วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มีนัยอะไร?

On November 27, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีประเด็นที่น่าสนใจนอกจากไม่เซ็ทซีโร่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายใหม่แล้วยังอุ้มตุลาการฯ 5 คนที่หมดวาระทำงาน 9 ปีแล้วให้อยู่ทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภานัดแรกหลังเลือกตั้งทั้งที่มีเวลาเหลือเฟือที่จะสรรหาคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน น่าสนใจว่าการให้ตุลาการฯชุดนี้อยู่จนเปิดประชุมสภานัดแรกหลังเลือกตั้งจะมีนัยอะไร หรือไม่?

ปมร้อนเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 น่าจะรู้ผลสอบสวนอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งน่าจะออกมาทั้งผลพิสูจน์ทางการแพทย์และผลสอบสวนข้อเท็จจริงที่กองบัญชาการกองทัพไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ

ยังไม่รู้ว่าผลสอบจะออกมาอย่างไรและสังคมจะให้ความเชื่อถือหรือไม่เพราะเป็นการสอบกันเองภายในไม่มีคนนอกหรือตั้งคนกลางสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามแม้จะสอบกันเองภายในแต่หากผลที่ออกมาตอบคำถามที่สังคมสงสัยได้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าไขปมต่างๆได้ไม่เคลียร์เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อกองทัพค่อนข้างมากโดยเฉพาะในด้านของความน่าเชื่อถือ

ข้ามมาที่เรื่องการเมืองที่เรื่องความน่าเชื่อก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินถูกผิดหากมีความน่าเชื่อในการทำหน้าที่บ้านเมืองจะไม่เกิดความวุ่นวาย

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

มีประเด็นที่น่าสนใจคือการอุ้มให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต, นายชัชชลวร, นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และ นายจรัญภักดีธนากุล ที่หมดวาระดำรงตำแหน่งไปแล้ว แต่ที่ยังได้ทำงานต่อเนื่องเพราะมีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 24/2560 ต่ออายุการทำงานให้โดยไม่ต้องสรรหาคนใหม่เข้ามาทำงานแทน

ในตอนแรกคาดกันว่าหลังพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้วจะมีการสรรหาคนใหม่เข้ามาทำงานแทน แต่ขณะนี้ชัดเจนแล้วทั้ง 5 คนจะได้นั่งทำงานในศาลรัฐธรรมนูญต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมสภานัดแรกหลังการเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ปฏิบัติหน้าที่ครบ 9 ปีตามกฎหมายเก่าไปแล้ว ถ้าอยู่ต่อจนมีการเปิดประชุมสภานัดแรกก็จะได้เป็นตุลาการฯกันนานนับทศวรรษซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ที่สำคัญทั้งหมดอาจได้อยู่ต่อไปโดยไม่มีกำหนด อาจจะเป็น 11 ปี 12 ปี 13 ปี 14 ปี 15 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งก็จะได้นั่งทำงานต่อไป หรือเลือกตั้งแล้วเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนไม่สามารถเปิดประชุมสภานัดแรกได้ทั้งหมดก็ยังได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 คน แม้จะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายใหม่กำหนด แต่ไม่ต้องพ้นจากหน้าที่ยังได้ทำงานต่อไปจนครบวาระ ซึ่งถ้ายึดตามคำสั่ง คสช.ที่ให้งดเว้นสรรหาคนใหม่ ก็อาจหมายถึงได้อยู่ต่อไปจนกว่าจะเปิดประชุมสภานัดแรกหลังเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่สังคมตั้งคำถามคือทำไมองค์กรอิสระอื่นเมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้แล้วกรรมการในองค์กรอิสระนั้นมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วยตามกฎหมายใหม่ต้องพ้นจากหน้าที่เพื่อสรรหาคนใหม่ แต่เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้ไม่ถูกเซ็ทซีโร่เหมือนองค์กรอื่น

ไม่ถูกเซ็ทซีโร่ยังไม่เท่าไหร่ แต่หมดวาระแล้วยังได้อยู่ต่อ

ทั้งที่การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกฎหมายใหม่กำหนดกรอบเวลาไว้ชัดเจนว่าให้ดำเนินการภายใน 200 วัน

คำถามคือทำไมต้องให้ตุลาการที่หมดวาระไปแล้วอยู่ต่อจนถึงวันเปิดประชุมสภานัดแรกหลังเลือกตั้ง ทำไมไม่สรรหาใหม่ทั้งที่ระยะเวลาการสรรหานั้นทำได้เสร็จทันก่อนเลือกตั้งที่กำหนดไว้ตามโรดแม็พช่วงปลายปีหน้า

มีเวลาเหลือเฟือแต่กลับเลือกให้ทั้ง 5  คนอยู่ต่อจนเปิดประชุมสภานัดแรกหลังเลือกตั้ง

มีนัยอะไรหรือไม่?


You must be logged in to post a comment Login