วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กบยักษ์พารวย / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On November 4, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ทศวรรษที่ 1930 เป็นช่วงเวลาที่อเมริกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย เงินทองหายากและมีคนตกงานจำนวนมาก บริษัทผลิตกบกระป๋องชักชวนให้ทำฟาร์มเลี้ยงกบยักษ์โดยสัญญาว่าจะรับซื้อในราคาดี เริ่มต้นธุรกิจง่ายๆเพียงแค่มีบ่อน้ำและพ่อแม่พันธุ์ 2-3 คู่เท่านั้น

อัลเบิร์ต บรอเอล ผู้ก่อตั้งบริษัท American Frog Canning โน้มน้าวว่าเนื้อกบเป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบกับการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้อุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำฟาร์มเลี้ยงกบยักษ์เพื่อสนองความต้องการของตลาด

กบพ่อแม่พันธุ์เพียง 2-3 คู่ สามารถวางไข่ได้มากมายหลายหมื่นฟอง ดังนั้น การทำฟาร์มกบจึงใช้ระยะเวลาการแพร่พันธุ์เพียงแค่รุ่นเดียวเท่านั้น อัลเบิร์ตลงโฆษณาขายพ่อแม่พันธุ์กบยักษ์ในราคาโหลละ 5 ดอลลาร์ หรือประมาณ 100 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน

คุณแม่แนะนำ

อัลเบิร์ตศึกษาด้านแพทย์ทางเลือก เขาสนใจเรื่องการรักษาเนื้อเยื่อเกี่ยวพันด้วยการบริโภคอาหารอย่างถูกวิธี อัลเบิร์ตอพยพมาจากประเทศแถบยุโรปตะวันออก เขาเปิดคลินิกในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ก่อนจะถูกสั่งปิดเพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ

วันหนึ่งแม่ของอัลเบิร์ตป่วย แพทย์สั่งให้หยุดการบริโภคเนื้อสัตว์ เธอจึงกลับมาบอกอัลเบิร์ตว่า “ถ้าหากลูกอยากประสบความสำเร็จในชีวิตจงเลี้ยงกบ” ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่อัลเบิร์ตนึกถึงคำพูดของแม่และลองทำตามคำแนะนำ

อัลเบิร์ตเริ่มต้นเลี้ยงกบแบบมโหฬารเลยทีเดียว เขาซื้อที่ดิน 2,500 ไร่ในรัฐโอไฮโอ เปิดโรงงานกบอัดกระป๋อง ก่อนจะย้ายไปที่รัฐลุยเซียนา เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะกับการทำฟาร์มกบมากกว่า ธุรกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนกบโตไม่ทันขาย ทำให้อัลเบิร์ตต้องลงโฆษณาชักชวนให้ชาวอเมริกันทำฟาร์มกบยักษ์ โดยเขาจะรับซื้อในราคางาม

หลายคนเปิดโรงงานผลิตกบกระป๋องแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่โรงงาน American Frog Canning ของอัลเบิร์ตเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของอเมริกาในสมัยนั้น อัลเบิร์ตผลิตรายการอาหารหลายชนิดที่ใช้กบยักษ์เป็นวัตถุดิบเพื่อขยายความนิยมบริโภคกบ

ฟองสบู่แตก

อัลเบิร์ตเขียนบทความโน้มน้าวให้คนสนใจทำฟาร์มเลี้ยงกบ โดยให้เหตุผลว่าใครๆก็ชอบกินกบ งูก็กินกบ นกก็กินกบ กิ้งก่าก็กินกบ ปลาก็กินกบ แม้แต่เม่นแคระก็ยังกินกบ ลองคิดดูว่าแม่กบตัวเดียววางไข่ได้ครั้งละราว 10,000-20,000 ฟอง ขอเพียงให้มีลูกกบรอดชีวิตแค่บางส่วนก็สามารถทำฟาร์มกบได้แล้ว

แต่สิ่งที่อัลเบิร์ตไม่ได้บอกก็คือ แม้ว่าจะมีลูกกบรอดชีวิตมาบ้างแต่พวกมันก็ตายก่อนที่จะโตถึงขนาดที่โรงงานรับซื้อ หรือการติดโรคเชื้อราเพียงครั้งเดียวสามารถฆ่ากบได้ทั้งฟาร์ม และที่สำคัญคือใครๆก็ชอบกินกบเหมือนที่อัลเบิร์ตบอกไว้ไม่ผิด ดังนั้น จะต้องจัดเวรยามเฝ้าดูแลบ่อเลี้ยงไม่ให้มีนักล่ามาแอบกินกบที่เลี้ยงเอาไว้ ซึ่งเป็นงานที่หนักหนาสาหัสเลยทีเดียว

กระแสการทำฟาร์มเลี้ยงกบยักษ์แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันมีผู้ร้องเรียนจำนวนมากว่าไม่สามารถขายกบยักษ์ได้ราคาตามที่อัลเบิร์ตสัญญาไว้ กระทรวงเกษตรอเมริกาจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปสืบสวน พบว่าบรรดาฟาร์มกบจำนวนหลายพันแห่งมีผู้ประสบความสำเร็จเพียงแค่ 3 รายเท่านั้น

สำนักงานไปรษณีย์ขึ้นบัญชีดำจดหมายเชิญชวนทำฟาร์มเลี้ยงกบจากบริษัท American Frog Canning โดยระบุว่าเข้าข่ายจดหมายหลอกลวง ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขุดคุ้ยข้อมูลกล่าวหาว่าบริษัท American Frog Canning ทำเงินจากธุรกิจผลิตกบกระป๋องสูงถึง 350,000 ล้านดอลลาร์ แต่อัลเบิร์ตออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

กบกินแต่สิ่งมีชีวิต อาหารที่ให้ไม่ว่าจะเป็นแมลง ปู หรือปลาตัวเล็กๆ จะต้องเคลื่อนไหว พวกมันถึงจะกิน และมันกินมากถึง 3 เท่าของน้ำหนักตัว การเลี้ยงกบยักษ์ให้โตได้ขนาดที่ตลาดต้องการต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี ขณะที่การทำฟาร์มไก่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองนักลงทุนทำฟาร์มกบจึงไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่อัลเบิร์ตได้กบมาผลิตกบอัดกระป๋องจากพรานล่ากบป่าเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 1930 รัฐลุยเซียนาออกกฎหมายห้ามล่ากบป่าในช่วงฤดูกบเลิกจำศีล ขณะที่ฟาร์มกบหลายพันแห่งไม่สามารถส่งกบตามขนาดที่ต้องการได้ ทำให้โรงงาน  American Frog Canning ต้องปิดตัวไปโดยปริยาย

ฟาร์มกบคืนชีพ

ทศวรรษ 1970 ธุรกิจค้าส่งและร้านสะดวกซื้อทำให้ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกบฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง ลีโอนาร์ด สลาบอจฮ์ เจ้าของฟาร์มกบมิสซูรี สลาบอจฮ์ กลายเป็นผู้ค้าส่งกบยักษ์รายใหญ่ ความนิยมบริโภคกบขยายไปไกลทั่วโลก จากการสำรวจในปี 2009 มีมูลค่าอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์

ไม่ถึง 10 ปีต่อมา ฟาร์มกบแผ่ขยายออกไปยังทวีปยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย เกิดวิวัฒนาการการเลี้ยงในบ่อปิดปราศจากเชื้อโรคและเชื้อรา เลี้ยงโดยใช้อาหารเม็ดและแมลงที่ตายแล้วโดยใช้การกระเพื่อมของน้ำทำให้อาหารดูเหมือนมีการเคลื่อนไหว

แต่ถึงกระนั้นฟาร์มกบที่มีอยู่ก็ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ เนื้อกบที่วางขายในตลาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นกบป่าจนจำนวนประชากรกบลดลงอย่างน่าใจหาย ปี 1980 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายห้ามล่ากบ

อินเดียและบังกลาเทศกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ เพียงไม่กี่ปีปริมาณกบป่าก็ลดลง นักนิเวศวิทยาพบว่าการที่กบลดลงเป็นจำนวนมากทำให้ปริมาณแมลงเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูกบให้กลับมามีจำนวนสมดุลสูงกว่าเม็ดเงินที่ได้จากการส่งออกกบ ในที่สุดก็ต้องออกกฎหมายห้ามล่ากบเช่นเดียวกัน

ผู้ส่งออกกบเปลี่ยนเป็นอินโดนีเซียและจีน จากการสำรวจพบว่าทั้ง 2 ประเทศส่งออกกบปีละ 200 ล้านตัว นักชีววิทยาแนะนำว่าไม่ควรล่ากบป่าเพื่อส่งออกเพราะจะทำให้ระบบนิเวศเสียหาย แต่ควรพัฒนาการทำฟาร์มกบให้ได้ปริมาณตามที่ตลาดต้องการ และผู้ที่ทำได้สำเร็จก็จะร่ำรวยเหมือนกับที่อัลเบิร์ตเคยวาดฝันไว้


You must be logged in to post a comment Login