วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จบไม่บริบูรณ์

On November 24, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

โครงการประดับไฟลานคนเมือง ของ กทม.ที่ใช้งบประมาณ 39,500,000 บาท มีความคืบหน้าล่าสุดเพิ่มเติมหลังป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้คือคณะอนุกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับวินัยและออกจากราชการ กทม. มีมติเป็นเอกฉันท์ไล่ออก 4 ข้าราชการที่ถูกกล่าวหา แต่เรื่องนี้ยังไม่จบบริบูรณ์เพราะในรายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯกทม.ที่ถูกกล่าวหาไม่ระงับยับยั้งโครงการ ยังต้องรอการรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมจากป.ป.ช.ต่อไป กรณีนี้น่าสนใจเพราะป.ป.ช.ได้สร้างมาตรฐานเอาไว้จากคดีจำนำข้าว จึงต้องติดตามดูว่าป.ป.ช.จะจบคดีนี้แบบไหน อย่างไร

ใกล้ปีใหม่ทำให้นึกถึงโครงการประดับไฟลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ใช้งบประมาณ 39,500,000 บาท ทำอุโมงค์ประดับไฟสีสันสวยงามให้คนไปเยี่ยมชม นัยว่าเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่โครงการถูกจวกเละว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ผลาญเงินผลาญงบโดยเปล่าประโยชน์เพราะติดไฟไม่กี่วันก็รื้อออกงบ 39,500,000 บาทหายวับไปกับตาไม่เกิดความยั่งยืน

โครงการนี้มีคนไปร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบความโปร่งใส และป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ชี้มูลความผิด นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯกทม.กับพวกทำผิด ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 ประกอบมาตรา 83 157 มีพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อเอกชน

ผู้ถูกชี้มูลในส่วนของกทม.นอกจากรองผู้ว่าฯแล้วยังมี น.ส.ปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว นายธวัชชัย จันทร์งาม ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยว และมีนักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการ ในฐานะคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดขอบเขตงาน หรือทีโออาร์นอกจากนี้มีระดับเจ้าหน้าที่ 5 คน และที่เอกชน 3 ราย บุคคลภายนอกอีก 3 ราย

ป.ป.ช.บอกว่าจะทำสำนวนให้สมบูรณ์ก่อนส่งต่ออัยการดำเนินการฟ้องร้อง แต่ไม่รู้ว่าขั้นตอนไปถึงไหนอย่างไรแล้ว

แต่อีกด้านหนึ่งมีความคืบหน้าล่าสุดที่จะมาแจ้งให้ทราบกันคือ คณะอนุกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับวินัยและออกจากราชการ(อ.ก.ก.วินัย) ของกรุงเทพมหานคร มีมติเป็นเอกฉันท์ไล่ออก 4 ข้าราชการ ประกอบด้วย

น.ส.ปราณี สัตยประกอบ อดีตรองปลัด กทม. ซึ่งขณะทำความผิดดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว, นายธวัชชัย จันทร์งาม รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ขณะทำความผิดดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยว, นายมรกต ภูมิพานิช และ นายสิทธิโชค อภิบาล นักพัฒนาการท่องเที่ยวปฏิบัติการ

แม้ผู้ทำความผิดบางคนเกษียณอายุราชการไปแล้วนั้นไม่มีผลเพราะสามารถเอาผิดย้อนหลังได้

อย่างไรก็ตามถึงจะมีการชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช.และการไล่ออกผู้ทำความผิดแต่สิ่งที่คนทั่วไปยังติดใจเรื่องนี้คือในรายชื่อคนที่ถูกชี้มูลความผิดไม่ปรากฏชื่อของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้น

ทั้งที่ก่อนป.ป.ช.จะมีมติชี้มูลคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่าการทำโครงการดังกล่าวมีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อได้ว่ามีการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อเรื่องไปถึงป.ป.ช.ชื่อม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้หายไป ซึ่งป.ป.ช.บอกว่าที่ชี้มูลความผิดนั้นเป็นแค่การชี้มูลเบื้องต้น ข้อกล่าวหาม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ไม่ระงับยับยั้งโครงการยังต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานกันต่อไป

หลังการถูกไล่ออกของเจ้าหน้าที่กทม. สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือการฟ้องร้องดำเนินคดีที่อัยการซึ่งรับสำนวนสอบสวนมาจากป.ป.ช.จะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการว่าจะให้ผู้ทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายด้วยหรือไม่ หรือจะเอาผิดทางอาญาอย่างเดียว

ในส่วนของป.ป.ช.ก็ยังถือว่าไม่หมดหน้าที่เพราะประชาชนรอฟังผลอยู่ว่าผลการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ที่ถูกกล่าวหาไม่ระงับยับยั้งโครงการนั้นสุดท้ายผลจะออกมาอย่างไร

เรื่องนี้น่าสนใจเพราะมีการสร้างมาตรฐานเอาผิดไว้ในโครงการรับจำนำข้าวแล้วทั้งกรณีชดใช้ค่าเสียหายและไม่ระงับยับยั้งโครงการที่เห็นว่าทำให้เกิดความเสียหาย


You must be logged in to post a comment Login