- ปีดับคนดังPosted 16 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ความกร่าง..ทำให้เสื่อม / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
“ใจเย็นๆ อย่ามาส่งเสียงกับผม เข้าใจหรือเปล่า ผมฟังคุณนี่ พูดดีๆก็ได้”
อาการปรี๊ดแตกผ่านไมโครโฟนที่ดังไปทั่วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีที่นายภรัณยู เจริญ พยายามร้องเรียนขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์แวะพื้นที่ปัตตานีเดินชมตลาดปลาเรื่องวันทำประมงที่กฎหมายอนุญาตให้ทำเพียง 220 วัน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่เพียงพอและไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป เนื่องจากไม่สามารถทำได้เต็มที่ 220 วัน เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทำให้ธุรกิจประมงขณะนี้เดือดร้อนมาก
แม้หลังจากปรี๊ดแตก พล.อ.ประยุทธ์จะบอกกับคณะผู้ติดตามให้รับเรื่องพร้อมกล่าวขอบคุณ แต่ก็กล่าวว่า “กดดันผมไม่ได้ทั้งนั้นแหละ” ซึ่งนายภรัณยูกล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังว่า เคยรวมตัวกับผู้ประกอบการประมงไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่งที่ลานพระราชวังดุสิต วันนี้ก็ยังได้รับความเดือดร้อน และได้ฟังที่นายกฯพูดแต่ไม่มีประเด็นนี้ จึงอยากบอกให้นายกฯรับรู้ ไม่ได้ขู่หรือตะคอก แต่บรรยากาศเสียงดัง จึงพยายามพูดให้นายกฯได้ยิน กลับถูกมองว่าเป็นการตะคอก
ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน เฟซบุ๊ค Gen.Prayut Chan-o-cha ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ได้โพสต์ข้อความว่า “นายกฯเสียใจที่ได้ว่ากล่าวชาวประมงไปเมื่อวานนี้ที่ปัตตานี” แต่ขอให้เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของไทยสามารถอยู่รอด ส่งออกได้ สอดคล้องกับพันธะสัญญาที่ต้องดำเนินการ รวมทั้งเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติให้การประมงเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต สำหรับปัญหาความเดือดร้อนต่างๆที่ร้องเรียนมาได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูอย่างละเอียดแล้ว
ให้ปลูกมะพร้าวทุกบ้าน
อย่างไรก็ตาม อาการปรี๊ดแตกของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลทหารมากเท่ากับการจับ 2 แกนนำสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้คือ นายเกษม บุญชนะ และนายวุฒินันท์ แจะซ้าย ไปค่ายชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขณะกำลังเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อยื่นหนังสือและเสนอแนวทางให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยอย่างยั่งยืน การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ทำให้ชาวสวนยางจาก 4 อำเภอ “จะนะ-เทพา-นาทวี-สะบ้าย้อย” เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสกัดไว้ก่อน
ที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวตอนหนึ่งขณะพบปะกับประชาชนว่า รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอยู่ อย่าออกมาประท้วงเลย เดี๋ยวจะผิดกฎหมายอีก และขอให้ปลูกมะพร้าวทุกบ้าน วันหน้าจะขายได้และมีกำไร ปลูกไว้ไม่กี่ปีก็โตแล้วและกลายเป็นสมบัติให้แก่ลูกหลานได้ ทุกวันนี้เราผลิตไม่พอ ต้องรับจากต่างประเทศมาแปรรูป
ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเดือด
ส่วนเหตุการณ์ที่ดุเดือดคือกรณีเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์ถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และวันที่ 27 พฤศจิกายนได้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่จนประชาชนบาดเจ็บหลายสิบคนและมีการจับกุมแกนนำ 16 คน โดยตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่และขัดขวางการจับกุม
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการจับ 16 แกนนำคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการตีตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ความจริงถ้าจะยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกฯส่งแค่กระดาษแผ่นเดียวก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประสานแล้วว่าไม่ต้องเดินทางมา แต่เขาไม่หยุดแล้วจะให้ทำอย่างไร 16 คนที่ถูกจับก็เป็นพวกฮาร์ดคอร์ เป็นพวกใจร้อน ไม่ใช่แกนนำอะไรทั้งสิ้น และไม่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองเลย
ลงใต้เก็บคะแนนกลับเสียคะแนน
การจับ 16 แกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายองค์กรออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงและเรียกร้องให้ปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข โดย 102 นักวิชาการลงชื่อในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและนโยบายสาธารณะต่างๆ
องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน 36 องค์กรได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หยุดใช้อำนาจจับกุมชาวเทพาที่เดินเท้าคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และประณามว่าผู้นำในยุคนี้ยังมีอคติกับกลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในข้อกล่าวหาเดิมๆคือ ขัดขวางการพัฒนาประเทศและถ่วงความเจริญ
นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีโดยเคารพและยึดมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยเห็นว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ ภาพการปะทะและจับกุมแกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถูกโพสต์ไปทั่วสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะภาพแกนนำ 16 คนที่มีตรวนข้อมือล่ามโซ่เชื่อมไว้ด้วยกันขณะถูกนำขึ้นรถยนต์ พร้อมเสียงตะโกนถามว่า “เราทำผิดอะไร” ยิ่งทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลเพิ่งมีมติ ครม. ประกาศวาระแห่งชาติให้ใช้สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่ปรากฏและคำพูดของผู้มีอำนาจขัดแย้งกันสิ้นเชิง
การจัดกิจกรรมเดินเท้า 75 กิโลเมตรของกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพียงเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้หยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น เป็นความผิดจนต้องใช้ความรุนแรงและจับกุมแกนนำด้วยหรือ? รัฐบาล คสช. ยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่? และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” หรือไม่?
เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายหลายเรื่องทั้งก่อนและระหว่างการประชุม ครม. สัญจร ได้ผลตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของ ครม.สัญจร ที่ทุกยุคทุกสมัยต้องการพบประชาชนโดยตรงเพื่อรับฟังความคิดเห็นและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นแค่พิธีกรรมเพื่อสร้างภาพ ความตั้งใจของรัฐบาลทหารที่จัด ครม.สัญจรลงใต้เพื่อเก็บคะแนนจึงกลับกลายเป็นเสียคะแนนไปโดยปริยาย
“วัฒนา” อัด “ตู่”เป็นตัวอย่างไม่ดีให้เยาวชน
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “อาการหนัก” โดยระบุว่า ผมเพิ่งแสดงความคิดเห็นไปวานนี้ว่า ภารกิจเร่งด่วนที่สุดของประเทศคือการปฏิรูปกองทัพให้หลุดพ้นจากแนวคิดอำนาจนิยม เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพผู้อื่น มีจิตสำนึกเป็นประชาธิปไตย และเคารพในอำนาจของประชาชน เพราะกองทัพมีทั้งกำลังพลและอาวุธ หากปราศจากทัศนคติที่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย
ภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ว้ากใส่ชาวประมงภาคใต้ที่มารอพบเพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนคือเครื่องยืนยันความเห็นของผม พล.อ.ประยุทธ์เป็นผลผลิตของกองทัพที่เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ปัจจุบันเป็นหัวหน้ารัฐบาล ที่แม้จะมาจากการยึดอำนาจ แต่ทุกรัฐบาลย่อมมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน แต่ทำตัวเป็นนายของประชาชน เพิ่งออกมาพูดเมื่อคืนวันศุกร์ขอให้ใช้คำพูดดีๆต่อกัน แต่กลับแสดงความหยาบคายใส่พี่น้องชาวใต้ หรือ ครม. เพิ่งประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่รัฐบาลกลับใช้กำลังกับพี่น้องชาวเทพาที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งหมดเป็นตัวอย่างไม่ดีของเยาวชนและผู้ที่กำลังเรียนทหารที่จะเอาเป็นแบบอย่าง
วิกฤติศรัทธา “กองทัพ-รัฐบาล”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ที่ถือเป็นฐานเสียงสนับสนุนการรัฐประหารและรัฐบาลทหารยิ่งสะท้อนถึงวิกฤติศรัทธาของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ เพราะแม้แต่โพลเชลียร์ก็ยังระบุถึงคะแนนนิยมที่ลดวูบ ขณะที่การปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุดถึง 18 ตำแหน่งก็ถูกวิจารณ์ว่าแค่เล่นเก้าอี้ดนตรีสับเปลี่ยนหมุนเวียน แม้นายทหารหลายคนจะถูกปรับออก แต่คนที่เข้ามาก็ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ยังให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าขี้โม้ ดีแต่พูด จนถูกตั้งคำถามว่าเป็นเด็กเลี้ยงแกะหรือไม่?
เรื่องที่ร้อนแรงและดูเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆจนเกิดวิกฤติศรัทธาที่สั่นสะเทือนรัฐบาลทหารและกองทัพขณะนี้คงหนีไม่พ้นกรณีการเสียชีวิตของ “น้องเมย” ภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารปีที่ 1 ทำให้พ่อที่แม้จะสนับสนุนทั้ง กปปส. และเชียร์กองทัพให้ออกมาทำรัฐประหารและสนับสนุนให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร มุ่งมั่นที่จะเป็นทหารอย่างหมดหัวใจ ก็ยังจำเป็นต้องออกมาฟ้องสังคมให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงการเสียชีวิต เพราะศพ “น้องเมย” ไม่มีอวัยวะภายในและสมองหายหมด
แม้กองทัพจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบ แต่ก็ไม่มีกำหนดเวลา หลังจากสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามมากมายถึง “การซ่อม” หรือลงโทษของรุ่นพี่และครูฝึกที่เต็มไปด้วยความรุนแรง หรือมีสติสัมปชัญญะเพียงพอหรือไม่ กรณีของ “น้องเมย” ไม่ใช่รายแรก แต่ที่เป็นข่าวดังและใหญ่มากเพราะเกิดขึ้นในระดับนักเรียนเตรียมทหารอันเป็นโรงเรียนเตรียมนายร้อยนายพลในอนาคต หรืออาจก้าวไปถึงระดับนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ไม่เป็นข่าว เพราะที่ผ่านมาเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีฐานะทางสังคม อย่างการเสียชีวิตของ “ทหารเกณฑ์” หลายคนที่เกิดจากถูก “ซ้อม” ที่อ้างว่าเป็นการซ่อมหรือลงโทษ
ที่สำคัญนายทหารผู้ใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ยังมีทัศนคติว่าเป็นเรื่อง “ธำรงวินัย” ซึ่งกองทัพถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับได้ แม้แต่ พล.อ.ประวิตรเองก็บอกว่าการเสียชีวิตของ “น้องเมย” เป็นเรื่องปรกติ ตัวเองก็เคยถูกซ่อมจนสลบเช่นกัน ใครที่จะเป็นทหารก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมกับการฝึกและถูกทำโทษ อย่างไรก็ตาม ต่อมา พล.อ.ประวิตรทนกระแสวิจารณ์ไม่ไหวต้องยอมออกมาขอโทษที่พูดไม่ดีจนกระทบจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการซ่อมหรือธำรงวินัยว่า เป็นการทำโทษด้วยการออกกำลังกาย ไม่ใช่ทำร้ายกัน หากทำถูกต้องตามหลักก็จะไม่เป็นอันตราย สิ่งที่ไม่ดีต้องไม่ให้เกิดขึ้น สิ่งที่ดีก็ควรรักษาไว้ ตนเองก็เคยโดนซ่อม เป็นขาประจำ แต่ไม่ได้โดนซ้อม ทำโทษแค่วิดพื้น
อย่างไรก็ตาม กรณี “น้องเมย” ได้กลายเป็นประเด็นความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างมากถึงวิธีการลงโทษ โดยเฉพาะภาพ “หัวปักดิน” ที่มีการโพสต์ไปทั่ว ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ผู้ไม่เห็นด้วย ข้อความของผู้ที่เห็นด้วยก็มีเช่นกันว่า “ทุกวันนี้เดินกันเต็มโรงเรียน ไม่เห็นจะมีใครเป็นอะไร พื้นที่ของพวกผมไม่ต้องการคนอ่อนแอ” เป็นต้น
“คลั่งสถาบัน” รึเปล่า?
ศิษย์เก่านักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 56 รายหนึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Thatpon Srisupunbut กรณี “น้องเมย” โดยเตือนสติศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียนเตรียมทหารตอนหนึ่งว่า
สะกิดเตือนว่าที่พี่น้อง ตท. ทำกันอยู่เข้าข่าย “คลั่งสถาบัน” รึเปล่า.. นำ “เกียรติยศ-ศักดิ์ศรี” มาข่ม “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” หรือไม่..พร้อมทิ้งท้ายด้วยประโยคที่สะท้อนวุฒิภาวะสูงส่งกว่า “นายพล” ที่ใหญ่คับบ้านคับเมืองเสียอีกว่า “ไม่มีใครทำลายพวกเราได้ ยกเว้นพวกเราเอง”
โพสต์ดังกล่าวทำให้มี “ยอดไลค์-ยอดแชร์” มากมายและถามว่าเมื่อไรสังคมไทยจะพอใจ ต้องมีคนรับผิดชอบเหมือนประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ที่ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุกนายทหารยศสิบเอก 40-50 ปีที่เป็น “หัวโจก” ชักชวนเพื่อนทหารให้ข่มเหงรังแก “ทหารเกณฑ์” จนเสียชีวิต ทำให้กองทัพกลับมามีความสง่างามอีกครั้ง
ต่างประเทศก็มีฝึกทหารกันจนตาย
เว็บไซต์ voice.tv ได้รายงานบทความชื่อ Military discipline and punishment ของเจอร์รี เชฟฟีลด์ ศาสตราจารย์ด้านสงครามศึกษา มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่ในฐานข้อมูลชุด The War Machine ของสำนักหอสมุด British Library ว่า การฝึกวินัยคือสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพ โดยมีการศึกษากรณีตัวอย่างในกองทัพอังกฤษและสหรัฐที่มีเอกภาพและมีความทนทานในการปฏิบัติภารกิจในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเปรียบเทียบกับกรณีที่ทหารรัสเซีย 554 นายผละทัพครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1917 เป็นสิ่งที่ไม่มีกองทัพไหนอยากให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้วิธีฝึกวินัยเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ไม่ให้ทหารตั้งคำถามและยอมปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
วิธีการที่ใช้คือการให้รางวัลและการลงโทษ คนที่ปฏิบัติตามคำสั่งจะได้รับรางวัล หรือบางทีก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั่วไป เช่น การปันส่วนอาหาร หรือยุทโธปกรณ์ แต่ถ้าใครขัดขืนหรือทำตัวต่อต้านก็จะถูกลงโทษ เพื่อให้เกิดความหลาบจำ ไม่แข็งข้อกับผู้บังคับบัญชาอีก การลงโทษก็มีวิธีการต่างๆกัน ตั้งแต่การระงับสิทธิที่เคยได้ การทำโทษทางร่างกายและกดดันทางจิตใจ ซึ่งหลายการลงโทษถูกใช้เป็นเครื่องมือสั่งสอนไม่ให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง และผู้ถูกลงโทษมักเป็นทหารชั้นผู้น้อย
บทความของเชฟฟีลด์สรุปว่า การฝึกวินัยช่วยให้ทหารมีระเบียบและพร้อมทำตามคำสั่ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิต่างๆลุล่วงไปได้ดีกว่ากองทัพที่ไม่มีวินัย ปัจจัยที่ทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพไม่ได้เกิดจากความมีวินัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงมีผู้นำที่ดี มีความไว้วางใจและซื่อสัตย์ต่อกันด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตในสถาบันทางทหารมากขึ้นในสังคมยุคใหม่ ทำให้หลายองค์กรในหลายประเทศตั้งคำถามกับการฝึกวินัยว่าควรจะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปให้เข้ากับยุคสมัยมากกว่าเดิมหรือไม่?
อย่างกรณีกองทัพอังกฤษเกิดเหตุการณ์นักเรียนเตรียมทหาร 4 นายเสียชีวิตปริศนาระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมที่ค่ายทหารดีพคัทในมณฑลเซอร์รีย์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษระหว่างปี 1995-2002 นักเรียนที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 17-20 ปี ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน ผลชันสูตรศพระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ครอบครัวของนักเรียนไม่เชื่อ จึงเรียกร้องให้กองทัพและกระทรวงกลาโหมเปิดเผยรายละเอียดการชันสูตรศพและขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งสรุปว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่คดีก็ยังยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ กรณีที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องสั่งทบทวนข้อปฏิบัติในการฝึกอบรมทางทหาร และมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีดีพคัทเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณชน ทำให้ในระยะหลังมีจำนวนผู้เสียชีวิตในสถาบันทางทหารลดลงกว่าเดิม
ส่วนกองทัพสหรัฐมีการฝึกซ้อมโดยใช้กำลังรุนแรงท้าทายขีดจำกัดของร่างกาย เพราะมีแนวคิดว่าทหารต้องอดทนต่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆมากกว่าคนทั่วไป แต่ช่วงปี ค.ศ. 1989-1992 มีทหารเสียชีวิตในระหว่างการฝึกซ้อมถึง 700 นาย มากกว่าจำนวนทหารที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้รัฐบาลสหรัฐสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะสังคมและครอบครัวของทหารเหล่านี้มีคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องฝึกหนักขนาดนั้น และประเพณีการฝึกอบรมด้วยความรุนแรงควรถูกยกเลิกหรือไม่ ถ้าไม่ยกเลิกก็ควรมีมาตรการหรือหลักปฏิบัติที่รัดกุมมากกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดความตายโดยไม่จำเป็น
ความกร่าง..ทำให้เสื่อม
การเสียชีวิตของ “น้องเมย” ไม่ใช่ความตายครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสถาบันทางทหารและกองทัพ ที่ผ่านมามีทหารเกณฑ์อย่างน้อย 8 นายเสียชีวิตในค่ายทหารหรือระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมทางทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา รวมถึงกรณีล่าสุดพลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ เสียชีวิตกะทันหันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร นครศรีธรรมราช โดยผู้เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเกิดจากโรคประจำตัว แต่ยังมีข้อสงสัยจากสังคมว่าการฝึกซ้อมอย่างหนักทำให้นายทหารเสียชีวิตหรือเพราะการกระทำอย่างอื่น
กรณี “น้องเมย” เป็นเรื่องที่กองทัพและโรงเรียนเตรียมทหารต้องทำความจริงให้กระจ่างเพื่อศักดิ์ศรีและเกียรติยศของสถาบันทหารและกองทัพที่ยืนยันความจำเป็นเรื่อง “ธำรงวินัย” ก็ยิ่งต้องไม่ทำให้สถาบันทหารและกองทัพมัวหมองว่าเต็มไปด้วยแนวคิดอำนาจนิยม
วิกฤติศรัทธาที่กำลังถาโถมเข้าสู่รัฐบาลทหารในขณะนี้ล้วนเกิดจาก “สนิมเนื้อใน” ของตนเองทั้งสิ้น
คำถามเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” คือหอกที่กำลังกลับมาทิ่มแทงตนเอง
แม้คำว่า “สิทธิมนุษยชน” อาจยังเป็นคำที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย ถ้าการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังไม่เกิดกับครอบครัวตนเองหรือกับญาติมิตรย่อมไม่มีใครสนใจว่ายังมีคนร่วมชาติที่เขา “แค่คิดต่างทางการเมือง” ก็ถูกละเมิดสิทธิ แม้ยังไม่ตายแต่ก็เหมือนตายทั้งเป็น ต้องติดคุกติดตะรางอยู่อีกมาก
คำว่า “สิทธิมนุษยชน” อาจยากเกินไปจนทำให้ “เผด็จการ” ย่ามใจ แต่กับสังคมไทยเรื่องความ “หมั่นไส้” อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ โดยเฉพาะการหมั่นไส้ “ความกร่าง” คับบ้านคับเมืองของผู้มีอำนาจจากการรัฐประหารในขณะนี้
“ความย่ามใจ..ทำให้กร่าง” ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งย่ามใจ ลืมตัวนึกว่าตนเป็นเจ้านาย ลืมว่าพลเรือนไม่ใช่พลทหาร ลืมไปว่าไปยึดอำนาจเขามา ลืมไปว่าประชาชนไม่ได้เลือกมา
“ความกร่าง..ทำให้เสื่อม” .. ได้เวลานับถอยหลังแล้วจริงๆ!!??
You must be logged in to post a comment Login