- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ไก่ได้พลอย / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต
การแปลงร่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) จาก “บิ๊กตู่ 4” เป็น “บิ๊กตู่ 5” แม้จะมีการปรับตำแหน่งและตัวบุคคลค่อนข้างมาก แต่ดูเหมือนว่าปัญหาของประเทศยังคงเป็นเรื่องเดิมๆที่เปลี่ยนคนแก้มาหลายคนแล้วแต่ยังแก้ไม่ได้ หรือได้แต่ยังไม่ถึงระดับที่ดีพอให้ปัญหาหมดไป
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมไม่ได้คาดหวังการทำงานของรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงจากอำนาจ
หลังการปรับ ครม. มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจคือคำถามจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์
นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า มี 8 เรื่องที่ ครม. “บิ๊กตู่ 5” ต้องเร่งทำให้เกิดผลก่อนที่จะลงจากอำนาจ ประกอบด้วย
1.แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่กระทบคนวงกว้าง 2.แก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ 3.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4.ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเปิดพื้นที่เสรีภาพ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง 5.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค 6.ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและตัดไม้ทำลายป่า 7.ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตายติดอันดับโลก สูญเสียนับแสนล้านต่อปี 8.ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ยังรั้งท้ายเพื่อนบ้าน และเด็กส่วนใหญ่ยังสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้
จะเห็นว่าทั้งหมดเป็นโจทย์เก่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้แล้วแต่ยังไม่เป็นผล และต้องยอมรับว่าหลายปัญหาตกค้างมาจากหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้
แต่เมื่อนั่งทับอำนาจอยู่จึงมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ประชาชนและประเทศชาติ จะเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษสั่งทุกอย่างได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งที่จะตามมาภายหลัง ต้องกล้าใช้อำนาจแก้ปัญหาให้เห็นผลมากกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามเพื่อขอทราบแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนจาก ครม. “บิ๊กตู่ 5” 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.นโยบายเกษตรจะเอาอย่างไร ในเมื่อไม่เอาทั้งนโยบายรับจำนำหรือประกันรายได้ 2.โครงการธงฟ้า ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุด โดยรัฐเข้าไปเป็นคนอุดหนุน ไม่เห็นตัวเลขว่าช่วยคนจนได้เท่าไร ดูเหมือนนโยบายจะดี แต่ของขึ้นราคา และไม่ยอมออกใบเสร็จโดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้บัตรคนจนซื้อราคาแพง จึงขอให้ทบทวนว่าไปเบียดร้านค้าอื่นหรือไม่
3.บัตรคนจน พบว่ามีข้าราชการได้รับบัตรคนจนด้วย และระวังข้อมูลบัตรคนจนหายไป คน 11.4 ล้านคน จะหมดสิทธิกู้ 4.นโยบายประชารัฐ กรรมการ 70% เป็นภาคเอกชน เป็นการปล่อยให้ขาใหญ่เอาเปรียบประชาชน 5.หนี้นอกระบบ ไม่ตอบโจทย์ เพราะเป็นการขึ้นทะเบียนใหม่ โดยไม่จัดการกับหนี้ที่มีอยู่ คนที่มีหนี้นอกระบบมีอยู่ 1.2 ล้านคนจากตัวเลขที่ขึ้นทะเบียน 11 ล้านคน ทั้งที่ความจริงมีเกือบ 30% ประมาณ 17 ล้านคน
6.พ่อค้า แม่ค้า ทุกท้องถิ่นโดนเบียดเพราะร้านธงฟ้า และ กทม. ก็จัดระเบียบไม่ให้ค้าขายในบางพื้นที่ แต่ไม่บอกว่าให้ไปค้าขายที่ไหน 7.นโยบายการเงินของประเทศจะเอาอย่างไร เพราะมีส่วนต่างดอกเบี้ย 7-8% 8.นโยบายพลังงาน ไม่กำกับดูแล เอื้อบริษัทใหญ่ 9.สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ และจำเป็นต้องทำ คือมาตรฐานกำกับดูแลสินค้านำเข้า
คำถามจากตัวแทน 2 พรรคการเมืองใหญ่ แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหายังไม่บรรลุผล หลายเรื่องเป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
สะท้อนว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารที่มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปด้านต่างๆนั้น ผลงานยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทำให้เห็นแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะ “เสียของ” อย่างที่วิตกกันแต่แรก
อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะไม่คาดหวังการแก้ปัญหาประเทศจากการทำงานของรัฐบาลชุดนี้
แต่อย่างที่กล่าวว่ารัฐบาลนี้มีอำนาจพิเศษที่สามารถสั่งการทุกอย่างได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองเพราะมีกฎหมายคุ้มครอง ก็น่าจะใช้อำนาจที่มีสร้างผลงานให้ประชาชนเห็นได้ดีกว่าที่ผ่านมา
รัฐบาลทหาร คสช. บริหารประเทศมานาน 3 ปีเศษแล้ว เป็นรัฐบาลที่มีอายุยืนยาวชุดหนึ่งเท่าที่เคยมีมา และหากนับไปจนถึงการเลือกตั้งหากเกิดขึ้นตามโรดแม็พในช่วงปลายปีหน้าก็จะเป็นรัฐบาลที่มีอายุยืนยาวเท่ากับอายุของรัฐสภา 1 สมัย คือ 4 ปี
เมื่อเทียบระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งกับอำนาจที่มีเหนือกว่ารัฐบาลปรกติที่มาจากการเลือกตั้งทุกชุด รัฐบาลทหาร คสช. จึงควรมีผลงานที่เด่นชัดมากกว่าที่ผ่านมา
จริงอยู่ว่ามีหลายเรื่องที่รัฐบาลทหาร คสช. ทำและแก้ไขปัญหาได้บ้าง แต่ถือว่าน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่บริหารประเทศและอำนาจที่มีในมือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาประเทศหรือการสร้างผลงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและอำนาจเพียงอย่างเดียว
หากวิธีคิดและนโยบายยังเป็นแบบเดิม ไม่ว่าจะปรับ ครม. กี่ครั้ง เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกี่หน ก็ไม่ช่วยยกระดับผลงานให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาได้
เปรียบไปก็ไม่ต่างกับ “ไก่ได้พลอย” หมายถึง ได้สิ่งที่มีค่า ซึ่งในที่นี้คืออำนาจ แต่ไม่รู้คุณค่าในการใช้อำนาจนั้น จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
You must be logged in to post a comment Login