- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
อภินิหารไม่สิ้นสุด / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
ข่าวเตรียมปลดล็อกทางการเมืองบางพื้นที่เพื่อจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติถือว่ามีความน่าสนใจ
นอกจากผลการเลือกตั้งว่าใครสังกัดพรรคการเมืองใดจะเข้าวินได้นั่งเก้าอี้บริหารงานท้องถิ่นแล้ว ยังมีความน่าสนใจในเรื่องวิธีการคัดคนเข้าสู่อำนาจด้วย
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
แต่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 27 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัด โดย กกต. มีหน้าที่เป็นกรรมการผู้ควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้น
ประเด็นนี้ กกต. ได้ทักท้วงในช่วงที่มีการพิจารณา พ.ร.ป. แล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จนกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมามีผลบังคับใช้
แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมาภายหลัง กกต. จึงจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า พ.ร.ป.กกต. มาตรา 27 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
หากศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรานี้จะไม่มีสภาพบังคับใช้ ต้องปรับแก้กันใหม่
หมายความว่าการปลดล็อกเพื่อจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก็ต้องเลื่อนออกไปเพื่อรอแก้ไขกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน
“ฝากไปถึงรัฐบาลว่า การจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจและการประเมินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะให้มีการเลือกตั้งในระดับใด และสามารถผ่อนคลายในพื้นที่ใดบ้าง เมื่อปลดล็อกแล้วน่าจะเป็นบทบาทของ กกต. ที่จะประชุมว่าจะมอบหมายให้ใครจัดการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยราชการ หรือท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งก็ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆรัฐบาลกำหนดว่าใครเป็นคนทำ อย่างนี้ไม่ถูก”
เป็นคำกล่าวของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.
ความสำคัญของการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นครั้งแรกหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 คือมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร รวมแล้วกว่า 8,000 แห่งที่ต้องจัดเลือกตั้งทั่วประเทศ
เป็นที่รู้กันดีว่าการเมืองสนามเล็กในท้องถิ่นนั้นเป็นฐานทางการเมืองให้กับนักการเมืองระดับชาติที่จะต้องแข่งขันกันในช่วงปลายปีหน้าตามโรดแม็พของ คสช.
หากใครยึดการเมืองสนามเล็กได้ก็เท่ากับว่ามีแต้มต่อในการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะนักการเมืองท้องถิ่นคือแขนขาของนักการเมืองระดับชาติ เป็นตัวแทนทำงานในพื้นที่
เรียกว่าเป็นหัวคะแนนก็ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก
เมื่อการเมืองสนามเล็กมีความสำคัญต่อการเมืองสนามใหญ่ การยึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุดย่อมเป็นเป้าหมายของพรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติ
ที่สำคัญไปกว่านั้น ผลการเลือกตั้งการเมืองสนามเล็กจะเป็นเครื่องชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าผลการเลือกตั้งการเมืองสนามใหญ่จะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่า คสช. สามารถใช้ผลการเลือกตั้งการเมืองสนามเล็กประเมินอนาคตการเมืองสนามใหญ่ได้เช่นเดียวกัน
ย้อนไปดูเรื่องอำนาจหน้าที่ในการจัดเลือกตั้งที่กฎหมาย กกต.ใหม่มอบให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ให้ กกต. ขยับสถานะมาเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแล
แต่ยังไม่แน่ชัดว่าการให้อำนาจท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งนั้นมีความหมายกว้างไกลแค่ไหน
จะให้เป็นอำนาจท้องถิ่นนั้นๆเลย เช่น อบต.ไหนมีเลือกตั้งก็ให้ อบต.นั้นเป็นผู้จัดเลือกตั้งเอง โดยให้ปลัด อบต. และเจ้าหน้าที่ อบต. ดำเนินงานโดยประสานขอความร่วมมือจากหน่วยราชการอื่นในพื้นที่ หรือให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงจัดเลือกตั้ง
ถ้าให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดก็เท่ากับย้อนยุคกลับไปเป็นเหมือนในอดีตที่ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดเลือกตั้งทุกระดับทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การให้ กกต. เป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ กกต. ไม่มีเจ้าหน้าที่มากพอที่จะจัดเลือกตั้งได้ด้วยตัวเอง ต้องขอตัวข้าราชการจากหน่วยงานอื่นมาช่วย
สิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ เรามีบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาหลายครั้งว่าการเลือกตั้งภายใต้การจัดการของกระทรวงมหาดไทยทำให้ผลการเลือกตั้งเกิดความพลิกผันได้ในหลายพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แจ้งเกิด กกต. เพื่อให้ทำหน้าที่จัดและควบคุมการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย
ยิ่งกระทรวงมหาดไทยยุคนี้อยู่ใต้การกำกับดูแลควบคุมของ คสช. ยิ่งทำให้เกิดความเป็นห่วงว่าผลการเลือกตั้งหลายพื้นที่อาจเป็นไปอย่างเหนือความคาดหมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหัวหน้า คสช. ตั้งคำถามให้ประชาชนร่วมกันตอบ ซึ่งสิทธิการสนับสนุนพรรคการเมือง นักการเมืองของ คสช. เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญ 6 ข้อด้วย
จึงไม่แปลกที่จะเกิดความกังวลและเอามาผูกโยงเรื่องการปลดล็อกให้เลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ และการยึดอำนาจจัดเลือกตั้งจาก กกต. มาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย ในเมื่อการเมืองท้องถิ่นเป็นฐานสำคัญของการเมืองระดับชาติ
ทำให้หลายคนมองว่า คสช. กำลังก้าวทีละขั้นด้วยการยึดการเมืองสนามเล็กก่อนเพื่อเป็นฐานยึดการเมืองสนามใหญ่ต่อไป
แม้ คสช. ตั้งคำถามทำนองว่าการสนับสนุนพรรคการเมือง นักการเมืองควรเป็นสิทธิของ คสช. ที่ทำได้ เพราะหัวหน้า คสช. ไม่คิดลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ความคิดที่จะเชื่อมโยงสถานการณ์เข้าด้วยกันห้ามกันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่า มาตรา 27 ของ พ.ร.ป.กกต.นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (1) ที่บัญญัติให้ กกต. มีอำนาจจัดหรือมอบอำนาจให้หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ได้หรือไม่
ถ้าผลตีความออกมาว่าขัด อำนาจจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะกลับไปอยู่ในมือของ กกต. แต่ถ้าไม่ขัด อำนาจจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะเป็นของหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย
เมื่อผลเลือกตั้งออกมาแล้วจะมีอภินิหารสร้างความอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นเพื่อปูทางไปถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่หรือไม่ก็ต้องคอยดูกันต่อไป
You must be logged in to post a comment Login