วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้ง / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On November 2, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือแม้แต่ กทม. อากาศจะเย็นขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งเข้าเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆเกือบทุกภาคของประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะอากาศดี ไม่ร้อน ยกเว้นภาคใต้บางแห่งที่อาจมีฝนตกหนักอยู่บ้าง

น่าเสียดายที่ปีนี้น้ำท่วมหลายจังหวัด วันที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้คือสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งห่างจากปีน้ำท่วมใหญ่ 2554 อยู่ 6 ปีพอดี สำหรับปีนี้ผมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ต้องเรียนตามตรงว่าจากตัวเลขต่างๆของทางราชการที่เปิดเผยออกมาเป็นระยะ ดูแล้วปัญหาอุทกภัยยังน่ากังวลอยู่ไม่น้อย

ผมและครอบครัวพักอาศัยอยู่ในรั้วบ้านเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่ที่เขตบางกะปิ ส่วนออฟฟิศและบ้านพักอีกแห่งอยู่บริเวณเขตสายไหม ช่วงปี 2554 เขตสายไหมที่ผมเป็นผู้แทนฯถูกน้ำท่วม 100% แต่เขตบางกะปิถูกน้ำท่วมเป็นบางพื้นที่ สำหรับความรู้สึกของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปีนั้นผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่โดนกับตัวเองคงจำเหตุการณ์ได้ไม่ลืมแน่นอน

สถานการณ์น้ำในปี 2554 เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พอเดือนสิงหาคมก็เริ่มมีบางตัวเลขชี้ว่าปีนี้ปริมาณน้ำผิดแผกแตกต่างจากในรอบหลายสิบปี ซ้ำร้ายประเทศไทยยังโดนพายุเข้าถล่มหลายลูกต่อเนื่อง จนในที่สุดปีนั้นเราต้องประสบสภาวะอุทกภัยที่รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

หลังน้ำท่วมใหญ่เป็นช่วงแห่งการฟื้นฟู นอกจากรัฐบาลสมัยนั้นจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ฝ่ายบริหารยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย

รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบดำเนิน โครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งแต่น่าเสียดายที่โครงการถูกยกเลิกไปในที่สุด เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และการนำมวลชนออกมา Shutdown การบริหาร ซึ่งนำมาสู่การรัฐประหารยึดอำนาจในเวลาต่อมา

แน่นอนว่าเมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขก็หมายความว่า เมื่อไรก็ตามที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาซ้ำซากแบบเดิม ประชาชนก็ยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมน้ำแล้งสลับกันไปมา ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้นๆ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือขึ้นอยู่กับ ดวง นั่นเอง

6 ปีมาแล้วที่ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ผมเข้าใจว่าในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเลือกตั้งและเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารในเวลาต่อมาท่านอาจจะมีเหตุผลเพียงพอในการออกมา เรียกร้อง เพื่อให้ยุติโครงการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบด้วยเหตุผลทาง ทัศนคติ

แต่เมื่อได้รัฐบาลทหารมาบริหารประเทศ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องยกเลิกโครงการเหล่านี้ ทั้งๆที่ทุกคนทราบดีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังคาราคาซังอยู่ เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่นักเรียกร้องความยุติธรรมทั้งหลายกลับนิ่งเงียบแล้วปล่อยให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องอาศัยกันอยู่ตาม “ดวง” เกือบ 4 ปี แทนที่จะมอบหมายให้ท่านผู้นำสูงสุดและบริวารทำหน้าที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้

ในที่สุดปัญหาน้ำท่วมก็วนกลับมาอีกครั้ง แม้ปี 2560 ปัญหาจะไม่หนักเหมือนปี 2554 แต่ว่าอุทกภัยครั้งนี้ก็ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน หลายจังหวัดในภาคอีสานและภาคกลางต้องประสบชะตากรรมไม่ต่างกับปี 2554 โดยเฉพาะหลายพื้นที่ของภาคกลางที่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นแรมเดือน

จากตัวเลขที่รัฐบาลประกาศให้ทราบ พบว่ามีถึง 23 จังหวัด 78 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อนไม่น้อยกว่า 120,000 ครอบครัว แต่นี่คือรายงานถึงแค่วันที่ 29 ตุลาคมเท่านั้น แปลว่าหลังจากนี้ย่อมมีผู้ที่เดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าท่านผู้นำสูงสุดจะยืนยันว่าผู้เดือดร้อนต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่ก็ย้ำเช่นกันว่าประชาชนบางพื้นที่ต้องยอมเป็นผู้เสียสละเพื่อความจำเป็นในการระบายน้ำลงสู่พื้นที่พักอาศัย และขอขอบคุณประชาชนที่ยอมสละพื้นที่ของตนเองเพื่อใช้เป็น พื้นที่เก็บกักน้ำ

เรื่องที่ผมฟังท่านผู้นำสูงสุดแล้วไม่ค่อยเข้าหูเท่าไรก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนหารายได้เสริมในช่วงน้ำท่วมด้วยการทำอาชีพ ประมงและสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและกระทรวงเกษตรฯเป็นฝ่ายสนับสนุน โดยกำหนดพื้นที่การประมงแบบโซนนิ่ง ผมคิดว่าเพียงแค่รัฐบาลวางแผนช่วยเหลือเยียวยาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

แต่ก็นั่นแหละครับ เวลาท่านลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ท่านอาจจะไม่มีโอกาสสัมผัสสถานการณ์ที่แท้จริงว่าผู้ประสบอุทกภัยมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร! การดำรงชีวิตประจำวันตามปรกติยากลำบากแค่ไหน!

อย่าว่าแต่การออกไปทำอาชีพประมงที่ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือประกอบการหาปลาต่างๆหลากหลายชนิดเลย เอาแค่จะหุงหาอาหารตามปรกติก็ลำบากสุดๆ นี่ยังไม่นับเรื่องการเข้าห้องน้ำ เพราะราดยังไงก็ไม่ลง เพราะฉะนั้นการเข้าส้วมจึงเหลือเพียงวิธีเดียว ซึ่งผมขออนุญาตไม่อธิบาย แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงนึกภาพออกว่าต้องทำยังไง

ถ้าแย่ไปกว่านั้นก็คือน้ำท่วมสูงจนไม่มีบ้านอยู่ ต้องออกมาอาศัยกางเต็นท์นอนตามถนนที่ยกสูง ดังนั้น ผมว่าอย่าลำบาก “หาเรื่อง” ให้ชาวบ้านไปหาปลาเป็นอาชีพเสริมเลย เพราะวิกฤตที่ต้องเผชิญในแต่ละวันก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ขอแค่ทางราชการช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 ก็ดีงามพอแล้ว

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะนำมาบ่นในสัปดาห์นี้คือเรื่องของคณะทำงานวางแผนการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เหมือนชื่อของคณะกรรมการ หลังจากประชุมต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง ก็มองเห็นแผนงานของกรมชลประทานที่จะนำเข้าที่ประชุมและเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ กนช. ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 100,000 ล้านบาท

ผมไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะหลังจากเกิดอุทกภัยในปี 2554 ก็เคยมีการวางแผนเช่นนี้และนำเสนอผ่าน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว โดยครั้งนั้นกำหนดงบประมาณเอาไว้ที่ 75,000 ล้านบาท

ผมไม่ติดใจวงเงินงบประมาณที่สูงขึ้นมาอีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพียงขอให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนี้ได้จริง และผู้มีอำนาจบริหารโครงการนี้อย่างโปร่งใสก็พอใจแล้ว

ปี 2554 ผมลงไปอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยหลายจังหวัด หลายพื้นที่ และตระหนักดีว่าสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ประสบภัยต้องทุกข์ยากเพียงไหน ถ้าเงินภาษีของพวกเรา 100,000 ล้านบาท สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ผมคนหนึ่งที่ขอยกมือสนับสนุนและอยากให้รีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด

แต่ต้องขอร้องจริงๆว่า อย่าปล่อยให้มีคำครหาเรื่องการ ทุจริตเหมือนกับโครงการอื่นๆของรัฐบาลทหารที่ทำไปก่อนหน้านี้หลายโครงการเลยนะครับ ลองทำให้โปร่งใสเป็นตัวอย่างสักครั้ง แล้วทุกท่านจะได้รับแต่คำ สรรเสริญที่สะกดแบบเดียวกันกับชื่อของ ไก่อูเพื่อนผมจริงๆอย่างแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login