- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ชะตากรรม?
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
พรรคการเมืองที่เป็นกังวลเรื่องจะไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของพ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ทันตามกรอบเวลาซึ่งมีเดดไลน์แรกวันที่ 5 มกราคม 2561 แม้จะยื่นขอขยายเวลาดำเนินการได้ แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงหลายประการที่จะทำให้สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง การไม่สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งได้ครบทุกเขต ตลอดจนไม่สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งได้เลยแฝงอยู่ ซึ่งความสุ่มเสี่ยงเหล่านี้พรรคการเมืองไม่สามารถขจัดออกไปเองได้ เพราะชะตากรรมพรรคการเมืองทุกพรรคล้วนอยู่ในกำมือของ คสช.
คณะรัฐมนตรี (ครม.) “บิ๊กตู่ 5” ประชาชนจะฝากผีฝากไข้ได้ในช่วงโค้งสุดท้ายการนั่งทับอำนาจของรัฐบาลคสช.หรือไม่ ประชาชนคงคิดกันเองได้ โดยเฉพาะพวกหน้าเก่าที่วนเวียนเปลี่ยนนั่งเก้าอี้โน้นเก้าอี้นี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่เข้ามามีอำนาจ
ที่บอกว่าอย่าด่วนวิจารณ์ให้รอดูผลงานก่อนเป็นแค่ข้ออ้าง เพราะคนไม่มีฝีมือไม่มีผลงานโยกไปนั่งที่ไหนก็เหมือนเดิม
ส่วนเรื่องความกังวลของพรรคการเมืองที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ เพราะติดไฟแดงประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 พรรคการเมืองก็ยังต้องกังวลกันต่อไปว่าจะ “สิ้นสภาพ” ความเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายหรือไม่ หากดำเนินการตามข้อกำหนดได้ไม่ทันกรอบเวลาภายในวันที่ 5 มกราคมปีหน้า
แม้จะทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อความชัวร์แล้ว แต่คำตอบที่ได้ไม่ได้ช่วยทำให้คลายความกังวลที่มี
ทั้งนี้ คำตอบของ กกต.ที่ตอบข้อซักถามของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ กกต. www.ect.go.th ไม่ได้เป็นการช่วยหาทางออกให้กับพรรคการเมือง แต่เป็นการบอกให้เตรียมใจยอมรับชะตากรรม
กกต.ยืนยันว่าการยื่นเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรค การจัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท การประชุมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับพรรค จัดทำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองถือเป็นการดำเนินกิจการในทางการเมือง จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินการ เมื่อประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ยังใช้บังคับอยู่
ส่วนการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือไพรมารี่โหวตในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก หลังพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ หากพรรคการเมืองใดได้ตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น
หมายความว่าถ้าจังหวัดไหนยังไม่มีสาขาพรรค ยังไม่มีการแต่งตั้งตัวแทนพรรคจะส่งคนลงสมัครส.ส.ในจังหวัดนั้นไม่ได้ เมื่อยังไม่มีการปลดล็อกการตั้งสาขาพรรค การตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดก็ยังทำไม่ได้ แม้พรรคการเมืองใหญ่จะมีสาขาพรรคแต่ไม่ครบทุกจังหวัด บางพรรคมีสาขาแค่ไม่กี่แห่งเท่านั้น
หากไปปลดล็อกกันใกล้เลือกตั้ง ตั้งสาขาหรือตั้งตัวแทนในจังหวัดไหนไม่ทันก็ส่งผู้สมัครส.ส.ได้ไม่ครบทุกเขต ทุกจังหวัด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคการเมืองวิตกกังวลที่สุดในตอนนี้คือความการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ระบุเอาไว้
แม้การสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองจะไม่ใช่การยุบพรรค แต่เมื่อสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองแล้ว ย่อมไม่สามารถส่งตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งได้ทุกระดับ ซึ่งความสิ้นสภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อไม่สามารถดำเนินการตามที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดกรอบเวลาไว้ เช่น ภายในวันที่ 5 มกราคมปีหน้าต้องแจ้งความเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง
ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ให้แจ้งแต่เพียงยอดจำนวนสมาชิกเท่านั้น แต่ต้องมีรายละเอียดทั้งหมดของสมาชิกพรรค เช่น มีการเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ หรือการเปลี่ยนสถานภาพต่างๆด้วย
แม้จะยื่นขอขยายเวลาได้ แต่ไม่ใช่ว่ายื่นขอขยายเวลาแล้วจะทำเสร็จเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องยื่นกรอบเวลาที่ขอขยายอย่างชัดเจนด้วย ซึ่งระหว่างขยายเวลาดำเนินการพรรคการเมืองนั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งได้
ขณะที่เวลาผ่านไปเรื่อยๆ พรรคการเมืองจึงต้องลุ้นว่าคสช.จะปลดล็อกให้ทำกิจกรรมได้เมื่อไหร่ ปลดแล้วก็ต้องลุ้นต่อว่าสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ทันกรอบเวลาที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดหรือไม่ ถ้าหากขอขยายเวลาดำเนินการก็ต้องลุ้นว่าจะทำทุกอย่างเสร็จทันก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งหรือไม่
อนาคตกำหนดเองไม่ได้ เพราะชะตากรรมพรรคการเมืองอยู่ในกำมือของ คสช.
You must be logged in to post a comment Login