วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พร่องจริยธรรม

On November 1, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

คำครหากรณี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่งตั้งลูกเป็นเลขาฯประจำตัว แม้จะมีเสียงดังอยู่บ้าง แต่ก็คงเป็นคลื่นกระทบฝั่งที่จางหายไปตามกาลเวลา เหมือนกับอีกหลายกรณีก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ควรหลงประเด็น เพราะไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องนักการเมืองทำไม่ได้ คนที่มาจากอำนาจรัฐประหารทำได้ ถ้ามัวแต่พลิกลิ้นกันไปมา ทีใครทีมันอยู่อย่างนี้ บรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้ คนที่อาสาเข้ามาทำงานการเมืองย่อมถือเป็นบุคคลสาธารณะ แม้ไม่มีระเบียบ ไม่มีกฎหมายห้าม แต่ต้องนึกถึงความรู้สึกของประชาชนเป็นสำคัญ ความรับผิดชอบทางจริยธรรมต้องมีมากกว่าความรับผิดชอบตามกฎหมาย

บ้านเมืองเราก็แปลกดี บางเรื่องคนบางคนทำได้ไม่ผิด เรื่องเดียวกันคนบางคนทำไม่ได้มีความผิดเป็นเรื่องไม่ถูกต้องขาดจริยธรรม ห่างไกลจากความเป็น “คนดี”

แน่นอนว่ากำลังพูดเรื่องการตั้งเครือญาติเข้ามารับตำแหน่งต่างๆ ทั้งในส่วนข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง

ที่เป็นข่าวฮือฮาล่าสุด คือ กรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง นางมยุระ ช่วงโชติ บุตรสาว เป็นรองเลขาฯประจำตัว

กรณีของนายมีชัยไม่ใช่กรณีแรก ก่อนหน้านี้มีเกิดขึ้นมาแล้วทั้งในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้งและยุครัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ

สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง หากมีแต่งตั้งเครือญาติเข้ามารับตำแหน่งจะถูกโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หากเป็นคนจากรัฐบาลคณะรัฐประหารจะถูกอธิบายเป็นอีกอย่างหนึ่งว่า “เพื่อรักษาความลับ” จึงต้องตั้งคนที่ไว้ใจได้เข้ามาทำงาน และเมื่อพูดเพื่อรักษาความลับ หากเป็นนักการเมืองจะถูกมองว่าปกปิดเรื่องไม่ดี โกงกิน แต่หากเป็นอีกขั้วหนึ่งการรักษาความลับจะถูกแปลความหมายเป็นเรื่องของความมั่นคง เรื่องของบ้านเมืองทันที

“ไม่รู้จะหาบุคคลใดที่ไว้วางใจมาทำหน้าที่ได้ ไม่รู้จะยืมใครมาทำหน้าที่ อีกทั้งงานในคสช. ต้องให้คนที่ไว้ใจได้ รักษาความลับได้เข้ามาทำหน้าที่ จึงแต่งตั้งลูกสาวให้ทำหน้าที่…เขาไม่ได้มีประโยชน์อะไร ทำงานตามปรกติ การได้รับค่าตอบแทนนั้น เป็นปรกติของผู้ที่ทำงาน ได้รับเงินเดือนตามปรกติ ส่วนของนักการเมือง ไม่มีอะไรห้ามไม่ให้เขาตั้งลูกหรือภรรยามาทำหน้าที่”

เป็นคำชี้แจงที่มีเหตุผลสวยๆจากนายมีชัย

ในยุค คสช. ก่อนหน้านี้ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็เคยมี สปช. 12 รายแต่งตั้งลูกเมียเครือญาติเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ช่วย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีกว่า 50 คน ที่แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีระเบียบหรือกฎหมายข้อใดห้าม หากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกำหนดก็สามารถแต่งตั้งได้

แม้แต่ข้อบังคับประมวลจริยธรรมของสภาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันข้อที่เกี่ยวข้องยังกำหนดไว้เพียง ให้สมาชิกและกรรมาธิการพึงระมัดระวังการปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ปฏิบัติงาน-ที่ปรึกษา-ผู้ชำนาญการ-นักวิชาการ และเลขานุการ มิให้กระทำการใดๆอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาชิก กรรมาธิการ และสภา

สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องละเว้นจากการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรสและบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติตามเช่นเดียวกันด้วย

ก็จริงอย่างนายมีชัยว่าไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อไหนห้าม ที่สำคัญนายมีชัยไม่ได้เป็นสมาชิกสภา เป็นเพียงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ขนาดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในกรณีของ สนช. วิปสนช.ยังทำได้เพียงออกคำแนะนำให้เปลี่ยนเอาเครือญาติออกแล้วหาคนอื่นที่ไว้ใจได้มาทำงานแทน

แม้จะเคยมีคนพูดเอาไว้อย่างสวยงามว่า “สำนึกความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้อาสาทำงานการเมืองจะต้องเหนือกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย” แต่ก็เป็นได้แค่คำพูดเท่ๆ ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม คนที่อาสาเข้ามาทำงานการเมืองถือเป็นบุคคลสาธารณะ แม้ไม่มีระเบียบ ไม่มีกฎหมายห้าม แต่การจะทำอะไรย่อมสมควรนึกถึงความรู้สึกของประชาชนเป็นสำคัญ

ถ้ามัวแต่เป็นศรีธนญชัยพลิกลิ้นกันไปมา ทีใครทีมันอยู่อย่างนี้ บรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าจะให้ยอมรับเรื่องนี้เป็นเรื่องปรกติที่ทำได้เวลาที่คนอื่นทำบ้างก็อย่าออกมาชี้หน้าคนอื่นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน  โกง


You must be logged in to post a comment Login