- ปีดับคนดังPosted 16 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ก้อนอิฐหรือดอกไม้? / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีสำคัญของประเทศ บ้านเมืองก็กลับสู่สถานการณ์ที่แท้จริงอีกครั้ง ซึ่งปัญหาที่หมักหมมมานานแรมปีก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ แล้วยังซ้ำเติมเรื่องน้ำท่วมและการใช้อำนาจมาตรา 44 ยกเลิกผังเมืองโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกลุ่มเอ็นจีโอเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจที่มีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะออกมาก่อนพระราชพิธีสำคัญเพียงวันเดียว
ประเด็นร้อนประเด็นฉาวซ้ำซากคงหนีไม่พ้นกรณีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอจัดซื้อ “เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา” เพื่อนำไปสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 849 เครื่อง ราคาเครื่องละ 675,000 บาท แต่มีรายงานว่าราคาที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 573 ล้านบาทนั้น มีราคาถึงเครื่องละ 900,000 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดี ปภ. ชี้แจงว่า ราคา 675,000 บาทเป็นเพียง “ราคากลาง” จากบริษัทผู้แทนผู้ค้าในท้องตลาดเท่านั้น ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่โลกโซเชียลก็ตั้งคำถามว่าเครื่องตรวจจับความเร็วรุ่นนี้ “ฝังเพชร” หรือ “เลี่ยมทอง” หรือถึงมีราคาแพงขนาดนั้น เพราะสเปกที่ ปภ. กำหนดไว้ ทั้งมาตรฐาน IACP ตรวจจับความเร็วได้ไม่น้อยกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือลำแสงเลเซอร์ปลอดภัยต่อสายตาตามมาตรฐาน CFR 21 ตำรวจรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ซื้อเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในราคาเพียงเครื่องละ 2,550 ดอลลาร์ หรือประมาณ 85,000 บาทเท่านั้น
ข้อมูลที่ออกมาเหมือนตีแสกหน้า “บิ๊กป๊อก” หนึ่งใน “3 ป.” ที่มีอำนาจสูงสุดในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีนี้ไม่ว่า “บิ๊กป๊อก” จะโยนเผือกร้อนไปให้ใครก็หนีไม่พ้นความรับผิดชอบในฐานะเจ้ากระทรวงที่ต้องตรวจสอบก่อน ไม่ใช่หลับหูหลับตาเสนอคณะรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้ก็มีกรณีเซ็นอนุมัติให้บริษัทเครือกระทิงแดงใช้ที่ดินสาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนมาแล้ว ขณะที่กรณีการจัดซื้อ “ไม้ล้างป่าช้า-จีที 200” ซึ่งกองทัพยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่มีการจัดซื้อถึงอันละกว่าล้านบาท การสอบสวนผ่านมานับสิบปีแล้วก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
จริยธรรมบกพร่อง
ประเด็นทางการเมืองที่ถูกจุดขึ้นมาอีกเรื่องคือ กรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากกรณีตั้งนางมยุระ ช่วงโชติ บุตรสาว เป็น “รองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.” ตามประกาศ คสช. ที่ 93/2557 ฐานะเทียบเท่ารองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รับเงินเดือน 47,500 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้บุตรสาวนายมีชัยก็ถูกตั้งคำถามมาครั้งหนึ่งแล้วที่ดึงมาช่วยงานเมื่อปี 2557 แต่จุดไม่ติดเหมือนครั้งนี้
ความจริงคำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานใน คสช. ล่าสุดมีทั้งสิ้น 34 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจของ คสช. และรัฐบาล ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐบาล คสช. ใช้อำนาจในการแต่งตั้งมากมาย แต่ครั้งนี้อาจเป็นเพราะสถานการณ์การเมืองที่ฝ่ายการเมืองโหมกระแสเรียกร้องให้ปลดล็อกทางการเมือง ทั้งคำชี้แจงของนายมีชัยเรื่องตั้งบุตรสาวว่าเพราะไม่อยู่ในราชการแล้วจึงไม่รู้จะหาบุคคลใดที่ไว้วางใจมาทำหน้าที่ได้ ทั้งงานใน คสช. ต้องให้คนที่ไว้ใจได้ รักษาความลับ เข้าทำหน้าที่ จึงแต่งตั้งบุตรสาว ส่วนค่าตอบแทนเป็นปรกติของผู้ที่ทำงาน และไม่มีข้อห้ามไม่ให้ตั้งบุตรหรือภรรยามาทำหน้าที่
คำถามเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรมในยุค คสช. ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่เป็นประเด็นร้อนเพราะนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายมีชัยที่ตั้งบุตรสาวเป็นรองเลขาธิการ รับเงินเดือน 47,500 บาทว่า อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนว่าเป็นการแต่งตั้งเพื่อประโยชน์ของวงศาคณาญาติหรือประโยชน์ของทางราชการ ซึ่งแบบนี้มีลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะนี้ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเลือกคนอื่นได้โดยมีความสามารถเท่ากันก็ควรจะเลือก หรือให้โอกาสคนอื่นมาทำหน้าที่ก่อน แต่เรื่องอย่างนี้แล้วแต่สำนึกความรับผิดชอบ เพราะในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มีคนเอาลูกเอาหลานเข้ามาเหมือนกัน แต่มีการตรวจสอบ ระยะหลังผู้ที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีใครกล้าแต่งตั้งวงศ์วานว่านเครือตัวเอง แต่ในระบบที่มาจากการยึดอำนาจไม่มีการตรวจสอบ เขาก็ไม่กลัวก็ตั้งไป ไม่รู้จะพูดอย่างไร
“ถามว่าควรหรือไม่ควรดีกว่า ที่จริงไม่ควร เพราะยุคนี้เป็นยุคการปฏิรูป คือเวลาหายใจเข้าเราก็บอกปฏิรูป หายใจออกยาวๆเราก็พูดเรื่องปฏิรูป แต่แบบนี้หายใจเข้าลึกๆเราแต่งตั้งลูก หายใจออกยาวๆเราแต่งตั้งหลาน แบบนี้ไม่น่าจะเป็นยุคของการปฏิรูป ผู้ที่เริ่มต้นการปฏิรูปบอกว่า ระบบการเมืองเมื่อก่อนไม่ดีจึงต้องปฏิรูป ดังนั้น ผู้ที่นำการปฏิรูปต้องทำตนเป็นตัวอย่าง เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าแม่ปูสอนลูกปูให้เดิน” นายนิพิฏฐ์กล่าว
การเมืองเปลี่ยนผ่าน
เรื่องฉาวๆเทาๆในยุค คสช. อาจไม่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาล คสช. มากนัก แต่ช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยเฉพาะหลังคดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงที่สุดแล้ว และ “ตระกูลชินวัตร” ไม่สามารถกลับสู่สนามเลือกตั้ง เป้าใหญ่ทางการเมืองก็ต้องพุ่งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งวันนี้ยัง “แทงกั๊ก” ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธตำแหน่ง “นายกฯคนนอก”
กระแสเรียกร้องให้ปลดล็อกทางการเมืองของนักการเมืองจะออกมาเรื่อยๆ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พและการเลือกตั้งอาจจะเป็นเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็ตาม แต่ก็เป็นแค่คำพูดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาโรดแม็พก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก
แม้การเลือกตั้งไม่ได้หมายความถึงความเป็นประชาธิปไตย แต่ทุกฝ่ายก็ต้องการความชัดเจนของ คสช. ที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน และบ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาคมโลกยอมรับ ไม่ว่า คสช. จะเต็มใจ “ลงจากหลังเสือ” หรือไม่ก็ตาม ก็ต้องยอมรับความจริงและกลับสู่สถานการณ์ที่เป็นจริงว่าประเทศจะเดินหน้าไปได้ก็ต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญลายพรางและประชาธิปไตยครึ่งเสี้ยวก็ตาม
การเมืองต้องหยุดก่อน
“ผมในฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ได้ให้หลักการว่าบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อยปลอดภัย ไม่เกิดความวุ่นวายสับสนเพราะการเมือง”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงนักการเมืองที่ออกมาเรียกร้องให้ปลดล็อกทางการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองว่า ขอให้เชื่อมั่น คสช. เพราะตนเองก็รู้และคำนึงถึงเรื่องนี้ แต่ถ้าสมมุติว่าทุกอย่างมันโครมครามกันทั้งหมด และท่านก็เห็นอยู่แล้วว่าวันนี้ยังไม่เรียบร้อย ยังมีการพูดจาให้ร้ายกันเยอะแยะไปหมด
“ท่านต้องหยุดสิ หยุดเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ทุกคนสบายใจ ให้ประชาชนมีความสุข ผมไม่อยากให้ประชาชนรังเกียจการเมืองหรือนักการเมือง หรืออะไรต่างๆก็แล้วแต่ ผมไม่ต้องการเลย หรือว่าผมจะดีกว่า มันไม่ใช่ ผมต้องการให้ทุกคนสงบและเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นธรรมาภิบาลและเป็นรัฐบาลที่มีความโปร่งใสในวันข้างหน้า วันนี้ผมพยายามทำทุกอย่าง จะเห็นได้ว่ากฎหมาย มาตรการปราบปรามการทุจริตทยอยออกมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายที่เขาจะดำเนินการ ถ้าท่านจะมาบอกว่ารัฐบาลนี้ก็ทำเหมือนกัน ผมว่าไม่เหมือน ลองไปดูข้อเท็จจริง มีอะไรออกมาบ้างในช่วงที่ผมเป็นรัฐบาล ก็ได้รับการตรวจสอบทุกอัน จะผิดหรือถูกเป็นเรื่องของการตรวจสอบ”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงเรื่องการเลือกตั้งว่า ต้องรอ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมีการคัดสรรออกมาจึงจะกำหนดร่างระเบียบกติกาและประกาศพื้นที่ได้ เพื่อนำไปสู่ระยะเวลาการประกาศวันเลือกตั้งอีกครั้ง ทั้งหมดมีส่วนประกอบเยอะ ไม่ใช่ประกาศปลดล็อกแล้วก็โครมคราม ในขณะที่อย่างอื่นยังไม่พร้อม ก็จะวุ่นไปหมด เวลานี้บ้านเมืองสงบดีอยู่ การจะนำไปสู่การเลือกตั้งต้องไปโดยสงบ เมื่อเลือกตั้งแล้วก็ต้องสงบ ได้รัฐบาลที่ดี
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ย้ำว่านักการเมืองต้องสงบเรียบร้อย ไม่พูดจาบิดเบือนก่อนถึงจะปลดล็อกพรรคการเมืองให้ ตอนนี้ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกันจึงยังไม่พร้อมจะปลดล็อก รอดูเวลาเหมาะสม แต่ไม่สามารถบอกกรอบเวลาได้
เลิกถ่วงเวลาได้แล้ว
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊คว่า พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หนึ่งในกฎหมาย 4 ฉบับที่รัฐธรรมนูญบังคับให้มีก่อนจัดการเลือกตั้งถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 เป็นผลให้พรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายภายใน 180 วัน เช่น ดำเนินการให้มีสมาชิกครบตามจำนวนที่กำหนด จัดให้มีทุนประเดิมครบ 1 ล้านบาท จัดให้สมาชิกชำระค่าบำรุงพรรค จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ เลือกหัวหน้า เลขาธิการ และกรรมการอื่นของพรรค รวมถึงจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบ หลายฝ่ายจึงออกมาเรียกร้องให้ คสช. ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม
รองหัวหน้า คสช. ตอบสนองเรื่องนี้อย่างไม่สำเหนียกว่ายังไม่มีการประชุม ส่วนผมไม่ขอเรียกร้องเพราะเป็นอำนาจของประชาชน คสช. ไม่มีทางต้านกระแสเรียกร้องจากทุกฝ่ายได้ ที่สำคัญคือตลอดเวลาเกือบ 4 ปีที่เป็นรัฐบาล คสช. ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไร้ความสามารถในการบริหาร ประเทศเกิดความเสียหายแทบทุกด้าน และไม่เคยเห็นหัวประชาชน แม้ประชาชนจะได้รับความทุกข์ยาก แต่รัฐบาลกลับให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การซื้ออาวุธ หรืออนุมัติงบกลางที่ควรเอาไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ถูกน้ำท่วมมาซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วราคาแพงแต่หาประโยชน์ไม่ได้ พอมีคนทักท้วงก็แก้ตัว โทษรัฐบาลก่อน หรือล่าสุดหัวหน้า คสช. ฉวยโอกาสก่อนงานพระราชพิธีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเว้นผังเมืองของ 3 จังหวัดทางภาคตะวันออก
สิ่งที่ คสช. ควรทำคือ เลิกถ่วงเวลาของประชาชน รีบปลดล็อกพรรคการเมือง นำพาประเทศเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ยกเลิกบรรดาคำสั่งหรือประกาศที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เห็นต่าง รวมถึงต้องเลิกออกคำสั่งที่เป็นเผด็จการด้วย ทำประเทศเสียโอกาสมามากแล้วหัดทำความดีให้กับประชาชนบ้าง เผื่อวันข้างหน้าประชาชนอาจจะเมตตาให้อภัย
เก็บอำนาจไว้ในมือ
เมื่อ คสช. ไม่ยอมปลดล็อกการเมืองก็เท่ากับการเลือกตั้งไม่มีความชัดเจนและเลื่อนได้ อย่างที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นผ่านโพสต์ทูเดย์ว่า แม้จะมีแรงกดดัน คสช. มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกฎหมายพรรคการเมืองที่ประกาศแล้ว แต่ คสช. ไม่ประกาศวันเลือกตั้งตั้งแต่ตอนนี้ เพราะจะทำให้ขยับวันได้อีก ยังมีช่องว่างระหว่างที่ส่งร่างกฎหมายกันไปมาอีกนิดหน่อย ทำให้อาจขยับได้อีก 1-2 เดือน ถ้าอยากจะขยับมากขึ้นก็ทำได้ หาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ผ่าน คสช. ก็พูดได้ว่าเมื่อไม่ผ่าน เลือกตั้งก็ต้องเลื่อนไป
ส่วนพรรคการเมืองที่ออกมากดดัน คสช. ให้กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนเพราะไม่เชื่อมั่น เพราะในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ คสช. ขยายโรดแม็พได้เรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้เขียนว่าถ้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไร แปลว่าถ้าผ่านไม่ครบก็ไม่มีเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้มีเลือกตั้งก็แค่ให้ สนช. ไม่ผ่าน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง ที่ผ่านมาเคยเกิดแล้วคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ไม่ผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วสามารถเกิดขึ้นได้อีก อย่าลืมว่า คสช. ตั้ง สนช. คสช. จึงทำได้ ส่วนจะทำหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คสช. จึงไม่ประกาศว่ากฎหมายลูกจะต้องประกาศครบในเดือนมิถุนายน เพราะต้องการเก็บไพ่เลื่อนเลือกตั้งไปยาวๆได้ไว้ในมือ
ขณะที่ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ความเห็นเรื่องปลดล็อกการเมืองผ่านเว็บไซต์คมข่าวว่า ถ้าเปิดให้นักการเมืองประชุมพรรคก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้นักการเมืองและนักวิชาการพูดอย่างเต็มที่ เท่ากับจะมีการตรวจสอบ คสช. และรัฐบาลอย่างเข้มข้น เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้เกิด เพราะจะทำให้คะแนนนิยมร่วงก่อนการเลือกตั้ง เชื่อว่า คสช. จะเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้น่าจะก่อนการเลือกตั้งจริงไม่เกิน 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาแค่จัดการเรื่องภายในพรรค ทั้งจัดสรรคนลงสมัคร เปิดรับสมาชิก ระดมทุน แต่ไม่มีเวลามาวิพากษ์รัฐบาล
ก้อนอิฐหรือดอกไม้?
ความเห็นของ 2 นักวิชาการน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมารัฐบาล คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าล้มเหลวในการบริหารประเทศ ไม่ว่าทางการเมืองหรือปัญหาเศรษฐกิจ แม้แต่เรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์หรือผู้มีอำนาจใน คสช. ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรม
ปัญหาต่างๆที่หมักหมมนับวันจะยิ่งกดดันให้ “ทั่นผู้นำ” และ คสช. ต้องปลดล็อกตัวเอง ไม่ใช่แค่ปลดล็อกการเมือง ความสงบและความวุ่นวายไม่ใช่เพราะความเห็นต่างของฝ่ายการเมืองและประชาชน แต่อยู่ที่ คสช. เองด้วยที่ดึงตัวเองให้เป็นศูนย์กลางของปัญหาและความขัดแย้ง
วาทกรรมตลกโปกฮาของ “ทั่นผู้นำ” อย่างเช่น.. ขายยางไม่ได้ให้ไปขายที่ดาวอังคาร.. หรือน้ำท่วมก็ให้ทำประมง.. แม้คำพูดที่ออกมาเพราะทั่นเป็นคนตลก แต่วันนี้คนไทยที่ตั้งสติได้เขาคง “ขำไม่ออก” ไปกับทั่นแน่
เสียงเพลงคืนความสุขแบบไม่มีกำหนดที่กรอกหูมาตลอดว่า.. “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน..” คงใช้ไม่ได้อีกแล้ว
เวลาแห่งความสุข เวลาแห่งการมอบ “ดอกไม้” ได้ผ่านไปแล้ว.. เชื่อว่าเวลาของ “ก้อนอิฐ” กำลังเข้ามาแทนที่
นับแต่นี้ก็อยู่ที่ “ทั่นผู้นำ” ว่าจะเลือกรับ “ก้อนอิฐ” จากฝ่ายใด และก้อนเล็กก้อนใหญ่ขนาดไหน!!??
You must be logged in to post a comment Login