- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
พม่าเผชิญพิษ‘วิกฤตโรฮีนจา’
วิกฤตชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของพม่า ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นเหตุทำให้พม่า ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านความสัมพันธ์กับนานาชาติ ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ
นานาชาติมองว่า รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี และกองทัพพม่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาขั้นรุนแรง จึงเรียกร้องให้ยุติการกระทำมานาน แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร
สหภาพยุโรป (อียู) จึงกดดันพม่าด้วยการห้ามประเทศสมาชิกอียูขายอาวุธและยุทโธปกรณ์ให้พม่าถึงสิ้นเดือนเมษายนปีหน้า
ด้านสหราชอาณาจักร ประกาศระงับความสัมพันธ์กับกองทัพพม่า และยกเลิกทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพม่าทั้งหมด ขณะสหรัฐประกาศห้ามผู้นำทหารระดับสูงของพม่าเข้าประเทศ และระงับเงินช่วยเหลือฝ่ายบริหารรัฐยะไข่
นอกจากถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ซึ่งทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยประสบปัญหาแล้ว
พม่ายังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย โดยมีนักธุรกิจต่างชาติส่วนหนึ่งชะลอแผนลงทุนในพม่า เนื่องจากไม่มั่นใจเสถียรภาพของรัฐบาล และกังวลกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่เกี่ยวโยงกับวิกฤตชาวโรฮีนจา
ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม รีสอร์ต และร้านอาหาร เป็นต้น
กระทรวงการท่องเที่ยวพม่าระบุว่า ช่วงครึ่งแรกปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนพม่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 22%
แต่สถานการณ์เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นกับชาวโรฮีนจานับจาก 25 สิงหาคม เป็นต้นมา โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยหายไปจากพม่า
บริษัท New Fantastic Asia Travels and Tour แห่งนครย่างกุ้ง เปิดเผยว่า ลูกค้าต่างชาติที่จองเตรียมมาเที่ยวเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ยกเลิกเกือบทั้งหมด ขณะบริษัทท่องเที่ยวเจ้าหนึ่งในเมืองพุกาม ก็ระบุว่าลูกค้า โดยเฉพาะชาวยุโรปและสหรัฐ ยกเลิกส่วนที่จองไว้จำนวนมาก
นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่ยกเลิกแผนเยือนพม่า ให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจด้านความปลอดภัย
การคว่ำบาตรและผลกระทบทางเศรษฐกิจตามที่ระบุ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยอียู สหรัฐ และสหราชอาณาจักร ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า จะกดดันพม่าด้วยมาตรการที่หนักขึ้น หากวิกฤตชาวโรฮีนจาไม่คลี่คลาย
ดังนั้น ตัวแปรสำคัญจึงอยู่ที่การแก้ปัญหาในลำดับต่อไป หากนานาชาติเห็นว่าพม่าแก้ “ถูกทาง” สถานการณ์ของพม่าเองก็ย่อมคลี่คลายไปในทางบวกด้วย
You must be logged in to post a comment Login