วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’คุ้มหรือไม่? สัมภาษณ์- ศรีสุวรรณ จรรยา โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On November 20, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยันกว่า 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาล คสช. ล้มเหลวแทบทุกด้าน แม้แต่เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน การเลือกตั้ง คสช. ต้องวางตัวเป็นกลางเพราะเป็นผู้วางกติกา “พล.อ.ประยุทธ์” ควรกลับไปศึกษาอดีตเมื่อปี 2535 ว่าการเสียสัตย์เพื่อชาติคุ้มหรือไม่

++++++

ผมคิดว่าเป็นช่วงขาลงอย่างแรงของรัฐบาล คสช. กว่า 3 ปีที่บริหารประเทศมา ประชาชนทั้งประเทศคาดหวังว่า คสช. จะเข้ามากู้วิกฤตทางการเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคือมาตรา 44 เมื่อมีความคาดหวังสูง แต่รูปธรรมที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง ตรงกันข้ามกลับเกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นมาอีก สะท้อนถึงความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างชัดเจน ข้ออ้างในการยึดอำนาจก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ครบถ้วน โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะในแวดวงข้าราชการ นักธุรกิจ หรือนักการเมือง ซึ่งคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาก็เสมือนเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น สนช. สปช. หรือ สปท.

หลายเรื่องที่ คสช. ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ประชาชนผิดหวังมาก เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำแทบทุกชนิด คสช. ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้พืชผลทางการเกษตรมีราคาเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งความจริงเป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารด้วย เพราะนานาอารยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาไม่คบหาสมาคมด้วย จึงมีผลถึงการค้าการขาย

แม้แต่เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่ผ่านมาก็เห็นว่าผมได้ไปยื่นคำร้อง ไม่ว่าจะกับ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นประเด็นการทุจริตหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่เรื่องไมค์ทองคำ แต่ข้อสรุปที่กลับมาคือแค่ส่วนต่างมากไปหน่อย

รัฐบาลนี้ประกาศเข้ามาเก็บกวาดสิ่งไม่ดีที่นักการเมืองในอดีตทำหรือถูกกล่าวหา แต่พอตัวเองมีอำนาจกลับไม่มีความเด็ดขาดในการจัดการปัญหา ปัญหาจึงตามมามากมาย กรณีที่ สนช. หรือ สปช. เอาเครือญาติไปกินเงินเดือนในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองว่าไม่ถูกต้อง แต่รัฐบาลชุดนี้กลับทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้แต่เรื่องเครือญาตินายกรัฐมนตรี กรณีน้องชาย หลาน และน้องสะใภ้ ก็ไม่มีข้อสรุปที่ทำให้ประชาชนคาดหวังกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลนี้

ภาวะเศรษฐกิจก็ไม่เติบโตนัก จีดีพี 3.5% ถือว่าต่ำสุดในอาเซียน ภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนตกงาน โดยเฉพาะภาคการเกษตร แต่รัฐบาลกลับไปทุ่มงบประมาณจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่ รถถัง ขณะที่ทั่วโลกกำลังต่อต้านสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ รัฐบาล คสช. กลับอ้างว่าอาวุธเก่าต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ ซื้อตามรอบอายุการใช้งาน แทนที่จะนำมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจเรื่องปากท้องของประชาชนก่อน

นี่เป็นเรื่องที่ภาคประชาชนผิดหวังอย่างมาก คำว่า “อัศวินม้าขาว” เป็นอดีตไปแล้ว รัฐบาล คสช. ขณะนี้อยู่ในช่วงขาลงอย่างแรง ล่าสุดยังมีประเด็นจัดซื้อจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วรถยนต์ซึ่งตั้งสเปกไว้สูงลิ่ว ทั้งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการใช้รถใช้ถนนในประเทศเลย แล้วยังอ้างข้างๆคูๆว่ายังไม่ได้จัดซื้อจัดหา แต่ ครม. อนุมัติเงินงบประมาณที่ไม่ใช่งบปรกติด้วย เป็นการใช้งบกลาง ซึ่งจะใช้กรณีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ที่สำคัญหน่วยงานที่ขอกลับไม่ใช่หน่วยงานที่นำไปใช้คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมการขนส่งทางบก ยังไม่พูดถึงราคาที่แพงเกินจริงหรือไม่ นายกรัฐมนตรีจึงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

ผมขอย้ำเรื่องการปฏิรูปประเทศที่ประชาชนคาดหวังไว้สูง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปทหาร ปฏิรูประบบราชการ แต่เอาเข้าจริงถามว่าวันนี้มีอะไรคืบหน้าบ้าง ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ การปฏิรูปทหารแทบจะเป็นศูนย์ กลายเป็น “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” ของรัฐบาล คสช. เอง ผมขอสรุปว่า ขืนรัฐบาล คสช. ดึงดันจะรักษาตัวเองต่อไป สุดท้ายอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ ยกตัวอย่างจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน สุดท้ายแทบจะหาแผ่นดินอยู่ไม่ได้ หรือ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) แม้คุมทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ สุดท้ายก็พ่ายแพ้อำนาจของพี่น้องประชาชน

ที่รัฐบาล คสช. อ้างว่าไม่กระสันในอำนาจ จะไม่เข้ามาสู่อำนาจอีกแล้ว แต่การเขียนรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมายลูกต่างๆส่อที่จะยึดอำนาจหรือตอบสนองอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เขียนกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องทั้งสิ้น อาจหลอกประชาชนบางกลุ่มได้ แต่ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้ทันตามทัน เพราะประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ฉับไว จะโกหกประชาชนไม่ได้ พฤติการณ์ต่างๆตอกย้ำชัดเจนว่าเป็นการวางสะพานให้ผู้มีอำนาจสืบทอดอำนาจต่อไป ในที่สุดบ้านเมืองก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมๆ คือความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ แล้วก็จะเอาอาวุธมายึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำอีก

การทำงานขององค์กรตรวจสอบ

องค์กรอิสระต่างๆในยุคนี้อยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยไปหมดแล้ว เพราะคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่ผ่านกลไกการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจในปัจจุบันทั้งสิ้น ก็เป็นเรื่องยากที่จะไปตรวจสอบคำร้องเรียนที่ประชาชนจำนวนมากให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจ การทำงานจึงไม่ก่อให้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมนัก ผมยืนยันได้เพราะผมร้องเรียนให้ตรวจสอบมากมาย แต่จะถูกสรุปว่าไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีมูล

ผมเข้าใจบริบทเหล่านี้ แต่ทำไมผมยังไปร้องเรียนอยู่เรื่อยๆ เพราะผมต้องการสื่อสารให้พี่น้องประชาชนรู้ว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น เพื่อให้ประเมินวินิจฉัยกันเองว่าเราควรจะยกย่องเชิดชูสรรเสริญหรือตำหนิติเตียน นี่คือประโยชน์ที่ผมต้องไปร้องเรียนอยู่เนืองๆ

หากไม่มีการตรวจสอบหรือตรวจสอบไม่ได้ผมคิดว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะคอร์รัปชันคือเงินของประชาชนคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นตราบใดที่องค์กรตรวจสอบไม่เข้มแข็งหรือไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็จะเป็นช่องว่างให้ผู้มีอำนาจ ผู้ถือกฎหมาย ใช้แสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกตัวเองหรือกลุ่มทุนที่มาสนับสนุน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ นักลงทุนต่างชาติก็ไม่อยากเข้ามาลงทุน เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อธุรกิจที่ลงทุนได้

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมรัฐบาล คสช. พยายามเชิญชวนนักธุรกิจทั่วโลกให้มาลงทุน แต่นักลงทุนยังไม่เข้ามา ผมยืนยันว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล คสช. ล้มเหลว

ทางออกคือต้องทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือเร่งเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง คืนอำนาจทั้งหมดให้พี่น้องประชาชน แล้วประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินเองว่าใครควรจะเข้ามาสู่อำนาจ ใครควรจะบริหารประเทศ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาและซึมอยู่จะทะยานได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะพรรคการเมืองต่างๆจะต้องระดมสรรพกำลัง ระดมเงินมาใช้จ่ายเพื่อการเลือกตั้ง ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องก็จะขยับเขยื้อน เศรษฐกิจจะเคลื่อนตัว นักลงทุนก็จะขยับและกล้าเข้ามาลงทุน มันเป็นอานิสงส์มากมายจากการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ไม่ควรใช้เทคนิคใดๆมายื้อการเลือกตั้งให้ยาวนานออกไป

ประกาศเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561

ผมมีความยินดีที่นายกรัฐมนตรีกล้าประกาศ แต่ถ้าเราไปทบทวนคำพูดของนายกฯในอดีตที่ผ่านมาก็จะพบว่าไม่น่าเชื่อถือ อย่างก่อนหน้านี้เคยไปพูดที่องค์การสหประชาชาติ ที่ญี่ปุ่น หรือจีน ในเวทีนานาประเทศ ยืนยันและรับปากเขาว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นคำพูดของนายกฯต้องเอา 10 หาร หรือ 100 หาร แม้การออกมาพูดล่าสุดจะมีความชัดเจน แต่ถามว่าเชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ ผมยังไม่มั่นใจขนาดนั้น ผมยังเชื่อว่าจะมีเล่ห์กลในการเขียนกฎหมายลูกขณะนี้ เพราะถ้ามีใครในเรือแป๊ะอุตริส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็อาจทำให้ระยะเวลายืดเยื้อออกไปได้ คือเขียนกฎหมายให้มีปัญหาไว้ก่อนเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความ

หากตีความว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ต้องโยนกลับมาที่เดิม ไปยกร่างใหม่ ก็ยืดเวลาออกไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือการใช้เล่ห์ในการยกร่างหรือเขียนกฎหมายลูก ถามว่าคนเหล่านี้เป็นใคร ก็เป็นคนของผู้มีอำนาจทั้งสิ้น รัฐบาล คสช. จะยืดอำนาจของตัวเองไปได้อีกนานแค่ไหนก็อยู่ที่พฤติกรรมของตัวเองเป็นอย่างไร คนไทยทั้ง 65 ล้านคนจะยินยอมหรือไม่ ถ้าคนไทยส่วนใหญ่เห็นชอบก็รับสภาพกันไป แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ต้องดูว่าจะแสดงพลังอย่างไร

ถ้าการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีก ผมคิดว่าเครดิตนายกฯจะเป็นศูนย์ทันที เพราะรับปากทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเลื่อน พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดจึงต้องไปพูดนอกรอบหรือบีบให้พรรคพวกในเรือแป๊ะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือต้องตีความอะไรทั้งสิ้น

เห็นอย่างไรกับการตั้งคำถาม 6 ข้อ

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์หมดเวลาสร้างวาทกรรมกลบเกลื่อนกระแสขาลงของตนเองได้แล้ว ผลงาน 3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนความล้มเหลวการบริหารชัดเจน การจะเอาคนหน้าใหม่มาหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับกล้าเปิดเผยตัวเองว่าจะเป็นนักการเมืองให้ประชาชนเลือกหรือไม่ ดีกว่าเป็นพวกอีแอบไม่ยอมรับความจริง ที่สำคัญ คสช. ไม่มีสิทธิสนับสนุนพรรคการเมืองใด ต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะเป็นผู้วางกติกา สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลทำช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประเทศเลย แต่ระบอบประชาธิปไตยสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ เว้นแต่พวกที่อยากมีอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง รัฐบาลเลือกตั้งแม้จะขาดธรรมาภิบาลไปบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาประชาชนยังสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ พล.อ.ประยุทธ์ควรหันกลับไปมองตัวเองว่า เคยสัญญาอะไรไว้แล้วและทำอะไรได้บ้าง กลับไปศึกษาอดีตเมื่อปี 2535 ว่าการเสียสัตย์เพื่อชาติคุ้มหรือไม่

รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ผมเชื่อว่ายังเป็นรัฐบาลเบี้ยหัวแตก ทะเลาะเบาะแว้งและขัดแย้งในการช่วงชิงอำนาจกัน เพราะไม่มีใครได้เสียงข้างมาก ไม่มีอำนาจที่แท้จริง สุดท้ายก็ต้องถวิลหานายกฯคนนอกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะกลายเป็นบ่อน้ำมันของผู้กระสันอำนาจที่ไม่อยากผ่านกระบวนการเลือกตั้ง นิสัยของนักการเมืองต่างก็ต้องการผลประโยชน์และอำนาจของตัวเอง เพราะฉะนั้นความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ยอมให้นักการเมืองทำอะไรที่ยอมรับไม่ได้ การตรวจสอบของภาคประชาชนก็จะเพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้งในเชิงพื้นที่ การช่วงชิงทรัพยากรต่างๆจะเกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้า โอกาสรัฐบาลใหม่จะอยู่ได้นานก็มีไม่มากนัก อาจอายุสั้นอยู่ไม่ถึงปี มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ผมวิเคราะห์ของผม แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับประชาชน

ส่วนที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯคนนอกก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นก็หืดขึ้นคอแน่ เพราะจะไม่มีฐานอำนาจจากฝ่ายทหารมาเอื้อประโยชน์ ไม่มีมาตรา 44 จะมีแต่นักการเมืองพวกเสือสิงห์กระทิงแรดมาคอยตรวจสอบ มาขอผลประโยชน์เต็มไปหมด พล.อ.ประยุทธ์จะใช้ระบบสั่งการอย่างเดิมก็ยาก สุดท้ายก็จะติดกับดักการเป็นนักการเมือง

อนาคตประเทศไทย

ประเทศไทยจะยังอยู่ในวังวนเดิมๆแบบนี้ แต่จะขับเคลื่อนไปตามสถานการณ์โลก เราไม่สามารถหยุดนิ่งหรือถอยหลังกลับไปแบบยุคเดิมๆได้อีกแล้ว แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะต้องเป็นไปตามพลวัตใหม่ๆของโลก ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ผมคิดว่าคนไทยเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาโดยตลอดในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา อนาคตข้างหน้าคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความสมานฉันท์ สังคมแห่งความขัดแย้งแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้แต่การรัฐประหารก็ยังคงอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป


You must be logged in to post a comment Login