วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ใครก็กลัวมือพอง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On November 6, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ถึงวันนี้วันที่ปั่นต้นฉบับ (30 ต.ค.) ก็ยังไม่มีใครไปยื่นใบสมัครเป็นกรรมการในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ ที่จะมาทำหน้าที่แทนชุดเดิมที่ถูกโละพ้นอำนาจเพราะคุณสมบัติไม่เทพเท่าที่ฝ่ายคุมอำนาจต้องการ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าที่อดีต กกต. เคยพูดไว้ตั้งแต่ร่างกฎหมาย กกต.ใหม่แล้วว่า สเปกที่กำหนดไว้นั้นอาจสร้างปัญหาในการสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ เพราะคุณสมบัติที่กำหนดไว้ทำให้คนที่เข้าข่ายยื่นใบสมัครได้มีจำนวนจำกัด

ตามกฎหมาย กกต.ใหม่ มาตรา 8 ระบุว่า กกต. ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้

1.ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คน จากผู้ที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

ก.รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ข.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ค.ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

ง.เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น

จ.เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจ ในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

ฉ.เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม ก. ข. ค. หรือ จ. รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ปี

ช.เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

2.เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน

มาตรา 9 นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา 8 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย

1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี 3.สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 4.มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 5.มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรา 10 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

1.เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด 2.ติดยาเสพติดให้โทษ 3.เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 4.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ 5.เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 6.อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ 7.วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 8.อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 9.ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

10.เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ 11.เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปรกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 12.เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

13.เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง 14.อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 15.เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย 16.เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปรกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

17.เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 18.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา 19.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา 20.เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ 21.เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ 22.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด 23.เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ 24.มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ด้วยคุณสมบัติที่ว่านี้ทำให้การเปิดรับสมัคร กกต. มากว่า 2 สัปดาห์ยังไม่มีใครยื่นใบสมัครแม้แต่รายเดียว โดยกำหนดสิ้นสุดรับใบสมัครในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ เชื่อว่าไม่ใช่ไม่มีคนอยากเป็น กกต. แต่ส่วนมากมีคุณสมบัติไม่ถึงสเปกที่กำหนดไว้

ส่วนคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนคงไม่อยากเข้ามารับเผือกร้อนจัดการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร เพราะจะเจอแรงกดดันจากทุกฝ่ายมากเป็นพิเศษ

หากทำดีถูกใจคนที่มีอำนาจก็ดีไป แต่หากขัดใจผู้มีอำนาจก็อาจติดคุกติดตะรางได้ดังที่เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากอดีต กกต.ชุดก่อนๆ

ปัญหาการสรรหา กกต.ชุดใหม่ไม่ได้อยู่ที่เรื่องคุณสมบัติเสียทีเดียว แต่ไม่มีใครอยากเปลืองตัวเข้ามาถือเผือกร้อนในเกมชิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งมากกว่า


You must be logged in to post a comment Login