วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘คลองไทย’ มิติความขัดแย้ง? / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On December 4, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

เรื่องการขุดคอคอดกระในภาคใต้นั้น ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวในบทความก่อนหน้านี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญในหลายมิติ ทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคประชารัฐ ภาคความมั่นคง และภาคการบริหาร มิใช่เพียงมิติการบริหารรัฐกิจและความมั่นคงด้านการทหารเท่านั้น ยังมีปัญหาใหญ่หากเลือกแนวด้านล่างสุดคือเรื่องเอกสารสิทธิครอบครองที่ดิน ซึ่งมีความละเอียดอ่อนในผลประโยชน์ที่สลับซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจและการบริหารจัดการที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก

ประเด็นที่จะกล่าวถึงนี้ที่ต้องคิดทบทวนและถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดหนักมากที่สุดคือ มิติความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจลงทุนขุดคลองไทย จีนนั้นเห็นด้วยและสนับสนุน ถึงขั้นพร้อมจะลงทุนเองด้วยซ้ำไป

ข้อคำนึงที่ว่าเหตุผลในการขุดคลองตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจแท้ๆ ได้เบี่ยงเป็นมิติยุทธศาสตร์การทหารมาผสม จะกระทบและส่งผลอย่างไรกับการตัดสินใจขุดคลองไทยนั้น ความเห็นของผู้เขียนจึงเป็นกระบวนทัศน์ในการคิดทั้งสิ้น

ในทุกแนวทางได้มีการศึกษาค่อนข้างละเอียด จึงอยากให้หาคำตอบจากเส้นทางที่ยังไม่มีการศึกษาข้อดีข้อเสีย ซึ่งควรเป็นแนวทางที่มีผลเสียหายน้อยที่สุด ถ้าจะขุดคลองไทยจริงๆก็ย่อมมีเสียงค้านแน่นอน คงมีกระแสว่าอ่อนไหว (sensitive) กับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากให้สรุปตอนนี้ที่ถือว่ามีปัญหาน้อยที่สุดต้องลงเอยที่ 5A อย่างหนีไม่พ้น

หากมองในแง่การลงทุน ทางออกอาจลงที่เส้นทางสายลูกปัดที่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์จะลงทุนน้อยที่สุด ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ส่วนความหวาดระแวงประเด็นความมั่นคงหรือการแบ่งแยกดินแดนตัดทิ้งไปได้เลย ตลอดจนข้อวิจารณ์ที่คนกลางๆมองว่าโครงการคลองไทยหากอยู่ห่างภาคกลางมากไป จะทำให้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ข้อวิจารณ์นี้ก็จะหมดไป

ทั้งหมดคือข้อคิดเห็นและความคิดที่สะท้อนเกี่ยวกับโครงการคลองไทยที่มีแนวโน้มในทางสนับสนุน แต่การสนทนากับ ดร.ธวัช วิชัยดิษฐ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และเคยบอกผู้เขียนก่อนจะเสียชีวิตว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เขียนไว้ชัดเจนว่าการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการของประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่าตรงนี้เป็นด่านหินสุดท้ายที่รัฐบาลไทยต้องฝ่าข้ามการตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ เพราะคลองไทยถ้าเกิดขึ้นก็เท่ากับฆ่าสิงคโปร์ทั้งเป็น สิงคโปร์จะยอมง่ายๆหรือ ตรงนี้เรามีทางออกที่จะเกี๊ยะเซียะกันอย่างไร ถือเป็นคำถามที่ใหญ่มาก ใหญ่พอๆกับคำถามในบริบทความขัดแย้งของจีนกับสหรัฐอเมริกา

การตัดสินใจเลือกขุดคลองไทยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มันจึง Say to success ของบ้านเมืองในทุกด้านอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นคำตอบเรื่องเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การทหาร การผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นชั้นในเวทีอาเซียน ผมอาจรวมถึงการทำให้เกิดการประนีประนอมของกลุ่มอำนาจใหญ่ ซึ่งหมายถึงอำนาจที่ลงตัวนั่นเอง

จุดสุดท้ายของปัญหาคลองไทยคือการตัดสินใจ ซึ่งผู้ตัดสินใจสูงสุดต้องก้าวข้ามไม่ใช่เพียงเรื่องผลประโยชน์ในทุกมิติ แต่ยังต้องกล้าหาญดุจพระโพธิสัตว์ทีเดียว ต้องตัดทิ้งทุกอคติและภยาคติ แม้แต่ทรรศนะและความจริงที่ว่าโครงการคลองไทยถูกพลิกฟื้นล่าสุดภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้ว

หากคิดได้ระดับนั้น นอกจากคลองไทยจะสำเร็จแล้ว สิ่งที่ยากกว่าก็สามารถบังเกิดได้ คือการประนีประนอมของคนไทยด้วยกัน นอกจากข้อมูลรายละเอียดในการตัดสินใจ สิ่งที่สูงสุดของพระโพธิสัตว์คือ การกล้าเผชิญหน้ากับทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าความเป็นความตาย ความพ่ายแพ้หรือชัยชนะ ตลอดจนความห่อเหี่ยวและอดสูของตนเอง นี่คือสิ่งที่ผู้นำสูงสุดต้องฝ่าข้ามให้ได้

สรุปแล้วการเกิดของคลองไทยคือการกล้าตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงเพียงสิ่งเดียวคือผลประโยชน์ของประชาชนอันเป็นส่วนรวม

การขุดคลองไทยจะเกิดผลดีต่อบ้านเมืองมากกว่าผลเสีย จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการโดยรัฐบาล ต้องเลิกคิดว่าเป็นโครงการของฝ่ายทักษิณ โดยยึดเงื่อนไขเรื่องเศรษฐกิจที่อาจมีการผสมผสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายทักษิณกับฝ่ายประยุทธ์ก็ได้

เมื่อจีนชื่นชอบรัฐบาลชุดนี้ ส่วนอดีตนายกฯทักษิณก็มีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ทำไมไม่แลกเปลี่ยนและประนีประนอมกัน จับมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง ผมคิดว่าสารัตถะสำคัญมากที่สุดของคลองไทยอยู่ตรงนี้

ในอดีตมีคลองท่อมที่กระบี่ ปัจจุบันจึงไม่แปลกที่จะเกิดคลองไทย ซึ่งทั้ง ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก และผู้เขียนเชียร์แนวคลองท่อมที่กระบี่ให้ออกมาที่อ่าวบ้านดอน สุราษฎร์ธานี


You must be logged in to post a comment Login