วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อสังหาฯช่วยคนเร่ร่อน(ชรา) / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On November 16, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

เราจะลดจำนวนคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนและสร้างสังคมที่ดีได้โดยการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในอนาคต โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน ผมได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับคนเร่ร่อนในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงอดีตคนเร่ร่อน

การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเร่ร่อนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ผมจึงขอพูดถึงเรื่องคนเร่ร่อนซึ่งเป็นประชาชนคนเล็กคนน้อยที่อยู่ชายขอบและแทบไม่มีปากเสียงในสังคม โดยเฉพาะคนชราที่ยากจะช่วยตัวเอง ทุกวันนี้ประชากรไทยมีเกือบ 70 ล้านคน เป็นผู้สูงวัยหรืออายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบ 30% หรือ 21 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนจนประมาณ 10% หรือ 2.1 ล้านคน

สมมุติว่ามีกลุ่มที่ไร้ญาติขาดมิตรจริงๆ 5% หรือ 105,000 คนที่ต้องการการดูแล หากมีผู้ที่ยังพอช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ 20% ก็จะได้ผู้สูงวัยที่มาช่วยผู้สูงวัยด้วยกัน 21,000 คน ถ้ามีสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักผู้สูงวัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย คนกลุ่มนี้จะยังทำงานเพื่อผู้อื่นได้อยู่

อันที่จริงปัญหาคนไร้บ้านหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมักเริ่มต้นที่ปัญหาเศรษฐกิจ คือไม่มีฐานะที่จะอยู่ได้อย่างปรกติสุข บางคนจึงออกมา “ตายเอาดาบหน้า” เป็นคนเร่ร่อนนั่นเอง สังคมควรส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัยเช่นในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ การจ้างงานผู้สูงวัยจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีศักดิ์ศรีที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้มีกำลังใจที่จะอยู่เพื่อตัวเองต่อไป

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจ้างงานผู้สูงวัยคือ ผู้สูงวัยมีโอกาสเจ็บป่วยง่ายกว่าคนหนุ่มสาว จึงอาจเป็นภาระแก่นายจ้าง โดยเฉพาะภาคเอกชน ทำให้ในทางปฏิบัติไม่มีการจ้างผู้สูงวัยทำงานเท่าที่ควร การจ้างงานจึงเน้นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแทน ทั้งที่ประเทศที่ยกตัวอย่างข้างต้นไม่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเลย กรณีนี้สิ่งที่ทำได้คือให้รัฐช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่มีการจ้างงาน

การดูแลคนไร้ที่พึ่งนั้นสถานสงเคราะห์ต่างๆมักมีคิวยาวมาก เช่น บ้านพักคนชราบางแคให้บริการได้ 150 คน แต่ขณะนี้รอคิว 500 คน บ้านกึ่งวิถีมีพยาบาลวิชาชีพเพียงหนึ่งเดียวแต่ต้องดูแลคนไข้เกือบ 500 คน การบริการจึงไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร อาจกล่าวได้ว่าสถานสงเคราะห์ต่างๆมีไว้เพื่อแสดงว่าประเทศไทยมีระบบสวัสดิการสังคม แต่มีจำนวนน้อยมาก จึงแทบไม่มีสวัสดิการสังคมนั่นเอง

รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับคนไร้ที่พึ่งหรือคนไร้บ้านน้อยมาก งบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯประมาณ 10,000 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 0.3% ของงบประมาณแผ่นดินที่สูงถึงปีละ 2.7 ล้านล้านบาท จึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะมาใช้จ่ายด้านนี้

บางท่านอาจมีข้อเสนอแนะว่าควรกระจายการดูแลผู้สูงวัยไปยังท้องถิ่นต่างๆ แต่ความเป็นจริงท้องถิ่นเองก็มีงบประมาณที่จำกัดอย่างยิ่ง กำลังคนภาครัฐทั้งหมด 2.1 ล้านคน ปรากฏว่าเป็นของส่วนท้องถิ่นเพียง 22% คิดเป็นปริมาณงบประมาณก็อาจน้อยกว่านี้อีก ท้องถิ่นจึงไม่มีโอกาสดูแลคนไร้ที่พึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจนกว่าจะมีการกระจายทรัพยากรและกระจายอำนาจที่แท้จริง

รัฐบาลควรร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยเพื่อไม่ให้ออกมาเร่ร่อน โดยอาจทำเป็นที่อยู่อาศัยประเภทเช่าระยะยาวให้ผู้สูงวัยได้ดูแลกันเอง ชุมชนผู้สูงวัยไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง แต่ต้องมีพยาบาลคอยดูแลให้เพียงพอและสามารถหมุนเวียนผู้สูงวัยมาอยู่ได้ตามภาวะของอายุ เป็นชุมชนผู้สูงวัยที่ช่วยตัวเองได้พอสมควร สำหรับผู้ป่วยหรือติดเตียงก็มีสถานสงเคราะห์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยและการสร้างสังคมผู้สูงวัยที่ยังช่วยตัวเองได้อาจเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยเอง โดยการเช่าซื้อที่อยู่อาศัยที่สามารถขายต่อได้เพื่อนำเงินไปรักษายามเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น การดำเนินการเชิงพาณิชย์ผสมกับระบบสวัสดิการสังคมจะทำให้มีเงินในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยได้จำนวนมากขึ้นและกระจายได้ทั่วถึงมากขึ้น

ภาคเอกชนและภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วม โดยถือเป็นกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibilityCSR) การแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยได้อย่างกว้างขวาง และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่น มาช่วยกันพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัยกันเถอะ


You must be logged in to post a comment Login