วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แกะรอยมวยไทยจากเผ่าเย่จื่อ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On November 6, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ถึงที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ก็คือศาสตร์แห่งการตีความ คือมุมมองที่เกิดขึ้นมาจากภายในของแต่ละบุคคลที่สะท้อนออกมาเป็นอัตลักษณ์

การแกะรอยมวยไทยย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะแกะจากประวัติศาสตร์ เมื่อเรายอมรับถึงทฤษฎีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้ต้องแกะเรื่องราวของเส้นทางสายไหมที่เกี่ยวข้องกับชนชาติเย่จื่อในบริบทฐานะชนเผ่านักรบทะเลทรายและพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นชนเผ่าบรรพบุรุษของจักรพรรดิศรีไชยนาท พระมหากษัตริย์ผู้นำทางการทหารแห่งสหมณฑลรัฐศรีวิชัย

ในการแกะรอยมวยไทยอย่างน้อยต้องยอมรับพื้นฐาน 2-3 ประการคือ ประการแรก เป็นการแกะรอยจากประวัติศาสตร์ไทยในทุกเวอร์ชั่นเท่าที่มีการศึกษาค้นคว้าและเขียนถึง มิใช่เพียงยึดอยู่กับประวัติศาสตร์กระแสหลักเท่านั้น

ประการต่อมาคือ การยอมรับว่าแท้จริงแล้วประวัติศาสตร์คือศาสตร์ของการตีความที่เกิดมาจากมุมมองภายในของนักประวัติศาสตร์แต่ละคน ซึ่งมีกระบวนทัศน์ วิธีการคิดและการมองที่มีความแตกต่างกัน

อีกข้อที่สำคัญคือ ยึดถือว่าศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวในแบบมวยไทยนั้นมาจากการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก ซึ่งต้องตั้งต้นตั้งแต่ครั้งรัฐไทยโบราณในยุคเทียนสนหรือเตียนชุนในภาษาจีน มีศูนย์กลางอำนาจรัฐอยู่ที่เมืองโพธิ ได้แก่พื้นที่ของวัดคูหาภิมุข ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในปัจจุบัน

ในจดหมายเหตุจีน พ.ศ. 688 บันทึกว่า อาณาจักรเทียนสนตั้งอยู่บนฝั่งทะเลที่มีภูเขาหินปูนขรุขระสูงๆและต่ำๆ ข้อความนี้ยืนยันได้ถึงตัวตนของอาณาจักรเทียนสนที่พัฒนาการสืบเนื่องมาจากสหราชอาณาจักรเทียนหรือแถนก๊กตามข้อมูลในหลักฐานจีน คือรัฐแรกในสุวรรณภูมิของรัฐไทยโบราณนั่นเอง

รัฐเทียนสนเกี่ยวโยงถึงการค้ากับเส้นทางสายไหม โดยเชื่อมโยงกับพวกเย่จื่อสำหรับสินค้าสำคัญบางรายการคือนอแรดและงาช้างที่เข้าใจว่าพวกเย่จื่อเอาไปจากเทียนสน นำไปค้าขายที่ตลาดเส้นทางสายไหมผ่านร้านตลาดของแคว้นแบ็คเทย์ ซึ่งพวกเย่จื่อมีอิทธิพลทั้งในฐานะพ่อค้าคนกลางและกองกำลังของราชสำนักจีนตั้งแต่สมัยของฮั่นบู่ตี้ผู้บุกเบิกการค้าเส้นทางสายไหมภายใต้การชี้นำของขุนนางจางเขียน

การแกะรอยมวยไทยจากประวัติศาสตร์คงมีเงื่อนไขบางประการที่ต้องเห็นพ้องและยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ จึงจะส่งผลให้การแกะรอยมวยไทยได้รับคำตอบที่ถูกต้องหรืออย่างน้อยก็มีความใกล้เคียงมากที่สุด

ประการแรกคือ ต้องยอมรับว่างานประวัติศาสตร์คือการตีความออกมาจากภายในของนักประวัติศาสตร์เอง ซึ่งมีความต่างของกระบวนทัศน์ในทางความคิด ตลอดจนมุมมองและทฤษฎีที่เอามาใช้วิเคราะห์และตีความเป็นเหตุผลว่างานประวัติศาสตร์นั้นมีหลากหลายเวอร์ชั่น ซึ่งอาจต่างหรือไม่เหมือนกันเลยก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องแกะรอยไปจากประวัติศาสตร์ที่หลากหลายเท่าที่มีการเขียนและค้นคว้าศึกษากัน ไม่ใช่แกะรอยเฉพาะประวัติศาสตร์กระแสหลักเท่านั้น จึงต้องเปิดกว้างแกะรอยไปทุกแนวของประวัติศาสตร์เช่นกัน

ประการต่อมา การแกะรอยดำเนินไปโดยทฤษฎีและความเชื่อที่ว่า ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยเกิดขึ้นจากการผสมกลมกลืนที่หลากหลายของศิลปวัฒนธรรม

การยอมรับแนวทางของการตีความว่าเป็นสิ่งที่เกิดมาจากมุมมองภายในของแต่ละปัจเจก อันอาจมีกระบวนทัศน์และการตีความงานประวัติศาสตร์นิพนธ์แตกต่างกันออกไปหรือตรงข้ามไปก็ได้ ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของ “E.H. Carr” นักปรัชญาประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เขียน “What is history” การเข้าใจและเห็นว่าแท้จริงแล้วงานประวัติศาสตร์ในด้านข้อมูลแตกต่างไปจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะงานประวัติศาสตร์ยังเกี่ยวข้องกับความคิดและจินตนาการ คือการสนทนาที่ไม่มีวันจบระหว่างคนเขียนประวัติศาสตร์กับข้อมูลของเขา และทรรศนะในการมองประวัติศาสตร์

เช่นนี้จึงเปิดโอกาสให้สามารถแกะรอยมวยไทยได้แม้จากประวัติศาสตร์นอกกระแสหรือประวัติศาสตร์ทางเลือกนั่นเอง การแกะรอยมวยไทยจากประวัติศาสตร์จึงต้องตั้งต้นกับชนชาติเย่จื่อ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของจักรพรรดิศรีไชยนาทแห่งศรีวิชัย

การจะแกะรอยมวยไทยจากประวัติศาสตร์นั้น ข้อแรกจำเป็นต้องเปิดกว้างคือ ไม่อาจไปยึดเฉพาะแนวทางของประวัติศาสตร์กระแสหลักเท่านั้น จำเป็นต้องเปิดกว้างและเปิดทางให้กับประวัติศาสตร์ทางเลือกด้วยเช่นเดียวกัน

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นงานแกะรอยมวยไทยจากประวัติศาสตร์ที่จะมีเรื่องราวให้ติดตามอีกมากมาย


You must be logged in to post a comment Login