วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สุขภาพดีได้ด้วยการป้องกัน / โดย นพ.ธัชชัย วุฒิจำนงค์

On December 11, 2017

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.ธัชชัย วุฒิจำนงค์

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ในขณะที่วิวัฒนาการทางการแพทย์สูงขึ้น ประกอบกับผู้คนให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากการตื่นตัวของอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย ซึ่งล้วนส่งผลให้คนเรามีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น

ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ เกิดความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ขาดการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ขาดความสนใจต่อสุขภาพตัวเอง ทำให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือตายได้ในที่สุด การตรวจคัดกรองหรือการตรวจร่างกายประจำปีเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้สุขภาพดีได้

การดูแลสุขภาพให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอต้องประกอบไปด้วยการดูแลส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ซึ่งการป้องกันโรคทางคลินิกแบ่งเป็น 4 แบบคือ

1.การรับวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

2.การตรวจคัดกรองสุขภาพ

3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี เช่น การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก

4.การใช้ยาป้องกัน เช่น ในคนไข้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ การใช้โฟเลตช่วยป้องกันการเกิดภาวะผิดปรกติทางสมองของเด็กได้

การตรวจคัดกรองสุขภาพนั้นเป็นบริการทางสาธารณสุขเชิงป้องกัน เพื่อพยายามค้นหาโรคหรือภาวะผิดปรกติ ซึ่งอาจพบตั้งแต่ระยะก่อนเกิดอาการ ระยะมีอาการแล้วแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นโรค หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอยู่แต่ยังไม่เป็นโรค โดยการตรวจคัดกรองสุขภาพช่วยทำให้รู้ว่าเป็นโรคและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงก่อนที่จะเป็นโรคร้ายแรง ช่วยลดอัตราการป่วยและอัตราการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี

การตรวจคัดกรองสุขภาพประกอบด้วยการซักประวัติ เรื่องโรคประจำตัว ยาที่ใช้อยู่ โรคประจำตัวของบุคคลในครอบครัว ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และเส้นรอบเอว เพื่อประเมินภาวะโภชนาการ การวัดความดันโลหิต การตรวจชีพจร รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง การตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในกระแสเลือด การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและเชื้อ HIV การตรวจเอกซเรย์คัดกรองวัณโรคปอด การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้และต่อมลูกหมาก การตรวจอุจจาระและปัสสาวะ การตรวจวัดสายตา การตรวจสุขภาพช่องปาก และการตรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

โดยปรกติแล้วการตรวจคัดกรองจะแบ่งตามอายุและเพศเป็นหลักเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ที่สำคัญการตรวจคัดกรองที่ดีต้องมีความไว สามารถวิเคราะห์ ตรวจหาโรคได้จำเพาะเจาะจง ไม่ยุ่งยาก มีความปลอดภัย และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าทำแล้วเกิดประโยชน์ เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่

การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันให้ห่างไกลโรคทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งการสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ งดดื่มแอลกอฮอล์ มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงโรคทางเพศสัมพันธ์

การตรวจสุขภาพเป็นระยะก็ถือเป็นการป้องกันให้สุขภาพดีได้อีกทางหนึ่ง


You must be logged in to post a comment Login