วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

โคตรงูเหลือม / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On November 26, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

เหลือมยักษ์ลำตัวยาว 134 ฟุต หนักกว่า 2 ตัน ถูกทหารหน่วยคอมมานโดของกองทัพอังกฤษออกตามล่า 37 วัน ก่อนจะสังหารได้สำเร็จกลางป่าอเมซอน หลังจากที่งูยักษ์ได้กลืนชีวิตมนุษย์ไป 257 คน และสัตว์ใหญ่อีก 2,325 ตัว

ข่าวสั้นดังกล่าวพร้อมภาพประกอบปฏิบัติการล่างูเหลือมยักษ์ถูกกระจายไปในโลกออนไลน์เมื่อเดือนมิถุนายน 2015 หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียวเว็บไซต์อินฟอร์เมชั่นไนจีเรียก็เสนอข่าวการสังหารงูเหลือมยักษ์อีกตัวกลางลำน้ำแอฟริกาอเมซอน ประเทศไนจีเรีย

แม้ขนาดจะไม่ใหญ่โตมโหฬารเท่ากับงูเหลือมยักษ์ในป่าอเมซอน แต่มันก็กลืนชีวิตมนุษย์และสัตว์ใหญ่ไปเป็นจำนวนเท่ากันพอดิบพอดี อีกทั้งยังถูกสังหารโดยทหารแอฟริกาส์โรยัลบริทิชคอมมานโดหลังจากใช้เวลาตามล่านาน 37 วันเหมือนกัน

พอจะเดาได้ไม่ยากว่าข่าวจากเว็บไซต์อินฟอร์เมชั่นไนจีเรียเป็นข่าวมั่ว โดยนำข่าวการสังหารงูยักษ์ในป่าอเมซอนมาเปลี่ยนสถานที่เป็นลำน้ำแอฟริกาอเมซอน ประเทศไนจีเรีย และเปลี่ยนชื่อหน่วยคอมมานโดอังกฤษเป็นแอฟริกาส์โรยัลบริทิชคอมมานโด ส่วนภาพประกอบเป็นภาพงูอนาคอนดาธรรมดานำมาซ้อนกับภาพกลุ่มคนยืนกลางป่า และที่สำคัญที่สุดคือ ไนจีเรียไม่มีลำน้ำแอฟริกาอเมซอน

งานส่งอาจารย์

นั่นไม่ได้หมายความว่าการสังหารงูยักษ์ขนาดน้ำหนัก 2 ตันในป่าอเมซอนเมื่อปี 2015 เป็นเรื่องจริง เพราะภาพประกอบชุดเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์โดยเว็บไซต์ซาแอด-คาราช (อิหร่าน) มาก่อนตั้งแต่ปี 2012 โดยมีเนื้อหาข่าวที่ละเอียดมากกว่า

งูเหลือมยักษ์ความยาว 43 เมตร ขนาดรอบลำตัว 6 เมตร อายุ 103 ปี ถูกทีมนักวิทยาศาสตร์จับตัวได้ที่ทะเลแดง ประเทศอียิปต์ หลังจากที่มันกลืนชีวิตนักท่องเที่ยวไป 320 คน และนักดำน้ำชาวอียิปต์ 125 คน ชาวอียิปต์เรียกมันว่า “มากามาอาร์มาแลด”

งุเหลือมยักษ์ตัวนี้ถูกพบในทะเลแดงโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอียิปต์ ประกอบด้วย ดร.การิม โมฮัมหมัด, ดร.โมฮัมหมัด ชารีฟ, และ ดร.มาเซน อัลราชิดิ นักดำน้ำที่ร่วมทีมจับงูยักษ์ประกอบด้วย อับดุลลาห์ การิม, วาเอล โมฮัมหมัด, โมฮัมหมัด ฮาราดิ, และมาห์มอนด์ ชาฟิก

หลังจากจับตัวได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์พยายามยื้อชีวิตงูเหลือมยักษ์ด้วยการให้ออกซิเจนแต่มันก็เสียชีวิตในที่สุด ซากของมันถูกนำไปเก็บรักษาที่สถาบันชาร์ม เอล ชีค

แต่งูยักษ์ทะเลแดงก็เป็นข่าวมั่วอีกเช่นกัน เพราะจริงๆแล้วภาพทหารสังหารงูเหลือมยักษ์เป็นผลงานของนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศชาวเวียดนาม ซึ่งทำโปรเจกต์ส่งอาจารย์เมื่อปี 2010 หลังจากนั้นก็นำภาพชุดนี้มาเผยแพร่ในโลกออนไลน์เพื่อโชว์ความชำนาญด้านการถ่ายภาพ

งูในภาพดูเหมือนงูจริงที่ตายแล้ว มีขนาดเท่างูธรรมดาทั่วๆไป ส่วนรถถัง รถยก เฮลิคอปเตอร์ และทหาร ล้วนเป็นหุ่นจำลองขนาดเล็กทั้งนั้น นักศึกษาผู้นี้ใช้มุมกล้องสร้างภาพลวงตาทำให้ดูเหมือนจริง ต่อมามีคนเซฟภาพนำไปแต่งเรื่องราวแชร์ไปในโลกออนไลน์

ไททันโอโบอา

จากการศึกษาของทีมงานเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกพบว่า งูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเป็นพันธุ์กรีนอนาคอนดา อาศัยอยู่ในแถบอเมริกาใต้ มีขนาดยาว 29 ฟุต วัดรอบตัว 12 ฟุต น้ำหนักกว่า 220 กิโลกรัม นั่นคือสายพันธุ์ที่ยังพบกันอยู่ในปัจจุบัน

ปี 2008 จอร์จ โมริโน-เบอร์นัล เจ้าหน้าที่ฝึกงานของสถาบันสมิธโซเนียน ค้นพบฟอสซิลชิ้นส่วนกะโหลกของงูในเขตเซอร์เรยอน ประเทศโคลอมเบีย คำนวณว่ามันต้องมีความยาวอยู่ที่ 30-35 ฟุต แต่ขนาดจะยาวแค่ไหนยังไม่สำคัญเท่าการพบฟอสซิลกะโหลกงูโบราณ เพราะโดยปรกติแล้วมันจะผุพังไปตามกาลเวลาเหมือนกับโครงกระดูกส่วนอื่น

เซอร์เรยอนเป็นแผ่นดินเก่า มีการพบซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดต่างๆในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ฟอสซิลชิ้นส่วนกะโหลกงูที่พบเป็นพันธุ์ไททันโอโบอา นับว่าเป็นงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยอาจมีความยาวมากกว่า 40 ฟุต

เดวิด โพลลี นักบรรพชีวินวิทยา ศึกษาความสัมพันธ์ของขนาดกะโหลกและความยาวของงูปัจจุบัน นำมาสร้างสูตรเพื่อคำนวณหาความยาวของงูเจ้าของกะโหลก เขาเชื่อว่างูพันธุ์ไททันโอโบอามีความยาวเฉลี่ยประมาณ 42-49 ฟุต มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 ตันเลยทีเดียว

บังเอิญเจอ

เซอร์เรยอนเป็นแหล่งถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ราวปี 1996 เฮนรี่ การ์เซีย นักธรณีวิทยา พบฟอสซิลสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่รู้จัก เขานำมาเก็บไว้ที่บริษัททำเหมืองถ่านหินแล้วก็ลืมไปเลย จนกระทั่งอีก 9 ปีต่อมา ฟาไบนี เฮอร์ริรา นักศึกษาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบียส์อินดัสเตรียล เดินทางมายังเซอร์เรยอนแล้วพบว่าก้อนหินบริเวณนี้มีรูปร่างประหลาด เมื่อพิจารณาดีๆก็พบว่ามีลวดลายเหมือนใบไม้ และเมื่อหยิบก้อนหินก้อนอื่นๆขึ้นมาดูก็พบว่าเหมือนกัน เพราะมันคือซากฟอสซิลใบไม้โบราณ

ฟาไบนีชักชวนเพื่อนที่ทำงานบริษัทขุดเจาะน้ำมันในเขตเซอร์เรยอนมาทำการสำรวจพื้นที่ เพราะเชื่อว่าบริเวณนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าแร่ถ่านหิน การสำรวจอย่างเป็นรูปแบบเริ่มขึ้นในปี 2003 โดยเชิญสก็อต วิง นักบรรพชีวินวิทยาสถาบันสมิธโซเนียน ประเทศอเมริกา มาร่วมทีมด้วย

ซากฟอสซิลพืชและสัตว์กว่า 2,000 ชิ้นถูกค้นพบที่เซอร์เรยอน สก็อตติดต่อบริษัทเหมืองแร่ขอดูตัวอย่างฟอสซิลที่เก็บเอาไว้ เขาพบว่าฟอสซิลส่วนหนึ่งเป็นซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ และนั่นคือที่มาของการลงพื้นที่สำรวจอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการจับมือกันระหว่างอเมริกาและโคลอมเบียจัดตั้งทีมสำรวจพื้นที่ 15,000 ไร่ทางตอนเหนือของเซอร์เรยอน

งูกินปลา

นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าไททันโอโบอาจัดอยู่ในประเภทงูเหลือมมากกว่าจะเป็นพันธุ์อนาคอนดา และจากการวิเคราะห์เศษชิ้นส่วนกรามทำให้เชื่อว่ามันมีฟันมากกว่างูทั่วๆไป ซึ่งหมายความว่าไททันโอโบอาเป็นสัตว์กินปลาที่ต้องอาศัยฟันซี่เล็กๆในการงับเหยื่อที่มีลำตัวลื่น

แต่มันไม่ได้กินปลาเพียงอย่างเดียว มันสามารถกลืนจระเข้หรือเต่าลงท้องได้ทั้งตัวเช่นเดียวกับอนาคอนดา หมายความว่าไททันโอโบอาเป็นลำดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร อย่างไรก็ตาม นักบรรพชีวินวิทยาก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าไททันโอโบอาจัดอยู่ในกลุ่มงูเหลือมหรืออนาคอนดา เพียงแค่เอนเอียงไปทางเชื่อว่าอยู่ในกลุ่มงูเหลือม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นงูเหลือมหรืออนาคอนดา ทั้งคู่ก็สังหารเหยื่อด้วยวิธีรัดจนเหยื่อหมดสติหรือเสียชีวิตเพราะร่างกายแหลกเหลวแล้วกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัวเหมือนกัน นักบรรพชีวินวิทยาแยกความแตกต่างระหว่างงูเหลือมกับอนาคอนดาอย่างไรไม่ทราบ ส่วนโคตรงูเหลือมอเมซอนหรือทะเลแดงหรือไนจีเรียล้วนแต่เป็นงูแหกตาทั้งสิ้น


You must be logged in to post a comment Login