วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กรมสุขภาพจิตแนะพ่อแม่ใช้ประเพณี “ลอยกระทง”ปลูกฝังความคิดจิตใจดีเด็กปกติ-เด็กป่วยโรคจิตเวช

On November 3, 2017

ที่จังหวัดนครราชสีมา   นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสร้างสุขภาพจิตดีในโอกาสประเพณีลอยกระทงภายหลังเป็นประธานเปิดนิทรรศการให้ความรู้สุขภาพจิตแก่ประชาชนเนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันจัดขึ้นที่วัดบ้านมะค่างาม  ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว พร้อมกับทุกจังหวัดทั่วประเทศว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับการดำเนินชิวิตของประชาชนในทุกๆเรื่อง

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า เทศกาลวันลอยกระทงวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีของประชาชนในการพาลูกหลานทั้งเด็กปกติและเด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช 4 โรคหรือเรียกว่าเด็กกลุ่มพิเศษได้แก่ ออทิสติก (Autistic)  โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder ) เด็กสติปัญญาบกพร่อง ( Mental Retard ) และ.เด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ ( Learning Disorder ) ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 8 แสนคน เด็กเหล่านี้ก็ต้องการความสนุกสนาน ได้ทำกิจกรรมนี้ร่วมกันสร้างความผูกพันในครอบครัวให้เด็กๆได้ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ ปลูกฝังการทำกระทงโดยใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่ายตามธรรมชาติเช่นใบตอง ขนมปังและสร้างความเข้าใจความหมายของวันลอยกระทง สอดแทรกความคิดการทำความดีโดยการทดแทนพระคุณของธรรมชาติ การขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งเปรียบเสมือนการขอโทษหลังทำผิดหรือทำสิ่งที่ไม่ดี  น้อมรำลึกผู้มีบุญคุญกับเราทั้งธรรมชาติ บุคคล และการตั้งมั่นจะพัฒนาให้ดีขึ้นโดยการตั้งใจอธิษฐานก่อนลอยกระทงในน้ำ ซึ่งในความหมายทางสุขภาพจิตคือการให้ทบทวนตนเอง ตระหนักรู้ให้อภัยตนเองและผู้อื่น การมองตนเองในเชิงบวกเพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป

“ในเด็กปกติที่อยู่ในวัย 5-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความเข้าใจและเริ่มเรียนรู้สิ่งแวดล้อมสังคมกระตือรือร้นในการเรียนรู้ใหม่ๆ การที่เด็กได้เข้าร่วมประเพณีลอยกระทงรวมทั้งกิจกรรมต่างๆทางสังคมการได้เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ผู้ปกครอง จะทำให้เด็กรู้สึกเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตนเองในการทำความดีและมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต ส่วนเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น  จะมีผลช่วยให้เด็กควบคุมตนเองดีขึ้นเกิดความมีคุณค่าและรู้สึกภูมิใจในตนเอง ในเด็กออทิสติก เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ และสติปัญญาบกพร่อง อาจจะไม่เข้าใจความหมายลึกซึ้งของการลอยกระทง แต่สิ่งที่เด็กจะได้รับคือการมีส่วนร่วมกิจกรรมในครอบครัวและทางสังคมและบอกความต้องการของตนเองได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์  จ.นครพนมกล่าวว่า ในการพาลูกหลานที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชไปร่วมเทศกาลลอยกระทงในพื้นที่ต่างๆ ขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวังดูแลความปลอดภัยใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ  เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงเกิดอันตรายจมน้ำได้สูง แม้กระทั่งน้ำตื้นก็ตาม เนื่องจากเด็กจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมตนเอง ไม่เข้าใจถึงภาวะเสี่ยงหรือภาวะที่เป็นอันตราย ไม่กลัวภัยอันตราย เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะซนอยู่ไม่นิ่ง ชอบท้าทายโลดโผนอยู่แล้ว จึงมีความเสี่ยงเกิดอันตรายมาก จึงขอแนะนำให้ลอยกระทงในจุดที่ปลอดภัย มีแสงสว่าง อยู่ห่างจากตลิ่งแม่น้ำ หรือในเด็กออทิสติกซึ่งมีปัญหาในการสื่อสาร จะต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กลงไปลอยกระทงตามลำพัง

DMH_7903


You must be logged in to post a comment Login