลายสิบล้านบาทหรือรวยถึงระดับร้อยล้านบาทขึ้นไปก็มี ทำให้ประชาชนสงสัยว่าทรัพย์สินเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร

การป้องกันปราบปรามการทุจริตมีช่องว่างรูโหว่อย่างไรเชื่อว่าทุกฝ่ายคงเห็นและทราบดี การให้ข้าราชการทุกระดับชั้นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเข้าใจว่าเป็นเรื่องใหญ่และวุ่นวาย แต่จำเป็น

เมื่อคิดที่จะปฏิรูปใหม่ต้องเพิ่มความถี่ของตาข่ายคัดกรองให้มากขึ้น และต้องไม่ทำแบบเดิมที่เคยทำมาแล้วไม่ได้ผล เพราะจะกลายเป็นการพายเรือในอ่างวนไปวนมาไม่ถึงฝั่งเสียที


You must be logged in to post a comment Login